‘ยูนิลีเวอร์’พร้อมอุ้มสตาร์ตอัพ รับปากนำข้อเสนอรองนายกฯสมคิด ไปหารือภาคเอกชน

07 ก.ค. 2559 | 08:00 น.
รองนายกฯสมคิด คาดหวังให้ "ยูนิลีเวอร์" ร่วมผลักดัน"สตาร์ตอัพไทย"สู่เป้าหมาย ด้านซีอีโอ "สุพัตรา" ระบุไม่อยากเป็นแกนนำ แต่ยินดีเป็นตัวกลางจุดประกายให้องค์กรเอกชนอื่น ชี้ที่ผ่านมามีส่วนร่วมในการสร้างความยั่งยืนให้ประเทศ "ศุภชัย"ระบุเครือซีพี เตรียมตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพ ดึงต่างชาติเข้าตั้งสำนักงานในไทย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในการประชุมระดมความคิดเห็นภาครัฐและภาคเอกชนภายใต้หัวข้อ "ร่วมมือกันผลักดันสู่เป้าหมาย" เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและความยากจน ว่า รัฐบาลมีนโยบายให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศภายใต้โครงการประชารัฐ ที่ต้องเกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งต้องการให้ภาคเอกชนช่วยส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการใหม่หรือสตาร์ตอัพ โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ระดับโลก และมีความเชี่ยวชาญด้านการตลาด เข้ามาเป็นผู้นำเดินงานหลักด้านการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ตอัพขึ้น รวมถึงดึงเครือข่ายของบริษัทจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนในประเทศไทยด้วย

ด้านนางสุพัตรา เป้าเปี่ยมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทยฯ กล่าวว่า บริษัทไม่ต้องการเป็นตัวกลางในการสร้างความยั่งยืน แต่ยินดีที่จะเป็นตัวกลางในการจุดประกายให้กับบริษัทอื่นๆ ดำเนินการ อย่างไรก็ดีในฐานะที่ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน จะนำข้อเสนอของรองนายกฯ ไปหารือกับบริษัทเอกชนต่างๆ ที่เป็นสมาชิกของสมาคม ซึ่งคงจะมีกิจกรรมบางอย่างออกมาในนามของสมาคมด้วย

สำหรับการจัดงานระดมความเห็นจากภาครัฐและเอกชนกว่า 32 องค์กร เพื่อสร้างความร่วมมือที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหาต่างๆ ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยความเห็นที่ได้จะนำไปตีพิมพ์ในรายงานประจำปี 2560 และนำเสนอในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก(เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม) ปี 2560 ของคณะกรรมาธิการธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยด้วย

"ที่ผ่านมา ยูนิลีเวอร์ทั่วโลก มีนโยบายการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ภายใต้ "แผนการดำรงชีวิตที่ยั่งยืนของยูนิลีเวอร์" โดยจะเติบโตทางธุรกิจ ควบคู่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมภายในปี 2573 เช่น โรงงาน 8 แห่งในประเทศไทย ตั้งเป้าลดขยะฝังกลบในดินที่มีปริมาณ 2.3 หมื่นตันต่อปีให้เป็นศูนย์ ซึ่งทำได้สำเร็จเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา ตู้แช่ไอศกรีม สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้า 50% และลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนลง 50% แม้ต้นทุนตู้จะสูงก็ตาม เป็นต้น ขณะเดียวกันบริษัทต้องการผลักดันให้มีกฎหมายกำหนดอัตราการลดช่องว่างบรรจุภัณฑ์ต่อสินค้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคให้ได้รับสินค้าในปริมาณที่แท้จริงตามบรรจุภัณฑ์ ผู้ประกอบการลดต้นทุน 15-30% และช่วยลดพื้นที่จัดวางสินค้าได้ด้วย"

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการลงนามความร่วมมือ(เอ็มโอยู)กับ 12 องค์กรเอกชน เพื่อพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่(CONNEXT ED)ให้กับโรงเรียน 3,300 แห่ง ภายในปีนี้ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 7,400 แห่ง ภายใน 3 ปี

ส่วนกรณีที่รัฐบาลต้องการให้เอกชนมีบทบาทลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพ ล่าสุดเครือซีพี เตรียมตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในสตาร์ตอัพ ดึงผู้ประกอบการทั่วเอเชียรวมถึงรัสเซีย เข้ามาลงทุนตั้งสำนักงานในไทย โดยกองทุนดังกล่าว คาดว่าจะตั้งแล้วเสร็จปลายปีนี้ โดยกองทุนดังกล่าวบ่มเพาะผู้ประกอบการสตาร์ตอัพแล้ว 15บริษัท

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559