กสอ.นำ R&D พัฒนาเอสเอ็มอีโชว์ ‘ข้าวเหนียวมูนฮาลาลพร้อมทาน’ เจาะตลาดมุสลิม

07 ก.ค. 2559 | 06:00 น.
กสอ. สนองยุทธศาสตร์ฮาลาลรัฐบาล ผลักดัน R&D พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs พร้อมโชว์ตัวอย่างเอสเอ็มอีพันธุ์ใหม่คิดค้น "ข้าวเหนียวมูลฮาลาลพร้อมทาน"หวังเจาะตลาดมุสลิม

นายประสงค์ นิลบรรจง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนา (Research&Development) เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป ซึ่งปัจจุบันความสามารถในการแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงยังคงถูกจำกัดอยู่ในวงแคบๆ ทางกรมจึงเข้าไปผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือสนับสนุนอย่างชัดเจน

"กลุ่มตลาดอาหารฮาลาล เป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งเป้าให้ประเทศไทยส่งออกติดอันดับ TOP 5 ของโลกภายในปี 2563 ผ่านยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาล การเสริมสร้างศักยภาพการผลิตสินค้าและบริการฮาลาล การพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ฮาลาล เป็นต้น โดยสิ่งที่ต้องเร่งจัดการให้เร็วที่สุดคือ ความร่วมมือในการปรับปรุงกระบวนการขอรับการตรวจรับรองฮาลาลให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจขอรับเครื่องหมายดังกล่าวให้มากขึ้นและยึดมั่นในระเบียบข้อบังคับตามบทบัญญัติของหลักศาสนาอย่างเคร่งครัด"

นายประสงค์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมากรมได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอาหารฮาลาล อาทิ การพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การพัฒนามาตรฐานการผลิต การส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นต้น โดยตั้งเป้าภายในปีนี้พัฒนาผู้ประกอบการกลุ่มอาหารฮาลาลไม่ต่ำกว่า 185 ราย จากปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลแล้ว 5,000 บริษัทกว่า 100,000 รายการ (ข้อมูลของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย)

ด้านนายกัมพล สิริประภาพรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท สิริไฟน์ฟู้ดส์เฮลตี้ จำกัด หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวเสริมว่า แต่เดิมผลิตภัณฑ์จะมีเพียงข้าวสวยพร้อมทานในรูปแบบของข้าวขาวหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมมะลิ และข้าวไรซ์เบอร์รี่ แต่หลังจากได้เข้าโครงการของกสอ. แล้วจึงได้มุ่งเน้นพัฒนาต่อยอดมาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายขึ้น อาทิ ข้าวผัดพริกไทยดำ ข้าวผัดแกงเขียวหวาน และข้าวผัดต้มยำ แบบสามารถบริโภคได้ทันที ภายใต้ชื่อ อรุณสวัสดิ์ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคอาหารฮาลาลอินทรีย์ (Organic Halal Food) และผู้ทานมังสวิรัติ เป็นต้น

นอกจากนี้บริษัทยังได้พัฒนาข้าวเหนียวมูลพร้อมทาน (Ready to eat) โดยนำเอานวัตกรรมการถนอมอาหารแบบไม่ใช้สารกันเสียมาใช้และลดปริมาณน้ำตาลลงกว่าข้าวเหนียวมูลปกติถึงครึ่งนึงแต่ได้ความหวานในระดับปกติ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทจะไม่ใช้วัตถุกันเสีย แต่จะใช้เทคนิคพิเศษในขั้นตอนการผลิตเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพและรสชาติของอาหารไว้ โดยไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาในตู้เย็น

"สำหรับแนวทางการตลาดในอนาคตบริษัทได้วางแผนไว้ว่าภายในระยะเวลา 3 ปี จะทำให้ข้าวผัดสำเร็จรูปพร้อมทานเป็นที่รู้จักทั่วประเทศและบุกตลาดอาหารฮาลาลอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นตลาดอาหารฮาลาลที่มีกำลังซื้อสูง ประกอบกับโครงสร้างประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงาน มีวิถีชีวิตที่เร่งรีบขึ้นทำให้ชาวมาเลย์ส่วนใหญ่ไม่นิยมทำอาหารรับประทานเองและต้องการสินค้าอาหารที่สะดวกสบายในการรับประทาน จึงนับเป็นโอกาสของสินค้าอาหารฮาลาลของไทยที่จะเข้าไปขยายตลาดดังกล่าว" นายกัมพล กล่าวทิ้งท้าย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559