ผนึกกำลังดันสิ่งประดิษฐ์อาชีวศึกษาไปสู่การใช้ประโยชน์ภาคเกษตร

04 ก.ค. 2559 | 07:08 น.
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดพิธีลงนาม MOU ระหว่างสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา หวังผลักดันผลงานสิ่งประดิษฐ์ในระดับอาชีวศึกษาไปสู่การใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ณ ห้องประชุมออร์คิด 3 โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญในการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการลดต้นทุนการผลิต โดยสนับสนุนการใช้นวัตกรรม การวิจัย และความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้เกษตรกรใช้ปัจจัยการผลิตและวิธีการปลูกอย่างแม่นยำ ซึ่งความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษานี้ จะทำให้เกิดการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมในการปฏิรูปภาคเกษตร ตั้งแต่การใช้เครื่องจักรกลสำหรับเกษตรกรรายเล็กไปจนถึงการทำเกษตรสมัยใหม่ และการเกษตรแบบแม่นยำ สำหรับเกษตรกรรายกลางและรายใหญ่

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการผลักดันผลงานสิ่งประดิษฐ์ในระดับอาชีวศึกษาไปสู่การใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นการทำงานบูรณาการข้ามกระทรวง โดยมีขอบเขตของความร่วมมือ คือ 1) การจัดการประกวดชิงรางวัลสุดยอดนวัตกรรมการเกษตร จำนวน 4 ประเภท ได้แก่ สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป สิ่งประดิษฐ์ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร และสิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีการเกษตร 2) การให้ทุนสนับสนุนพัฒนาต่อยอดร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชนเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง และ 3) การเผยแพร่ผลงานวิจัยด้านการเกษตรให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยอาศัยเครือข่ายวิทยาลัยของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

“ความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาในครั้งนี้ เป็นการดำเนินงานที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม ที่พึ่งพาการใช้แรงงานสูง ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยีแบบ Smart Farming โดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมช่วยในการผลิต ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ไปสู่ Value–Based Economy หรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม อันจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่โมเดลไทยแลนด์ 4.0 และก้าวข้ามจากกับดักรายได้ปานกลาง ตลอดจนสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” นายธีรภัทร กล่าว