นายกสภา ม.ขอนแก่น แนะพัฒนาภูมิภาคเคลื่อนไทยสู่ศูนย์กลาง GMS

04 ก.ค. 2559 | 05:27 น.
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวในงานมหกรรมการประชุมวิชาการระดับชาติด้านสถาปัตยกรรม และการวางแผน ประจำปี 2559 จัดโดย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า การขยายตัวของเมือง หรือ urbanization อย่างรวดเร็ว สืบเนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศไทยเรามีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการพัฒนาของสังคมและประเทศเป็นไปตามการพัฒนาของประเทศในโลกตะวันตก ที่เมืองในภูมิภาคจะมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ขึ้น ประชากรมากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาเป็นสังคมเมืองใหญ่ที่ชัดเจนมากขึ้น ฉะนั้นผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการวางผังเมือง ต้องคำนึงถึงการขยายตัวของประชากรในเมือง ในขณะเดียวกันเมืองที่ดีต้องมีความสะดวกในการอยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และวิถีความเป็นอยู่

“ขณะนี้เทรนด์ของโลกที่ออกมาชัดเจนที่สุด คือ Urbanization หมายถึงความเจริญแบบเมืองจะขยายพื้นที่กระจายไปตามจุดต่าง ๆ ในประเทศมากขึ้น ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่กำลังจะประกาศใช้ในเดือน ตุลาคม 2559 ที่กำลังจะถึงนี้ มีแผนสำคัญในการส่งเสริมให้แต่ละภาคพัฒนาได้เองโดยไม่ต้องพึ่งกรุงเทพมหานครเฉกเช่นในอดีตกาล และพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังนับเป็นพื้นที่จะนำความเจริญมาสู่ประเทศไทยโดยทั่วกันฉะนั้นท่านทั้งหลายที่ทำงานเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมของเมืองจึงต้องคำนึงถึง เศรษฐศาสตร์ของเมือง หรือ  Urban Economic ที่สภาพการอยู่อาศัยตอบสนองทั้ง 3 A คือ 1.Available ต้องทำให้เมืองมีที่อยู่อาศัยที่มากพอ เพราะประชากรล้วนต้องการเข้ามาอยู่ในเมือง 2.Affordable คือ ราคาค่าใช้จ่ายเหมาะกับคนส่วนมาก 3.Acceptable ต้องเป็นที่ยอมรับของประชากรในเมืองไม่เกิดการต่อต้าน” ดร.ณรงค์ชัย กล่าว

นอกจากการคำนึงถึงการขยายตัวของเมืองแล้วกรอบความร่วมมือ GMS หรือ Greater Mekong Subregion ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ ให้เกิดการจ้างงาน และช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าโลกของประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ประกอบไปด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ เป็นอีกประเด็นที่นักวางแผนภาค ผังเมือง ไม่ควรละเลย

ดร.ณรงค์ชัย กล่าวต่อว่า แม่น้ำโขงมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาพื้นที่ ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม GMS หรือประเทศกลุ่ม CLMV นับเป็นประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่องด้วยแร่ธาตุทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ค่าจ้างแรงงานไม่สูงนัก กลุ่มประเทศ CLMV จึงเป็นประเทศที่มีคนสนใจเข้าไปลงทุนการผลิตและการตลาด ซึ่งประเทศในกลุ่มCLMV นั้นมีพรมแดนติดกับไทยทุกประเทศจึงเหมาะมากที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปลงทุนหรือหาลู่ทางทำธุรกิจและจะมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการวางแผนการวางผังเมือง ผังภาค ดังเช่น การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ที่ได้โยงใยไปถึงเมืองต่างๆที่อยู่ใน GMS นอกเหนือจากการวางแผนไปหาส่วนกลางอย่างกรุงเทพมหานคร นั่นแปลว่าการวางแผนเมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องคิดออกไปนอกกรอบประเทศไทยแต่วางไปถึงกรอบของ GMS

เพราะฉะนั้นหากนักวางแผน หรือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ทำงานด้านการออกแบบนำประเด็น เศรษฐศาสตร์ของเมือง และ GMSมาเป็นปัจจัยในสร้างสรรค์งานด้านสถาปัตยกรรมแล้ว นอกจากที่จะสร้างความร่วมมือได้มากขึ้นในกลุ่มประเทศ GMS ย่อมนำไปสู่การพัฒนางานของตนเองและพัฒนาชาติไทยไปพร้อมๆกันได้อย่างมหาศาล