สพฉ.กำหนด10อาการฉุกเฉินวิกฤติ

04 ก.ค. 2559 | 03:42 น.
สพฉ. กำหนด 10 อาการฉุกเฉินวิกฤต สำหรับการสื่อสารสู่ประชาชน ย้ำป่วยฉุกเฉินโทรแจ้งสายด่วน 1669 บริการฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึง การพัฒนาการให้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในประเทศไทย ว่า ขณะนี้ สพฉ. มีการพัฒนาระบบการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 หรือผ่านแอพลิเคชั่น 1669 ได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากได้รับการประเมินว่ามีอาการวิกฤติจริง จะมีทีมผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินไปรับและนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด

โดยเบื้องต้นได้ สพฉ. ได้กำหนดกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤตที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่ายๆ ไว้ 10 อาการ คือ 1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2. หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3. ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด 6.ได้รับบาดเจ็บ ต่อสมอง ต่อกระดูกสันหลังมีแขนขาอ่อนแรง มีบาดแผลที่เสียเลือดมาก ถูกไฟฟ้าแรงสูง แผลไฟไหม้บริเวณกว้าง

7.ถูกยิง ถูกแทง ที่ศีรษะ ลาตัว อวัยวะสาคัญ 8.งูพิษกัด ซึม หายใจลำบาก หนังตาตก 9. ตั้งครรภ์และชัก ตกเลือดมาก มีน้ำเดิน เด็กโผล่ และ 10.บาดเจ็บต่อดวงตาจากสารพิษ มองไม่ชัด

“หลักการง่ายๆ คือ เมื่อคิดว่ามีอาการฉุกเฉินเข้าข่าย 10 อาการดังกล่าวแล้ว ให้รีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ที่สายด่วน 1669 ทันที ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เนื่องจากรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน มีเครื่องมือ อุปกรณ์การแพทย์ในรถที่ได้รับการรับรอง มีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งทางรถ อากาศยาน และเรือ และที่สำคัญคือจะลดการบาดเจ็บซ้ำ เนื่องจากมีทีมผู้ปฏิบัติการที่เชี่ยวชาญ ผ่านการฝึกอบรมในการช่วยชีวิต มีระบบการประสานงานที่ครอบคลุมรวดเร็ว และไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมยืนยันว่าผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย จะได้รับการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และได้มาตรฐาน อย่างแน่นอน ” นพ.อนุชากล่าว