เทียร์2พลิกส่งออกโต อาหาร9แสนล้านการ์เมนต์เฮรับ/หวังหลุดไอยูยูต่อ

06 ก.ค. 2559 | 02:00 น.
เอกซเรย์สินค้ากลุ่มหลักส่งออกไปสหรัฐ หลังมะกันปลดล็อกขยับไทยขึ้นเทียร์ 2.5 รายงานค้ามนุษย์ปี 59 “กุ้ง ทูน่า อาหารสำเร็จรูป การ์เมนต์” ดี๊ด๊าคาดครึ่งหลังคู่ค้าสบายใจ แห่นำเข้าเพิ่ม หลังเบร็กซิททำสะดุดชั่วคราว ด้านสภาผู้ส่งออกจับตา 3เดือนอาหารทะเลพุ่งผู้ซื้อมีความเชื่อมั่น ส่วนบัวแก้วหวังปลดล็อกใบเหลืองไอยูยู สภาหอฯจี้ทุกฝ่ายลุยต่อขึ้นเทียร์ 1

[caption id="attachment_67531" align="aligncenter" width="700"] สถิติการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐอเมริการอบ 5 ปี-ปัจจุบัน สถิติการส่งออกของไทยไปตลาดสหรัฐอเมริการอบ 5 ปี-ปัจจุบัน[/caption]

จากกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯได้แถลงรายงานการค้ามนุษย์ หรือTIPs Report ประจำปี 2559 โดยเลื่อนอันดับไทย สู่สถานะที่ดีขึ้นมาอยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง(Tier 2 Watch list หรือ Tier 2.5) จากใน2 ปีที่ผ่านมาตกไปอยู่ในกลุ่มที่ 3 (Tier 3)ที่มีสถานะเลวร้ายสุด สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาของไทยและจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาชาวโลก และต่อประเทศคู่ค้า

ภาพดีขึ้นหวังส่งออกเพิ่ม

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การถูกปรับสถานะที่ดีขึ้นดังกล่าวจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ รวมถึงตลาดอื่นๆ เพราะภาพลักษณ์สินค้าไทยจะดีขึ้น มีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคสบายใจ และอาจมีผลให้คู่ค้านำเข้าสินค้าจากเรามากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะเดียวกันจะเป็นส่วนสำคัญให้สหภาพยุโรป(อียู)ใช้ประกอบการพิจารณาทบทวนเพื่อปรับสถานะประเทศไทยที่ดีขึ้นในกรณีที่ให้ใบเหลืองเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(IUU Fishing)

"ที่ผ่านมาเราอยู่ในเทียร์ 3 ทำให้ภาพลักษณ์สินค้าไทยไม่ค่อยดี แต่คู่ค้าและผู้บริโภคก็ยังซื้อ แต่ซื้อด้วยความไม่สบายใจ แต่เมื่อเราถูกปรับสถานะดีขึ้นเป็นเทียร์ 2.5 เทียบแล้วเราได้คะแนน 50-60 คะแนน จากเต็ม 100 จากเดิมเทียร์ 3 ได้คะแนนต่ำกว่า 50 ถือว่าสอบตก แง่ผู้บริโภคสหรัฐฯอาจซื้อและบริโภคสินค้าไทยมากขึ้น ปัจจุบันสินค้าประมงที่เราส่งออกไปสหรัฐและทั่วโลกสัดส่วนกว่า 50% เป็นสินค้ากุ้ง อย่างไรก็ดีในตลาดยุโรปหรืออียู การส่งออกสินค้ากุ้งของเราที่ลดลงมีเหตุผลหลักจากเราถูกตัดจีเอสพี(สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร) โดยสินค้ากุ้งแปรรูปต้องเสียภาษีสูงขึ้นจากเดิม 12% เพิ่มเป็น 20% และกุ้งสดแช่แข็งจาก 7% เพิ่มเป็น 12%"

ทูน่าเล็งสหรัฐฯ เพิ่มนำเข้า10%

สอดคล้องกับดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย ที่กล่าวว่า การถูกปรับสถานะที่ดีขึ้นเป็น Tier 2.5 จะส่งผลทางอ้อมให้ผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงตลาดอื่นๆ คลายกังวลเรื่องสินค้าไทยมาจากแรงงานบังคับ แรงงานเด็ก หรือแรงงานทาส และจะบริโภคด้วยความสบายใจมากขึ้น จะส่งผลดีทำให้มีการนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เฉพาะอย่างยิ่งในตลาดสหรัฐฯที่คิดเป็นสัดส่วน 15% ของการส่งออกสินค้าทูน่าจากประเทศไทย คาดการนำเข้าปีนี้จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% (จากปี 2558 ไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าไปสหรัฐฯ 1.09 หมื่นล้านบาท และส่งออกไปทั่วโลก 6.74 หมื่นล้านบาท)

"อย่างไรก็ตามในวันที่ 4 กรกฎาคมนี้ ทางสภาหอการค้าฯโดยคุณพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธาน และผมจะร่วมแถลงเรื่อง "ผลการจัดอันดับ TIPs Report 2016 ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ โดยสาระหลักนอกจากกล่าวชมเชยทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชนที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาแล้ว จะกระตุ้นให้ทุกฝ่ายยังคงเดินหน้าช่วยกันแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สถานะไทยดีขึ้นเป็นเทียร์2 หรือเทียร์ 1ต่อไป ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี เรื่องนี้อยากฝากให้เซ็กเตอร์อื่นๆ อย่าละเลย เฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าไก่ที่เขากำลังเพ่งเล็งเรื่องจ่ายค่าจ้างไม่เต็ม และมีแรงงานบังคับ"

อาหาร9 แสนล.ลุ้นบวก

ขณะที่นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การถูกปรับสถานะดีขึ้นครั้งนี้ไม่เสียแรงที่ทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยกันปรับปรุงแก้ไขปัญหามาจนสหรัฐฯเห็นการเปลี่ยนแปลง และขยับสถานะเราดีขึ้น แน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์สินค้าไทย เฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าประมง และอาหารทุกประเภทที่ในปี 2558 ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกอาหารรวมกว่า 9 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้มีการส่งออกไปยังตลาดอียู สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน อาเซียน ตะวันออกกลาง และตลาดอื่น ๆ สัดส่วน 10, 11, 15, 15, 20, 4 และ 25% ตามลำดับ ล่าสุดทางสมาคมฯได้มีการพบปะกับสมาคมผู้นำเข้าสินค้าอาหารของอิตาลี ทางลูกค้าได้แสดงความยินดี และระบุมีความสบายใจที่จะสั่งซื้อสินจากไทยเพิ่มขึ้น และหวังในเรื่องนี้จะเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายของไทยรวมพลังกันเพื่อปลดใบเหลืองไอยูยูในโอกาสต่อไป

การ์เมนต์ชี้ส่งผลดีตลาด

เช่นเดียวกับนายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการ และอดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ที่กล่าวว่า การปรับสถานะดีขึ้นย่อมส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศ ที่ผ่านมาไทยถูกขึ้นบัญชี Tier 3 มา 2 ปี สหรัฐฯไม่มีบทลงโทษทางการค้าต่อภาคเอกชนไทย ยังค้าขายกับภาคเอกชนของสหรัฐฯได้ปกติ แต่มีผลทำให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯไม่สามารถจัดซื้อ หรือจัดหาสินค้าจากประเทศที่อยู่ในบัญชี Tier 3 ที่มีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ รวมถึงงดให้การสนับสนุนรัฐบาลของประเทศที่ถูกขึ้นบัญชีในกรณีต่างๆ

"ที่ผ่านมากลุ่มเครื่องนุ่งห่มเป็น 1 ในสินค้าที่มีปัญหาเรื่องการใช้แรงงาน และถูกสหรัฐเพ่งเล็งนอกจากประมง โดยมีแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย มีแรงงานบังคับ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงงานที่อยู่ตามตะเข็บชายแดน แต่เวลานี้ปัญหาก็ได้รับการแก้ไขให้คลี่คลายลงแล้ว เรื่องเทียร์ 2 นี้จะมีผลทำให้เราส่งออกสินค้าเครื่องนุ่งห่มไปยังตลาดสหรัฐฯ(ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 36% ของการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทยไปทั่วโลก)ได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ก็น่าจะมีผลเพราะคู่ค้าจะซื้อด้วยความสบายใจมากขึ้น ส่วนตลาดอื่นๆ เช่น อียู มีกรณีเบร็กซิทของอังกฤษ ทำให้ค่าเงินเขาอ่อนลง ซื้อสินค้าเราแพงขึ้น คงทำให้เขาซื้อเราน้อยลง ไม่เกี่ยวกับเทียร์2"

ขณะที่นายถาวร กนกวลีวงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย มั่นใจว่า การปรับสถานะขึ้นมาอยู่ใน Tier 2.5 ของไทย จะส่งผลเชิงบวก ทำให้ลูกค้ามั่นใจสั่งซื้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้น เพราะอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น โดยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการส่งออกรวม 2,649 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ อียู ญี่ปุ่น อาเซียน และจีน+ฮ่องกง สัดส่วน 36, 24, 14, 6, 5 และ 4% ตามลำดับ

จับตา3เดือนอาหารทะเลพุ่ง

ส่วนในมุมของนายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ชี้ว่า การที่ไทยได้รับการปรับสถานะเป็น Tier 2.5 นั้น เป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารทะเลแช่แข็งของไทย เพราะผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นต่อสินค้าไทยมากขึ้น จากการที่ไทยดูแลเรื่องแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานผลิตสินค้า และส่งผลให้มีคำสั่งซื้อสินค้าไทยเพิ่มขึ้น โดยอาจจะเกิดขึ้นในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า รวมถึงช่วยให้ภาพลักษณ์ของไทยดีขึ้นในสายตาของผู้ค้าทั่วโลก

 ยันไม่มีผลส่งออกพลิกบวก

"ล่าสุดทางสภาผู้ส่งออกเพิ่งปรับลดคาดการณ์ส่งออกไทยในปีนี้ติดลบที่ 2% ซึ่งกรณีที่ไทยหลุดจากเทียร์ 3 มาอยู่ที่เทียร์ 2 วอตช์ ลิสต์ นั้นไม่ได้หมายความว่าการส่งออกของไทยทั้งปีจะพลิกกลับมาเป็นบวก ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้ แม้ว่าภาพลักษณ์ไทยจะดีขึ้นในสายตาคู่ค้า แต่วัตถุดิบพวกอาหารทะเล อย่างกุ้งของไทยอาจจะยังมีไม่เพียงพอ และการส่งออกอาหารทะเลไปสหรัฐฯไม่ไดเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้การส่งออกของไทยเป็นบวก เพราะไทยส่งออกอาหารทะเลไปสหรัฐฯมูลค่าแค่5 หมื่นล้านบาทเท่านั้นจากการส่งออกอาหารทะเลทั้งหมด2แสนบาทบาท หรือคิดเป็น25% ถึงเพิ่มมากคงไม่มีทางให้การส่งออกไทยเป็นบวก แต่อาจจะทำให้ไตรมาส4 การส่งออกอาจจะดีขึ้นแต่ทั้งปีคงไม่บวก แต่อาจมีผลต่อการส่งออกในปีหน้า" นายนพพร กล่าว

พาณิชย์ย้ำผลดี 4 กลุ่มสินค้า

ด้านนางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การถูกปรับสถานะดีขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม Tier 2 Watch List ในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงผลสำเร็จของรัฐบาลไทยในการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการใช้แรงงานบังคับอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารทะเล ทั้งนี้กรมฯ ได้ประเมินสถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศ 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะสั้นผลกระทบต่อภาคการค้าไทยโดยตรงทันที ได้แก่ ภาพลักษณ์สินค้าไทยด้านแรงงานดีขึ้นทั้งในตลาดสหรัฐฯ และนานาประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารทะเล เป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับผู้นำเข้ารายใหญ่ และผู้บริโภคโดยทั่วไปในวงกว้าง นอกจากนี้จะเป็นผลดีต่อการตรวจสอบเรื่องไอยูยูของสหภาพยุโรป ซึ่งปัจจุบันไทยได้ใบเหลืองอยู่

ส่วนในระยะยาว ไทยจะมีศักยภาพในการส่งออกและการแข่งขันที่เข้มแข็งขึ้น เพราะสินค้าไทยจะได้รับการยอมรับว่า สามารถควบคุมการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานและกฎหมายสากลมากยิ่งขึ้น ช่วยลดการถูกกีดกันทางการค้าและลดการถูกโจมตีในกลุ่มอาหารทะเลได้ อีกทั้งยังเกิดผลดีทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภค ผู้นำเข้า และผู้ประกอบการค้าปลีกในการสนับสนุนสินค้าและบริการของไทย ทำให้การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าประมง น้ำตาล อ้อย และสิ่งทอ ที่ถูกเพ่งเล็งเรื่องแรงงาน

ขณะที่สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยข้อมูลการส่งออกสินค้าประมงของไทย (กุ้ง ปลาหมึก ปลา)ไปยังตลาดสหรัฐฯในปี 2558 มีมูลค่ารวม 2.58 หมื่นล้านบาท ขณะที่ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าการส่งออก 1.65 หมื่นล้านบาท ส่วนการส่งออกสินค้าประมงของไทยในกลุ่มเดียวกันไปยังตลาดสหภาพยุโรปหรืออียู ในปี 2558 มีมูลค่า 8,505 ล้านบาท และช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่า 2,363 ล้านบาท

บัวแก้วหวังอียูใช้ปลดใบเหลือง

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์มาโดยตลอด และดำเนินการเป็นวาระแห่งชาติ โดยได้รับความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ ศาล ตลอดจนกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย ที่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง นอกจากนี้ การนำมาตรา 44 มาใช้เร่งรัดออกกฎหมายก็ช่วยให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

"จากนี้ไปรัฐบาลจะมุ่งมั่นดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้นในปีต่อๆ ไป โดยไม่ได้เป็นการทำเพียงเพื่อตอบสนองต่อการจัดอันดับของสหรัฐฯ เท่านั้น นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศยังมีแผนจะหยิบยกผลการดำเนินงานแก้ปัญหาค้ามนุษย์ขึ้นมานำเสนอในการประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป (อียู) ในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งคาดหวังว่าการที่ไทยได้รับการปรับอันดับเรื่องการค้ามนุษย์จะส่งผลดีกับการตัดสินเรื่องไอยูยูด้วย"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559