8แบงก์ผนึกอุ้มสตาร์ตอัพรายใหม่หมื่นล้าน

05 ก.ค. 2559 | 02:00 น.
8 แบงก์ผนึกบอร์ดสานพลังประชารัฐหนุนซอฟท์โลน 1 หมื่นล้านบาท อุ้มสตาร์ทอัพ-เอสเอ็มอีรายเล็กเข้าถึงแหล่งเงิน –ขยายเครื่องจักรเพื่อการผลิตเพิ่ม ตั้งเงื่อนไขต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ไม่เคยใช้วงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินรายใด คิดดอกเบี้ยกู้ต่ำไม่เกิน 4 % ดีเดย์รับคำขอ 15 ก.ค.ศกนี้ ขณะที่ครม.สัปดาห์หน้าจ่อไฟเขียวบสย.ค้ำฯสินเชื่อสตาร์ทอัพ ด้าน"สมคิด " ดันแจ้งเกิดกองทุนพลิกฟื้นกเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลแต่ยังมีศักยภาพ ด้านแองเจิ้ล อินเวสเตอร์ฯ แห่ร่วมลงทุนกับกลุ่มสตาร์ทอัพ ไปแล้ว 4 รายจ่อลงทุนเพิ่มอีกแห่ง

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐว่า ในส่วนของการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจเริ่มต้นหรือ SME &Start-Up ได้มีข้อสรุประหว่าง 8 ธนาคารพาณิชย์ ในเรื่องการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพที่ยังไม่เคยใช้วงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินในระบบมาก่อนเลย

โดยกำหนดวงเงิน 1หมื่นล้านบาทเป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ(ซอฟท์โลน)เริ่มรับคำขอสินเชื่อภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 นี้ ทั้งนี้เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อวงเงินดังกล่าวจะไม่กำหนดโควตาว่าแต่ละธนาคารจะปล่อยกู้กับผู้ประกอบการวงเงินเท่าไร จำนวนกี่ราย แต่กำหนดวงเงินกู้ต่อรายประมาณ 1-2 ล้านบาท/ราย เพราะเจตนารมณ์ของซอฟท์โลนครั้งนี้คือ 1.ต้องการให้สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีรายเล็กที่ต้องการวงเงินสินเชื่อสามารถเข้าถึงแหล่งเงินอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2.ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขยายการลงทุน อาทิการขยายเครื่องจักรเพื่อการนำผลิต โดยคิดอัตราเงินกู้ต่ำไม่เกิน 4.0% ต่อปี

สำหรับ "ซอฟท์โลน 1 หมื่นล้านบาท"ดังกล่าว เป็นหนึ่งใน 12 คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ D2 เป็นหนึ่งในกลุ่ม Value Driver(7D) ซึ่งมีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานกลุ่ม และนายสุพันธุ์ มงคลสุธี เป็นประธานร่วมภาคเอกชน โดยทางสมาคมธนาคารไทยรับผิดชอบในโครงการดังกล่าว และมีธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)(บมจ.) เป็นโต้โผในการประสานกับธนาคารสมาชิกโดยหลักการปล่อยสินเชื่อทั้ง 8 ธนาคารพาณิชย์ จะร่วมดูแลและพิจารณาวงเงินสินเชื่อเพื่อช่วยกันดูแลผู้ประกอบการ

ตั้งกองทุนสตาร์ทอัพ/เอ็นพีแอล

ด้านดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่ง ระหว่างเปิดงาน Smart SME Expo 2016 ". เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมาว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีเทคโนโลยี่หรือมีนวตกรรมใหม่ ๆ ดังนั้นในเร็ว ๆนี้ รัฐบาลจะตั้ง " กองทุนสตาร์ทอัพ " พร้อมได้ปรึกษาสถาบันวิจัยทั่วประเทศรวมพลังกับเอกชนรุ่นใหม่ และภาครัฐ ในการนำความคิดธุรกิจใหม่ ๆมาบ่มเพาะและหาเงินทุนให้เพื่อสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันทางสมาคมธนาคารไทย จะออกโครงการสินเชื่อวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ปล่อยกู้ในดอกเบี้ยต่ำให้เอสเอ็มอีรายใหม่ ฉะนั้นในเรื่องแหล่งเงินจะไม่เป็นปัญหาของเอสเอ็มอีอีกต่อไป

ดร.สมคิด ยังกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้ให้ความเป็นห่วง เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เอ็นพีแอล หรืออยู่ในบัญชีเครดิตบูโร โดยเฉพาะรายที่ยังมีศักยภาพแต่ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ จึงได้สั่งการให้จัดตั้งกองทุนสำหรับเอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอล แต่ยังมีศักยภาพ มีความตั้งใจจริง และไม่มีเจตนาทุจริต โดยกองทุนนี้จะเข้าไปช่วยเติมเงินให้ เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาปกติ

ชงครม.ไฟเขียวบสย.ค้ำ

นอกจากนี้การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. ) ในวันที่ 5 กรกฏาคม ที่จะถึงนี้ก็ได้เสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ( บสย.) เข้าไปช่วยค้ำประกันสินเชื่อผู้ประกอบการสตาร์ทอัพและนวตกรรม เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ สามารถทำธุรกิจแบบใหม่ การต่อยอดสินค้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

นายปิยพันธ์ วงศ์ยะรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทูมอร์โรว์ กรุ๊ป จำกัด (บจก.)เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าบริษัทฯตั้งเป้าหมายที่จะร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพฯปีละ 1 บริษัทฯ ขณะนี้อยุ่ระหว่างการดำเนินการ โดยก่อนหน้านี้ได้ลงทุนไปแล้วจำนวน 4 บริษัท คือ บจก.สยามสแควร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ให้บริการแอพพลิเคชั่นภายใต้ชื่อ "สต็อกเรดาร์" แอปพลิเคชั่นวิเคราะห์การลงทุนในหุ้น บจก. FRT(fortune robotics trading ) , บจก. สกิลเลน เอ็ดดูเคชั่น หรือ SkIILane เป็นเว็บไซต์โรงเรียนออนไลน์ , ฮับบา (ฮับบาไทยแลนด์ จำกัด) และเว็บไซต์ Wazzada เป็นเว็บที่ค้นหาไอเดียวัสดุ และ ของตกแต่งบ้าน

"ทูมอร์โรว์ " จ่อลงทุนเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการลงทุนของบริษัทฯจะเป็นรูปแบบ "Angel Investor" หรือนักลงทุนอิสระที่ลงทุนใน สตาร์อัพ ซึ่งเป็นนักลงทุนรายบุคคล ต่างจาก Venture Capital ที่เป็นกิจการกองทุนร่วมลงทุน ปัจจุบันบริษัทฯที่ได้เข้าไปร่วมลงทุนมีมูลค่านับ 100 ล้าบาท โดยจะเข้าไปลงทุนในสัดส่วน 10-20%
"บริษัทฯที่เราจะเข้าไปลงทุนด้วยนั้นต้องมีเคมีตรงกัน เป็นบุคคลที่กระหายพอที่จะทำธุรกิจสตาร์ทอัพฯแบบเพียว ๆ และ เป็นคนจริงจังมุ่งมั่น ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจ"

"ดิจิทัล เวนเจอร์ส"ลงทุนเพิ่มQ3

สอดคล้องกับนายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริหาร บจก. ดิจิทัล เวนเจอร์ส เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัท ฯ ได้ลงทุนก้อนแรกไปแล้วในกองทุน "โกลเดนเกต เวนเจอร์ส" (Golden Gate Ventures) ซึ่งมีขนาดกองทุนรวมกว่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายนฯจะเข้าไปลงทุนอีก 1 บริษัท แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยสัดส่วนการลงทุนนั้นจะแบ่งเป็นการลงทุนในกองทุน 40% และ บริษัทฯจำนวน 60%

"ภายในปีนี้เราจะลงทุน 2-3 กองทุน และในปี 2560 จะเข้าไปลงทุนให้ได้ทั้งหมด แต่ทั้งนี้คุณสมบัติที่จะเข้าไปลงทุนนั้นต้องเกี่ยวข้องกับการเงิน ที่ธนาคารต้องนำไปใช้ประโยชน์ได้"

อนึ่งบจก.ดิจิทัล เวนเจอร์ส ถือหุ้นใหญ่โดยธนาคารไทยพาณิชย์ฯ ด้วยเงินลงทุนเบื้องต้น 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ หรือประมาณ 1.75 พันล้านบาท ก่อตั้งขึ้นเพื่อลงทุนในธุรกิจด้าน FinTech (Financial Technology ) เป็นหลัก

อินเว้นท์ ตั้งงบ 200 ล.

ก่อนหน้านี้ บจก. อินทัช โฮลดิ้งส์ ได้ตั้งโครงการอินเว้นท์ เพื่อเข้าไปร่วมลงทุนกับกลุ่มสตาร์ทอัพฯที่เป็นเอสเอ็มอีขนาดเล็ก และ ขนาดกลาง โดยตั้งงบลงทุนในปีนี้ 200 ล้านบาท ที่ผ่านมา อินเว้นท์ ได้ลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียไปแล้วกว่า 300 ล้านบาท โดยเข้าไปถือหุ้นประมาณ 10-30% ประกอบไปด้วย บจก. อุ๊คบี ,บจก. เมดิเทค โซลูชั่น , บจก. คอมพิวเตอร์โลจี , บจก. อินฟินิตี้ เลเวล สตูดิโอ ,บจก. อินฟินิตี้ เลเวล สตูดิโอ ,บจก. ซินโนส ,บจก. เพล์ยเบสิส ,บจก. กอล์ฟดิกก์ , บจก. ชอปสปอท โมบิลิตี้ และ บจก. วงใน มีเดีย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559