ไก่ไทยในกำมือ ‘บราซิล’

05 ก.ค. 2559 | 00:00 น.
ข้อมูลจากศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าบราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าสัตว์ปีกรายใหญ่ที่สุดของโลก (97% เป็นเนื้อไก่ และ 3% เป็นไก่งวง) โดยปี 2015 บราซิลส่งออกเนื้อไก่ประมาณ 3.74 ล้านตัน ขณะที่สหรัฐอเมริกาและอียู เป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ

ในด้านการปริมาณการผลิตไก่ บราซิลเป็นผู้ผลิตไก่อันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและจีน โดยในปี ค.ศ. 2011 บราซิลผลิตไก่ได้มากถึง13.05 ล้านตัน ขณะที่ ปี ค.ศ. 2013 บราซิลผลิตไก่เพื่อการบริโภคภายในประเทศ 68.3% และส่งออกไปยังต่างประเทศ 31.7% มีตลาดหลักคือ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อียู และญี่ปุ่น

ปลายปี 2015 บริษัท Brazil Food’s Global (หรือ BRF) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมการผลิตอาหารของบราซิลและเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากไก่รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท โกลเด้น ฟู้ดส์ สยามฯ ของประเทศไทยในมูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท (ประมาณ 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งถือเป็นการลงทุนมูลค่ามากที่สุดของบริษัทสัญชาติบราซิลในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย

บริษัท โกลเด้น ฟู้ดส์ สยาม จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากไก่ครบวงจร โดยมีกลุ่มธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ จ.ชลบุรี โรงงานชำแหละเนื้อไก่ ใน จ.ปทุมธานี และ จ.นครนายก โรงงานแปรรูปอาหารจากเนื้อไก่ อยู่ที่ จ.นครนายก นับเป็นหนึ่งในบริษัทแปรรูปไก่ชั้นนำของไทย ที่มีเครือข่ายดำเนินการใน 15 ตลาดทั่วโลก ไม่เพียงเท่านั้น BRF ยังกำลังสยายปีกไปทั่วโลกในฐานะผู้จัดหาอาหาร โดยจะเข้าซื้อกิจการของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอาหารในหลายประเทศ อาทิ อาร์เจนตินา อังกฤษ และสิงคโปร์ แต่ละก้าวของการขยับเข้าซื้อธุรกิจไก่ครบวงจรในไทยและในหลายๆประเทศของบริษัทผู้ส่งออกไก่อันดับ 1 ของโลกรายนี้ กำลังบ่งบอกถึงความต้องการก้าวขึ้นเป็นบริษัทอาหารอันดับ 1 ของโลกใช่หรือไม่?

เมื่อบริษัท Brazil Food’s Global ซึ่งมีกำลังการผลิตไก่ ณ ประเทศบราซิลอยู่ที่ 32 ล้านตัวต่อสัปดาห์ หรือมากเท่ากับผลผลิตไก่ของ "ทั้งประเทศไทย" กำลังรุกคืบอย่างหนักเช่นนี้... จะเกิดอะไรขึ้นกับเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย
ทุกวันนี้ BRF ในนามของโกลเด้น ฟู้ดส์ เดินเครื่องผลิตไก่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. 2015 และจะเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นเรื่อยๆ ตามเป้าหมายการขยายตลาด โอกาสที่ปริมาณผลผลิตไก่จะล้นตลาดบ้านเรามีสูงมาก เมื่อซัพพลายมีมากกว่าดีมานด์ราคาเนื้อไก่จะตกต่ำลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ... จะมีเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยคนไหน มีสายป่านยาวเพียงพอที่จะสู้กับยักษ์ใหญ่ระดับโลกรายนี้ได้ แม้แต่บริษัทใหญ่หลายแห่งของคนไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมก็อาจเพลี่ยงพล้ำ แล้วถ้าอุตสาหกรรมไก่ของไทยทั้งหมด อยู่ในกำมือของบริษัทต่างชาติ...อะไรจะเกิดขึ้น!!

หลายคนอาจมองว่า เมื่อ BRF ต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิตไก่ส่งออก จะไม่น่ามีผลต่อปริมาณและราคาไก่ในประเทศ ซึ่งเป็นความคิดที่คลาดเคลื่อน เพราะไก่จะสามารถส่งออกได้เพียงบางชิ้นส่วน เช่น อกไก่ และน่องไก่ ส่วนที่เหลือจะล้นทะลักอยู่ในประเทศไทย ผู้บริโภคอาจรู้สึกว่าจะซื้อไก่ได้ในราคาถูก แต่อย่าลืมว่าเมื่อราคาไก่ถูกมากจนเกษตรกรขาดทุนย่อมไม่สามารถทนประกอบอาชีพเดิมต่อไปได้ จำต้องเลิกราอาชีพเลี้ยงไก่ไปหาอาชีพอื่นที่เลี้ยงครอบครัวต่อได้

นี่เป็นบทเรียนอีกบทหนึ่งของโลกการค้าการลงทุนเสรี การแสวงหาต้นทุนที่ต่ำที่สุด แสวงหาพื้นที่เหมาะที่สุดในการประกอบธุรกิจ ใครมีทุนหนา มีเครือข่ายที่ครอบคลุมมากกว่า คนนั้นได้ประโยชน์ ความรู้สึกของผู้เลี้ยงไก่ในไทยในวันนี้ก็คงไม่ต่างกับคนต่างประเทศที่ไทยรุกเข้าไปลงทุนในประเทศของเขา ที่ต่างก็กลัวผลจาก "ทุนหนา" และ "แข็งแกร่ง" อย่าง BRF ในวันนี้ ครับ

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559