ฟันธงส่งออกไทยติดลบปีที่4-เศรษฐกิจโลกฉุด

05 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
สรท.ปรับตัวเลขส่งออกปี 59 ติดลบ 2% และติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เหตุเศรษฐกิจโลก-ค่าเงินยังผันผวน มองแง่ดีปีหน้าอาจพลิกกลับเป็นบวก ระบุ ก.พาณิชย์ ยอมปรับเป้าส่งออกลงเป็นเรื่องที่ดีที่ยอมรับความจริง แนะผู้ประกอบการปรับตัวตามสถานการณ์ และพัฒนาสินค้าให้ทันคู่แข่ง

[caption id="attachment_67669" align="aligncenter" width="700"] สถิติการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกปี 2559 สถิติการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรกปี 2559[/caption]

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกเปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในครึ่งหลังของปี 2559 ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน หลักๆโดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจของคู่ค้าทั่วโลกที่ยังชะลอตัว ส่งผลกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทำให้ปริมาณการอุปโภคบริโภคของลูกค้าในตลาดเป้าหมายลดลง เช่น ในสหาภาพยุโรป(อียู) ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ที่ยังมีปัญหาเศรษฐกิจถดถอย บวกกับกรณีอังกฤษจะออกจากอียู(เบร็กซิท)ที่สร้างความผันผวนต่ออัตราแลกเปลี่ยน และตลาดเงินตลาดทุน อาจจะสร้างความกังวลและกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะต่อไป

ดังนั้นสรท.จึงมองว่าการส่งออกของไทยในปีนี้โอกาสขยายตัวเป็นบวกคงไม่มี ซึ่งตรงกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ส่งออกทั้งปีนี้จะติดลบ 2% สรท.เองได้ปรับเป้าส่งออกเดิมตั้งไว้ขยายตัวที่ 0-2% เป็น-2% หากปีนี้ไทยยังคงส่งออกติดลบ ถือเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ถือเป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ เพราะการส่งออกไทยไม่ควรติดลบต่อเนื่องนานเช่นนี้ แต่ในปีหน้าการส่งออกไทยน่าจะกลับมาเป็นบวกจากที่ปีนี้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว

สำหรับการปรับลดประมาณการส่งออกใหม่ของ สรท.ในครั้งนี้ ไทยจะมีมูลค่าการการส่งออกทั้งปี 2559 ที่ 210,089 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นการปรับคาดการณ์ใหม่ที่เร็วกว่ากำหนดเดิมที่จะปรับเมื่อครบไตรมาส 2 เนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังปัจจัยลบหลัก ๆ มีความชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งขณะนี้เงินปอนด์และยูโรอ่อนค่าลง ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบการแข่งขันด้านราคาสินค้า ส่วนผลการทำประชามติอังกฤษออกอียู จะส่งต่อการส่งออกไทยในระยะสั้น และไม่มีผลให้การส่งออกของไทยกลับมาเป็นบวก เพราะมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆมาเป็นตัวฉุดอยู่

ส่วนกรณีที่กระทรวงพาณิชย์เล็งปรับเป้าหมายการส่งออกในปีนี้จากเดิมตั้งไว้ขยายตัวที่ 5% จะลดลงเหลือ 3% ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์เป็นตัวเลขการทำงานไม่ใช่ตัวเลขประมาณการส่งออกจริง การที่กระทรวงยอมปรับตัวเลขส่งออกลงมาก็เป็นการยอมรับความเป็นจริงถึงสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้

ขณะที่นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน สรท. กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลังยังมีบางกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงพอไปได้ เช่นกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ ที่คิดเป็นสัดส่วน 15%ของการส่งออกในภาพรวม คาดตัวเลขการส่งออกของเดือนมิถุนายนจะยังพอไปได้จากคำสั่งซื้อล่วงหน้า แต่ในเดือนกรกฎาคม-กันยายนนี้น่าเป็นห่วงเพราะมีปัญหาในตลาดตะวันออกกลางที่รายได้หายไปจากราคาน้ำมันตกต่ำที่อาจเป็นตัวฉุดส่งออกในปีนี้ ขณะที่ สรท.ยังเป็นห่วงตลาดหลักของไทย เช่น ตลาดจีนที่เศรษฐกิจยังชะลอ สหรัฐอเมริกาที่อาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรืออาจปรับลดลงอีกก็เป็นได้ และยิ่งเจอเบร็กซิทตลาดยิ่งผันผวน ดังนั้นผู้ประกอบการควรปรับตัวรับสถานการณ์ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และต้องติดตามข้อมูลข่าวสารให้ทันสถานการณ์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559