สังคมผู้สูงวัยญี่ปุ่นเข้าโค้งอันตราย ประชากรลด-ตลาดแรงงานตึงตัว

05 ก.ค. 2559 | 13:00 น.
สื่อท้องถิ่นของญี่ปุ่นรายงานว่า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศที่ในจำนวนประชากรทุกๆ 4 คนจะมีมากกว่า 1 คนที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่านั้น จากข้อมูลสำมะโนประชากรในปี 2558 ประกาศโดยกระทรวงการสื่อสารโทรคมนาคมและกิจการภายในของญี่ปุ่น พบว่า สังคมของญี่ปุ่นกำลังมีสัดส่วนประชากรที่เป็นผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในสังคมที่ประชากรวัยทำงานลดน้อยลง ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐเกี่ยวกับสวัสดิการทางสังคมไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการดูแลสุขภาพกายใจของผู้สูงวัยและเงินบำเน็จบำนาญรวมทั้งสวัสดิการสังคม ท่ามกลางบรรยากาศที่การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาทั่วประเทศกำลังจะมีขึ้น ทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลยังไม่มีการหยิบยกประเด็นสำคัญดังกล่าวมาเป็นหัวข้อในการอภิปรายมากนัก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (29 มิ.ย.) นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ได้กล่าวในระหว่างการช่วยลูกพรรคหาเสียงในเมืองนิอิกะตะว่า แม้จำนวนประชากรของญี่ปุ่นจะลดน้อยถดถอยลงแต่เศรษฐกิจก็ยังจะสามารถเจริญเติบโตต่อไป "เพราะแม้ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจก็ยังสามารถขยายตัวมาแล้วถึง 6.4% (เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น)" ผู้นำรัฐบาลของญี่ปุ่นกล่าว

ทั้งนี้ พรรคเสรีประชาธิปไตย หรือ แอลดีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลได้ให้คำมั่นสัญญาในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งว่า ทางพรรคมีนโยบายด้านสังคมที่มุ่งหมายให้ประชาชนทุกๆคน ทุกๆกลุ่มเพศและวัย ต่างมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและสร้างความเติบโตให้แก่สังคม โดยภาครัฐจะสร้างเสริมบรรยากาศที่สตรีและผู้สูงวัยจะสามารถมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน พรรคฝ่ายค้านพรรคใหญ่ที่สุดก็ชูจุดขายในเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ต้องเริ่มจากประชากรทุกคน มีการหาเสียงเกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ ที่จะทำให้ประชาชนมีโอกาสเพิ่มรายได้ เช่น ข้อเสนอให้มีการขึ้นค่าจ้างให้แก่ผู้ที่ทำงานด้านการดูแลเด็ก และนโยบายลดความแตกต่างระหว่างค่าแรงลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว

ข้อมูลจากแหล่งข่าวภาครัฐที่ไม่ประสงค์ออกนาม ระบุว่า ทั้งพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านต่างก็พยายามเน้นนโยบายเพิ่มบทบาทในตลาดแรงงานให้แก่สตรีและผู้สูงวัย เนื่องจากท่ามกลางสภาวะที่ประชากรของประเทศมีจำนวนลดลง หากตลาดแรงงานไม่แตกแขนงออกไปสู่แรงงานสตรีและคนสูงวัย ปัญหาที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือกลุ่มประชากรวัยทำงานก็จะลดลงอย่างรวดเร็วมากขึ้น ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจก็จะถูกกัดกร่อน ขณะที่เสถียรภาพความมั่นคงทางสังคมก็จะคลอนแคลนและไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน นักวิเคราะห์กล่าวว่า จำนวนประชากรที่ลดลงนั้นเป็นอุปสรรคใหญ่ที่จะฉุดรั้งความพยายามสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความแข็งแกร่งของประเทศ

ระหว่างที่เผชิญเศรษฐกิจฟองสบู่ต้นทศวรรษ 1990 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 4% แต่หลังจากนั้นก็ลดลงมาและปัจจุบันอยู่ที่ราวๆ 0.4% ถ้าหากอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ว่า ญี่ปุ่นจะกลับเข้าสู่วงจรอันเลวร้าย คือภาครัฐจำเป็นต้องรัดเข็มขัดและลดค่าใช้จ่ายที่เป็นสวัสดิการสังคมลงมาซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น จำนวนประชากรก็มักจะลดลงตามไปด้วย

ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมของรัฐบาลญี่ปุ่นขยับสูงขึ้นมากโดยสูงขึ้นประมาณ 11 ล้านล้านเยน ซึ่งสาเหตุหลักก็มาจากการที่สังคมมีจำนวนประชากรที่เป็นผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั่นเอง

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559