แจกเงินล้านจูงใจใช้ ‘พร้อมเพย์’ คลังอีดฉีดปลุกประชาชน-ร้านค้าแห่เข้าอี-เพย์เมนต์

06 ก.ค. 2559 | 09:00 น.
"พร้อมเพย์"หรือระบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์(e-Payment) กลายเป็นสัญลักษณ์ที่จะนำพาประชาชนคนไทยร่วมพลิกโฉมระบบการโอนและรับเงินภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ซึ่งใช้หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือแทนเลขที่บัญชีเงินฝากของผู้รับเงิน นอกจากลดต้นทุนของประเทศในการพิมพ์ธนบัตร เพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้ระบบบริการมีประสิทธิภาพที่รวดเร็วแล้ว ยังลดปัญหาคอร์รัปชัน และที่สำคัญคือ ประเทศไทยจะมีฐานข้อมูลทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจควบคู่กัน

[caption id="attachment_67714" align="aligncenter" width="700"] โปรโมชันจูงใจ ร้านค้า-ประชาชนใช้พร้อมเพย์ โปรโมชันจูงใจ ร้านค้า-ประชาชนใช้พร้อมเพย์[/caption]

คลังแจกรางวัลเดือนละ7ล้าน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เมนต์) โดยระบุว่า บอร์ดพิจารณาแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและประชาชนมาใช้อี-เพย์เมนต์โดยการจับรางวัลเดือนละ 7 ล้านบาท เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยแบ่งรางวัลเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 5.5 ล้านบาท ให้ผู้ใช้อี-เพย์เมนต์มีรางวัลใหญ่สูงถึง 1 ล้านบาท ส่วนที่สอง 1.5 ล้านบาทจะเป็นรางวัลให้กับร้านค้าผู้ประกอบการที่วางเครื่องรับบัตร(EDC) ซึ่งจะทำให้ทั้งประชาชนและร้านค้าสนใจมาใช้อี-เพย์เมนต์รวดเร็วมากขึ้น

" ระบบอี-เพย์เมนต์จะสุ่มผู้โชคดีที่ใช้บริการและร้านค้า โดยที่ผู้ชำระเงินและร้านค้าไม่ต้องส่งใบเสร็จมาชิงโชคให้ยุ่งยาก แต่ตอนได้รับรางวัลต้องมีใบเสร็จมายืนยันและจะมีการโอนเงินรางวัลให้ผ่านทางอี-เพย์เมนต์ และเงินรางวัลดังกล่าวจะเป็นเงินสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐแต่ไม่ใช่เงินงบประมาณจากรัฐ"

สำหรับการติดตั้งเครื่องอีดีซีของร้านค้าจะเริ่มเดือนกันยายนปีนี้จนถึงกันยายนปี2560 เป็นเวลา 1 ปี โดยจะวางให้ครบทั้งร้านขนาดใหญ่ เล็ก และโชวห่วย (กระทรวงพาณิชย์จะออกระเบียบให้ร้านค้าที่จดทะเบียนการค้า) ต้องมีเครื่องอีดีซีอย่างน้อย 1 เครื่อง เพื่อรองรับการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยทั้งร้านค้าและประชาชนทุกภาคส่วนจะช่วยลดการพิมพ์ธนบัตร ลดต้นทุนการขนส่งเงิน และค่าธรรมเนียมการกดเอทีเอ็ม รวมถึงในอนาคตจะขยายไปถึงการจ่ายค่าแท็กซี่ด้วย

ส่วนของกรมสรรพากรนั้นจะสามารถเสนอร่างแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องภายในเดือนกรกฎาคมนี้เพื่อรองรับการพัฒนาระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยระบบ e-Tax Invoice และe-Receipt เพื่อให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาได้ และในระยะยาว จะมีการเชื่อมโยงให้มีบัญชีการเสียภาษีบัญชีเดียวของแต่ละบริษัท เพื่อให้เกิดการหักลบการเสียภาษี

อย่างไรก็ตาม การเริ่มลงทะเบียนพร้อมเพย์จะใช้เพียงแค่หมายเลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือโดยจะเปิดให้ประชาชนและนิติบุคคลลงทะเบียนผ่านสถาบันการเงินต่างตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมนี้ ขณะที่บางแห่งอาจจะเปิดให้ลงทะเบียนในวันที่ 1กรกฎาคม ขณะเดียวกันได้ย้ำให้ประชาชนที่ต้องการรับสวัสดิการลงทะเบียนได้ที่ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทยตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคมจนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2559 เป็นเวลา 1 เดือนเท่านั้น จึงไม่อยากให้ผู้มีรายได้น้อยเสียสิทธิ์ เพราะหากมีการจ่ายสวัสดิการเพิ่มเติมผู้ไม่ลงทะเบียนจะไม่ได้รับสิทธิ์ และต้องรอลงทะเบียนรอบใหม่ปีหน้า

บัวหลวง" พร้อมติดตั้งอีดีซีก.ย.นี้

นายกึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริการลูกค้า สายเทคโนโลยี ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพมีความพร้อมที่จะเปิดรับลงทะเบียนล่วงหน้า (Pre-Register) การผูกบัญชี "พร้อมเพย์" (PromptPay) ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ผ่าน 7 ช่องทาง โดยจะเน้นให้ลูกค้าลงทะเบียนด้วยตัวเอง โดยเฉพาะผ่านระบบ อินเตอร์เน็ตโมบาย แบงกิ้ง เอทีเอ็ม และสาขาธนาคาร ส่วนลูกค้าที่ไม่ใช้ช่องทางข้างต้น ลูกค้าสามารถลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ธนาคาร หรือโทรผ่านเข้าคอลเซ็นเตอร์ ที่เบอร์ 1333 กด 75 รวมถึงช่องทาง SMS ที่จะมีการระบุตัวตนของลูกค้าอยู่แล้ว ซึ่งง่ายและสะดวกต่อการลงทะเบียน ทำให้การเปิดรับลงทะเบียนดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหา โดยธนาคารคาดว่าช่องทางการลงทะเบียนผ่านเครื่องเอทีเอ็มมากที่สุด แต่อาจจะมีลูกค้าบางส่วนไหลไปที่สาขาธนาคาร เนื่องจากลูกค้าอาจจะมีความสงสัยและต้องการคุยกับพนักงาน

ปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าประมาณ 13 ล้านราย แบ่งเป็นสัดส่วนลูกค้ากรุงเทพฯ 40% และต่างจังหวัด 60% ซึ่งจากการวิจัยพบว่าลูกค้าในเมืองจะใช้บริการธนาคารเฉลี่ย 2.5-3 ธนาคารต่อคน และคนต่างจังหวัดจะใช้เฉลี่ย 1.2-1.3 ธนาคารต่อคน ซึ่งวิธีการจะดึงลูกค้าเข้ามาใช้บริการจะต้องดูเรื่องของความสะดวกของการโอนเงินเข้า-ออก ส่วนโปรโมชันอาจจะต้องมีบ้าง เพราะเป็นเรื่องมาร์เก็ตติ้งที่จะต้องทำ แต่คงเป็นเรื่องรองจากความสะดวกที่ลูกค้าจะได้รับ ซึ่งธนาคารไม่ได้มีเป้าหมายว่าลูกค้าจะเข้ามาผูกบัญชีกับธนาคารเท่าไร แต่ก็อาจจะเห็นลูกค้าเข้ามา 100%

ทั้งนี้ สัดส่วนฐานลูกค้าที่ทำธุรกรรมผ่านสาขาอย่างเดียวจะมีประมาณ 3 ล้านราย และสัดส่วนคนที่ใช้อินเตอร์เน็ต โมบายแบงกิ้งมีประมาณ 3 ล้านราย จากทั้งระบบมีประมาณ 10 ล้านราย ซึ่งภายหลังจากมีระบบ National e-Payment เข้ามา จะทำให้รูปแบบสาขาเปลี่ยนแปลงไป โดยปริมาณธุรกรรมที่สาขาจะถูกโยกไปที่โมบายแบงกิ้ง ซึ่งจะทำให้ปริมาณการทำธุรกรรมผ่านสาขาปรับลดลง ซึ่งโดยเฉลี่ยจะลดลงประมาณ 5% ต่อปี โดยปัจจุบันสัดส่วนการทำธุรกรรมผ่านสาขาอยู่ที่ 30% ลดลงจากปีก่อนที่อยู่ระดับ 40% และคาดว่าแนวโน้มจะปรับลดลงอีกอย่างแน่นอน ขณะที่สาขาจะมีรูปแบบเปลี่ยนเป็นการแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินแทน

 พร้อมรองรับลูกค้ามาลงทะเบียน

"ธนาคารมีความพร้อมที่จะรองรับลูกค้าที่จะมาลงทะเบียนใช้ระบบพร้อมเพย์ เพื่อผูกบัญชีไว้กับเบอร์โทรศัพท์มือถือและบัตรประชาชน ในช่วงทดสอบระบบ(ในวันที่ 1-14 ก.ค.นี้) ซึ่งการเปิดรับก่อนนี้ ธนาคารต่างๆ จะต้องเป็นผู้ที่เก็บข้อมูลการลงทะเบียนไว้ที่ธนาคารก่อน และจะส่งข้อมูลการผูกบัญชีของลูกค้าไปที่ศูนย์ข้อมูลกลางของ ITMX (ในวันที่ 15 ก.ค.)เป็นต้นไป ดังนั้นในช่วงทดสอบระบบนี้คงมีลูกค้าที่ลงทะเบียนซ้ำซ้อนกันบ้าง เพราะธนาคารต่างๆ ไม่สามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าหมายเลขโทรศัพท์นี้หรือบัตรประชาชนมีการผูกบัญชีซ้ำกันหรือไม่ แต่เมื่อส่งข้อมูลเข้าระบบศูนย์ข้อมูลกลางก็จะตรวจหมายเลขซ้ำได้ และเบอร์ที่ซ้ำต้องมีการยกเลิกต่อไป"

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากการลงทะเบียนแล้ว จะเห็นโครงการภาครัฐ โดยน่าจะเริ่มจากการรับเงินโอนสวัสดิการแม่และเด็กประมาณ 3-4 หมื่นคน ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่น่าจะเริ่มได้ก่อนในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ ส่วนการโอนระหว่างบุคคลปกติจะทำได้ในช่วงเดือนตุลาคมปีนี้ นอกจากนี้จะเริ่มเห็นการวางเครื่องรับชำระบัตร (EDC) เพื่อทำให้การรับชำระเงินสะดวก โดยเฟส 2 จะเพิ่มการวางเครื่อง EDC จำนวน 4 แสนเครื่อง จากปัจจุบันทั้งระบบมีอยู่ 2-3 แสนเครื่อง โดยธนาคารกรุงเทพมีประมาณ 1 แสนเครื่อง ซึ่งเฟส 2จะเริ่มเปิดประมูลในเดือนสิงหาคม และเริ่มติดตั้งในเดือนกันยายน และให้เวลาติดตั้งเครื่องเป็นเวลา 1 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559