โรดแมป 1.94 แสนล้าน ทอท.ขับเคลื่อน 6 สนามบินขยายศักยภาพรับ 181 ล้านคน

03 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
ปัจจุบันต้องยอมรับว่าพลวัตรหรือองคาพยพของธุรกิจการบินในช่วง 10 ปีนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก อันเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเอเชีย และอาเซียน หรือที่เรียกว่ากลุ่มรวยใหม่ ส่งผลให้การเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำเติบโตเร็วมาก การเดินทางแบบพอยต์ทูพอยต์ ซึ่งเน้นเปิดเที่ยวบินตรงเข้าสู่สนามบินหลักในภูมิภาคต่างๆของไทยเพิ่มขึ้น ไม่เหมือนในอดีตที่กลุ่มประเทศยุโรปหรืออเมริกา หรือกลุ่มรวยเก่า จะเลือกใช้บริการแบบฟูลเซอร์วิส แอร์ไลน์ มาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเดินทางต่อไปยังจุดบินอื่นๆหรือเมืองท่องเที่ยวอื่น ด้วยเที่ยวบินภายในประเทศ

[caption id="attachment_66956" align="aligncenter" width="700"] ศักยภาพการรองรับผู้โดยสารใน 6 สนามบินของ ทอท. ศักยภาพการรองรับผู้โดยสารใน 6 สนามบินของ ทอท.[/caption]

การเติบโตของการเดินทางทางอากาศจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น ตามการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย เฉพาะในปีนี้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 32 ล้านคนมาเที่ยวเมืองไทย ขณะเดียวกันคนไทยนิยมโดยสายการบินต้นทุนมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของผู้โดยสาร สะท้อนได้ชัดเจนจากผลการดำเนินการของทอท.เองในรอบ 8 เดือนของปีงบประมาณ 2559(1 ตุลาคม 2558-31 มีนาคม2559) มีผู้โดยสารใช้บริการรวม 6 สนามบิน 81.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.43% จากจำนวนเที่ยวบินรวม 5.19 แสนเที่ยวบิน(เที่ยวบินในประเทศและระหว่างประเทศ) เพิ่มขึ้น 10.11% โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินระหว่างประเทศในเส้นทางบินระหว่างไทยและจีน ที่มีเที่ยวบินตรงเข้าสนามบินดอนเมืองและสนามบินเชียงใหม่เพิ่มขึ้น

 ผู้โดยสารโอเวอร์ 23.1 ล้านคน

อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นของผู้โดยสารและเที่ยวบินเป็นการเพิ่มในฝั่งดีมานด์ แต่ศักยภาพการรองรับของสนามบินหรือซัพพลาย ที่ผ่านมากลับไม่ได้ขยายตัวตาม จากปัจจัยหลักอย่างการเมืองเปลี่ยนขั้วเมื่อไหร่ แผนพัฒนาสนามบินก็ต้องทบทวนใหม่ วนๆเวียนอยู่แบบนี้ วันนี้มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินของทอท.รวมอยู่ที่ 106.67 ล้านคนต่อปี แต่ศักยภาพการรองรับของทั้ง 6 สนามบินของทอท.จริงๆรองรับผู้โดยสารได้ 83.5 ล้านคนต่อปี จึงมีผู้โดยสารเกินศักยภาพการรองรับของสนามบินอยู่ 23.1 ล้านคน (ตารางประกอบ)ทำให้ทุกวันนี้ในชั่วโมงเร่งด่วนจะเห็นความแออัดของสนามบินได้อย่างชัดเจน

ดังนั้นเมื่อรวมกับแนวโน้มการขยายตัวของปริมาณผู้โดยสาร ที่จะกระจายไปยังสนามบินหลักในภูมิภาคต่างๆของไทย นี่เองจึงเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ทิศทางการพัฒนาสนามบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. จึงต้องปรับให้สอดรับพฤติกรรมการเดินทางที่แตกต่างในอดีต มาวันนี้แผนการพัฒนาศักยภาพการรองรับของสนามบิน จึงไม่ได้จำกัดอยู่แค่โครงการเฟส 2 (ปีงบประมาณ 2554-2560) แต่มีการวางมาสเตอร์แพลนการพัฒนาสนามบินทั้ง 6 แห่ง ภายใต้โจทย์การวางแผนการพัฒนาที่เต็มศักยภาพสูงสุดที่สนามบินจะสามารถขยายได้ หรือที่เรียกว่า "อัลติเมต เฟส" เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทในการขยายศักยภาพของสนามบิน ซึ่งหวังว่าต่อไปแม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่การพัฒนาสนามบินก็จะอยู่ในกรอบการพัฒนาที่วางไว้

ขยาย 6 สนามบินค่า1.94 แสนล.

โดยทอท.มีแผนลงทุนสำหรับพัฒนาท่าอากาศยาน ทั้ง 6 แห่ง ในวงเงินราว1.94 แสนล้านบาท มากกว่าสินทรัพย์รวมทั้งหมดของ ทอท.ที่มีอยู่ ณ สิ้นปีงบประมาณ 2558 ที่ระดับราว 1.60 แสนล้านบาท ทั้งนี้แผนการพัฒนาดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากบอร์ดทอท.แล้ว ได้แก่ แผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในวงเงินประมาณราว 1.62 แสนล้านบาท และฝ่ายบริหารอยู่ในระหว่างการนำเสนอแผนแม่บทโครงการพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงรายและท่าอากาศยานหาดใหญ่ ให้บอร์ดทอท. พิจารณาภายในปีนี้ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้วงเงินประมาณไม่ต่ำกว่า 3.2 หมื่นล้านบาทเพื่อขยายศักยภาพการรองรับของ 6 สนามบิน เพิ่มจาก 83.5 ล้านคนเป็น 181 ล้านคน

หลักๆของมาสเตอร์แพลนดังกล่าว ในส่วนของแผนแม่บท "สนามบินสุวรรณภูมิ" วงเงินลงทุน 1.17 แสนล้านบาท ซึ่งนอกจากมีโครงการเฟส 2 (ปีงบประมาณ2554-2560) ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนสิงหาคมนี้ คือ งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก)ซึ่งผู้ที่เสนอราคาต่ำที่สุด คือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน)และงานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค โดยผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด คือ กลุ่มบริษัท SG and Interlink Consortium ตามแผนใหม่ก็ยังมีโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่3 และการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งทอท.หวังจะผลักดันให้ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดในปี2564 รองรับผู้โดยสารเป็น 90 ล้านคนต่อปี

ส่วนแผนแม่บท" สนามบินดอนเมือง" วงเงินลงทุน 3.18 หมื่นล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการลงทุนในเฟส 3 อาทิ การก่อสร้างอาคาร Junction Building ซึ่งจะมีทางเชื่อมระหว่างตัวอาคารกับสถานีรถไฟฟ้าดอนเมือง การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารอาคาร 1 ปรับปรุงถนนภายในท่าอากาศยาน การปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 การขยายลานจอดอากาศยานทำให้มีหลุมจอดอากาศยานเพิ่มขึ้นอีก 12 หลุมจอด และการก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์และอาคารสำนักงาน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 ทำให้สนามบินรองรับผู้โดยสารได้เป็น 40 ล้านคนต่อปี

สำหรับแผนแม่บท "สนามบินเชียงใหม่"วงเงินลงทุน 1.27 หมื่นล้านบาท จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศและอาคารผู้โดยสารภายในประเทศเดิม การก่อสร้างขยายลานจอด 38 หลุมจอด เป็นต้น คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2573 รองรับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคนต่อปี

ขณะที่แผนแม่บทอีก 3 สนามบินที่จะทยอยนำเสนอให้บอร์ดทอท.พิจารณาต่อไป คือ "โครงการพัฒนาสนามบินภูเก็ต" วงเงิน 1.20 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน ทอท.ได้การดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ และอยู่ระหว่างการทดสอบอย่างเต็มรูปแบบ (Full Scale Trial) โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศเต็มรูปแบบได้ภายในเดือนกันยายน 2559 ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้เป็น 12.5 ล้านคนต่อปี หลังจากนั้น จะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบันให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศต่อไปทั้งยังมีแผนลงทุนเฟส 2 ที่จะมีการขยายอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ การขยายลานจอดอากาศยาน การปรับปรุงระบบถนนภายในท่าอากาศยาน และการก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์และอาคารสำนักงาน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 ทำให้สนามบินเพิ่มการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 18 ล้านคนต่อปี

ด้าน "โครงการพัฒนาสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย วงเงินราว 5 พันล้านบาท มีแผนเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 3 หลุมจอด การปรับเปลี่ยนเส้นทางการขับอากาศยาน การก่อสร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2565 ทำให้สนามบินรองรับผู้โดยสารได้เป็น 3 ล้านคนต่อปี และ "โครงการพัฒนาสนามบินหาดใหญ่" วงเงินราว 1.5 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างทางขับขนาน การก่อสร้างขยายลานจอดอากาศยาน การปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังปัจจุบัน การก่อสร้างอาคาร ผู้โดยสารหลังใหม่ การปรับปรุงระบบถนนภายในท่าอากาศยาน การก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ และการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573 ทำให้สนามบินรองรับผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนต่อปี

เล็งศึกษาสร้างสนามบินใหม่

ไม่เพียงแต่การลงทุนตามแผนแม่บทในสนามบิน 6 แห่ง ตามโจทย์อัลติเมต เฟส เท่านั้น ทอท.ยังมองหาทำเลในการลงทุนสร้างสนามบินใหม่ เพื่อใช้เป็นทางเลือกในการลงทุนของทอท.ในอนาคต หรือ Airport Site Selection ที่ขณะนี้เพิ่งจะเริ่มดำเนินการศึกษา ใน 3 พื้นที่ คือ พื้นที่ภาคใต้และภาคเหนือ ซึ่งในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ มองไว้ว่าจะอยู่ที่จังหวัดพังงา (ข้ามสะพานสารสิน) เนื่องจากมีที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่ ทอท.สามารถขอเช่าทำสนามบินได้ เพราะมีพื้นที่ซึ่งสามารถก่อสร้างรันเวย์ 4 กิโลเมตร และอยู่ไม่ไกลจากสนามบินภูเก็ต ส่วนภาคเหนือมองไว้ที่จังหวัดลำปาง ที่มี 2 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ในส่วนที่จังหวัดลำปาง เสนอพื้นที่ขึ้นมา อยู่ห่างจากจ.เชียงใหม่ราว 70 กิโลเมตร และอีกพื้นที่ คือ บริเวณจ.ลำพูน พื้นที่จะอยู่ห่างจากจ.เชียงใหม่ออกไป 30 กิโลเมตร ที่ทอท.ศึกษาไว้อยู่ แต่จะเลือกลงทุนเพียงที่ใดที่หนึ่ง

ต่อเรื่องนี้นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือ ทอท. กล่าวว่า การที่ทอท.เริ่มศึกษา Airport Site Selection เพราะจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการพัฒนาสนามบินในอนาคต เพราะมีหลายคำถามที่ต้องหาทางออกรอไว้ อย่าง หากแผนแม่บทพัฒนาสนามบินภูเก็ต ขยายเต็มศักยภาพสูงสุด 18 ล้านคนต่อปีแล้ว จะขยายไปทางไหนได้อีก ที่ผ่านมามีการเสนอแนวคิดเรื่องของการตัดเขา และถมทะเล แต่เรื่องเหล่านี้คงต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล แต่ผมก็มองว่าไม่ง่าย เพราะมีเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรที่อ่อนไหวในการลงทุน เราจึงมองทางเลือกในการหาทำเลศักยภาพที่สามารถลงทุนสร้างสนามบินแห่งใหม่ ที่ไม่ไกลจากสนามบินเดิมรองรับไว้ด้วย

ทั้งหมดเป็นทิศทางการพัฒนาสนามบินที่จะเกิดขึ้นของทอท.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559