ค่ายรถประเมินตลาดครึ่งปีหลัง หวั่น Brexit กระทบไทยทางอ้อม

05 ก.ค. 2559 | 07:00 น.
อีซูซู ชี้ตลาดรถยนต์เริ่มฟื้นตัว เล็งปรับเป้าหมายยอดขายเพิ่มขึ้น ด้านมิตซูบิชิหวั่นปัจจัยภายนอก Brexit กระทบไทยทางอ้อม ขณะที่ฮอนด้าและเอ็มจี มั่นใจปัจจัยบวกช่วยหนุนตลาดรถในไตรมาส 3 - 4

นาย โทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชร อีซูซุ เซลส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์อีซูซุในไทย เปิดเผยว่า ยอดขายตั้งแต่ มกราคม – พฤษภาคม 2559 ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดรถปิคอัพ ทำให้บริษัทมีการปรับเป้าประเมินใหม่ จากเดิมที่คาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์จะมียอดขาย 7.2 แสนคัน ก็ปรับขึ้นเป็น 7.5 แสนคัน ขณะที่เป้าหมายของอีซูซุ เดิมตั้งไว้ที่ 1 แสนคัน ก็คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1.15 แสนคัน

"ตลาดเติบโตเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดย 5 เดือนแรกของปีเรามีการขาย 61,119 คัน เพิ่มขึ้น 4.6 % จากปี 2558 ที่มียอดขายช่วงเดียวกัน 58,448 คัน และมีส่วนแบ่งทางการตลาด 20.2% "

นายมาเอคาวะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านตลาดส่งออกในปีนี้ คาดว่าตลาดลาวและกัมพูชา ซึ่งเพิ่งจะเริ่มเข้าไปดำเนินงานเมื่อเร็วๆนี้ จะมียอดเติบโต แต่ในภาพรวมของการส่งออกทั้งหมดอาจจะไม่ดีเท่าไรนัก เนื่องจากตะวันออกกลาง ,อเมริกากลาง-ใต้ และยุโรป มีปัญหา ซึ่งทั้งหมดถือเป็นตลาดหลักที่อีซูซุทำการส่งออกไป อย่างไรก็ตามยังไม่ได้มีการปรับเป้าหมายยอดส่งออกแต่อย่างใด โดยยังคงตั้งไว้ที่ 185,000 คัน

"เรายังคงรอดูสถานการณ์ต่างๆอย่างใกล้ชิด เพราะปัญหาเพิ่งเกิดขึ้น โดยเฉพาะที่อังกฤษ ซึ่งปัจจัยที่กังวลคือสถาบันการเงินจะได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้หรือไม่ เพราะหากกระทบก็จะทำให้ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้นยังมีปัจจัยอื่นๆไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าเงิน ,การส่งออก ,การท่องเที่ยว "

ด้านนาย โมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ยอดขาย ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2559 ทำได้ 24,484 คัน เติบโต 22.9 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ขายได้ 19,926 คัน โดยครองส่วนแบ่งการตลาด 8.6% เพิ่มขึ้น 1.7 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 6.9 %

ขณะที่ยอดส่งออกของมิตซูบิชิในปีงบประมาณ 2558 (เมษายน 2558 – มีนาคม 2559 ) มียอดรวม 302,404 คัน แบ่งเป็นรถยนต์สำเร็จรูป 280,764 คัน และซิ้นส่วน 21,640 คัน โดยสัดส่วนดังกล่าวลดลง 5.5%

นายชกกิ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯยังไม่มีการปรับเป้าหมายการขายในประเทศและการส่งออก เนื่องจากยังมีปัจจัยบวกอาทิ ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ทำให้เป็นประโยชน์ต่อการส่งออก และราคาพืชผลทางการเกษตรเริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นกังวลประกอบไปด้วย หนี้ภาคครัวเรือน ,ความเข้มงวดของสถาบันการเงิน รวมไปถึงปัจจัยภายนอกอย่าง การที่อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป หรือ อียู เนื่องจากเศรษฐกิจของยุโรปมีความอ่อนไหว และประเทศในกลุ่มยุโรปเป็นตลาดใหญ่ของการส่งออกสินค้าจากไทย เช่นเดียวกับจีนก็มีการส่งออกไปยังยุโรป ซึ่งหากจีนได้รับผลกระทบดังกล่าว ก็อาจจะสะท้อนกลับมายังไทย เพราะจีนเป็นตลาดหลักในการส่งออกของไทยเช่นเดียวกัน

"ครึ่งปีแรกตลาดลดลงเล็กน้อยประมาณ 2% คาดว่าในไตรมาส 4 จะเริ่มฟื้นตัว เพราะราคาพืชผลทางการเกษตร และนโยบายรถคันแรกที่จะสิ้นสุดระยะเวลาการถือครอง 5 ปี โดยบริษัทฯยังคงยึดเป้าหมายส่วนแบ่งทางการตลาดที่ตั้งไว้คือ 9%"

ด้านนายสมภพ ปฏิภานธาดา ผู้จัดการทั่วไปส่วนการตลาด บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ค่อยๆฟื้นตัว โดยเฉพาะในกลุ่มรถเพื่อการพาณิชย์ที่เติบโต ซึ่งหากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ ก็คาดว่าตลาดรถยนต์รวมอาจจะดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตามฮอนด้ายังประเมินตลาดรวมไว้ที่ 7.4 แสนคัน ขณะที่เป้าหมายของฮอนด้าในปีนี้คือ 1.1 แสนคัน

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อภาพรวมอุตสาหกรรมได้แก่ กำลังซื้อของผู้บริโภคที่เริ่มส่งสัญญาณที่ดี ประกอบกับการเปิดตัวรถรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดของบริษัทฯผู้ผลิต ซึ่งฮอนด้าก็มีแผนที่จะเปิดรถรุ่นใหม่ในเร็วๆนี้ ส่วนรถคันแรกที่จะครบรอบเงื่อนไขการถือครอง 5 ปี ก็จะมีลูกค้าบางส่วนที่ตัดสินใจซื้อรถรุ่นใหม่ ด้านปัจจัยเสี่ยงก็อาจจะเป็นเศรษฐกิจโลก ที่ยังคงประเมินสถานการณ์ลำบาก โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดจากอังกฤษถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งประเด็นดังกล่าวนี้ยังไม่มีความชัดเจน

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถยนต์ในครึ่งปีหลังน่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก โดยรถขนาดเล็กมีโอกาสที่จะเติบโต เช่นเดียวกับรถปิคอัพ ที่มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยปัจจัยบวกที่จะมาสนับสนุนประกอบไปด้วยเงินอัดฉีดจากภาครัฐฯที่จะเข้ามาในระบบประมาณไตรมาส 3 – 4 และการแข่งขันทางด้านแคมเปญจากผู้ผลิต ที่จะเป็นส่วนกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อ โดยคาดว่ายอดขายตลาดรวมน่าจะใกล้เคียงกับ 8 แสนคัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559