ค้ายุโรปมึนค่าเงินไม่นิ่ง ‘อัญมณี-ไก่แปรรูป’ถูกชะลอออร์เดอร์-ต่อรองราคา

30 มิ.ย. 2559 | 01:00 น.
อังกฤษทิ้งอียูกระทบไทยชัด "อัญมณี-ไก่แปรรูป"ถูกชะลอออเดอร์-ต่อรองราคาผู้ผลิตไก่ฯผวาดัตช์-โปแลนด์ชงยุโรปจัดสรรโควตาใหม่ลดนำเข้าจากไทย ส่งออกข้าวไปแอฟริกากระทบทางอ้อม จับตาตลาดเงินไม่นิ่งมีสิทธิ์ยูโร/ปอนด์ดิ่งลงอีกเอื้อทุนไทยไล่ช็อปโรงแรม สินค้าจากเมืองผู้ดีราคาถูกลง สมาคมฯทูน่าไทยมองเป็นโอกาสต่อรองลดภาษีนำเข้าเล็งเปิดเสรีการค้าครั้งใหญ่

จากผลประชามติช็อคโลก (Brexit))ที่ฝ่ายสนับสนุนให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป(อียู) ชนะผลโหวตเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกถึงผลกระทบที่จะตามมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวของโลกรวมถึงประเทศไทย แม้จากนี้อังกฤษต้องใช้เวลาอีก2 ปี ในการผ่านขั้นตอนลงมติในรัฐสภาของยุโรปเพื่อออกจากอียู แต่จากที่"ฐานเศรษฐกิจ"ได้ตรวจสอบผลกระทบที่ตามต่อภาคส่วนต่างๆ ของไทย พบได้บังเกิดผลที่เป็นรูปธรรมแล้วในหลายด้าน

อัญมณีกระทบเต็มๆ

นายสุทธิพงษ์ ดำรงสกุล นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ล่าสุดส่งผลให้คำสั่งซื้อ หรือออเดอร์สินค้าอัญมณีฯจากไทยของตลาดอียู ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 25% ของการส่งออกในภาพรวมชะลอตัวอย่างชัดเจนผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต่างรอดูผลที่จะตามมา รวมทั้งค่าเงินปอนด์ และยูโรจะเป็นไปในทิศทางใด คาดจะใช้เวลา2 สัปดาห์หรือ 1 เดือนจึงจะมีความชัดเจนในเรื่องคำสั่งซื้อต่อไป อย่างไรก็ดีในปีนี้หากสินค้าอัญมณีสามารถส่งออกไปทั่วโลกได้ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมาที่ประมาณ 3.5 แสนล้านบาทก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว จากเดิมตั้งเป้าขยายตัวปีนี้ที่ 5%

เช่นเดียวกับนายสุริยน ศรีอรทัยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิวตี้เจมส์ จำกัดที่กล่าวว่า การออกจากอียูของอังกฤษ กระทบค่าเงินของโลกเกิดความผันผวน ส่งผลให้คนหันถือครองทองคำมากขึ้น และมีผลให้ราคาทองคำที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องประดับทองปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยเวลานี้อยู่ที่ระดับ 1,350-1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ มีผลให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ ซ้ำเติมลูกค้าที่ชะลอคำสั่งซื้ออยู่แล้วตามภาวะเศรษฐกิจโลก

หวั่นอียูหั่นโควตาไก่ใหม่

สอดคล้องกับนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไกเพื่อส่งออกไทย ระบุว่า ช่วงนี้ส่งผลให้สินค้าไก่นำเข้าจากไทยของอังกฤษและอียูมีราคาสูงขึ้น และถูกต่อรองราคาลงในคำสั่งซื้อใหม่ ซึ่งจะมีผลให้ราคาไก่ถูกลงอีก เพราะอีกด้านหนึ่งบราซิล หนึ่งในผู้ส่งออกไก่รายใหญ่เข้าอียู และมีต้นทุนที่ถูกกว่าไทย ก็พร้อมที่จะลดราคาลงอีกเพื่อแย่งตลาด เฉพาะอย่างยิ่งตลาดอังกฤษซึ่งเป็นตลาดใหญ่สุดของไทยในอียู ที่แต่ละปีมีการนำเข้าเฉลี่ยถึงปีละ 1.4 แสนตัน

ที่ต้องจับตาจากนี้คือโควตานำเข้าไก่ของอียูที่ให้กับไทยจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่(อียูให้โควตาภาษีนำเข้าสินค้าไก่แปรรูปและไก่สดแช่แข็งแก่ไทย 2.52 แสนตัน/ปี และอียูเป็นตลาดส่งออกไก่ไทยสัดส่วนกว่า 40%) เพราะเนเธอร์แลนด์ และโปแลนด์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตไก่ในอียู อาจเรียกร้องให้มีการจัดสรรโควตาใหม่ โดยให้นำเข้าจากในกลุ่มอียูมากขึ้น

ทูน่าเล็งเจรจาผู้ดีลดภาษี

ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวว่า หลายฝ่ายจับตาจะโหวตใหม่หรือไม่ และนโยบายด้านต่างๆ ของอียูต่ออังกฤษจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อย่างไรก็ดีในส่วนของสินค้าทูน่ากระป๋องของไทยที่ส่งไปจำหน่ายในอียูสัดส่วน 7-8% ของการส่งออกทูน่าในภาพรวมของไทย ในจำนวนนี้มีตลาดใหญ่ที่อังกฤษสัดส่วนถึง 25% มองว่าการที่อังกฤษออกจากอียูจะส่งผลดีเป็นโอกาสให้ไทยได้เจรจาต่อรองให้ลดภาษีนำเข้าทูน่ากระป๋องจากไทยลง จากที่ปัจจุบันอียูยังเก็บภาษีนำเข้าที่ 24% มองว่าอนาคตอังกฤษจะเปิดเสรีทางการค้าหรือลดภาษีนำเข้าสินค้าครั้งมโหฬารเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค

ทุบส่งออกข้าวไทยไปแอฟริกา

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวเช่นกันว่า ขณะนี้ เนื่องจากค่าเงินผันผวนมากและทำให้สถานการณ์ค่าเงินในยุโรปปั่นป่วนไปด้วยซึ่งทำให้กระทบต่อการส่งออกข้าวไปในตลาดแอฟริกา เนื่องจากการซื้อขายข้าวในประเทศแอฟริกา กว่า 90% เป็นการซื้อขายผ่านเทรดเดอร์ของยุโรปที่ประสบปัญหาค่าเงินผันผวน ขณะที่ตลาดแอฟริกาคิดสัดส่วน 42% ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมดและยังมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกซึมต่อซึ่งกระทบต่อราคาน้ำมันที่โอกาสจะปรับเพิ่มขึ้นยาก ทำให้กระทบต่อกำลังซื้อลูกค้า ดังนั้นความหวังในการข้าวตอนนี้จะเน้นตลาดในเอเชียมากขึ้น เช่น จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียเป็นหลัก

ผู้ซื้อ-ผู้ขายจ่อปรับราคาใหม่

นายภราดร จุลชาต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าหากมองภาพใหญ่เวลานี้สิ่งที่เกิดขึ้นคืออัตราแลกเปลี่ยนผันผวนหลังเกิดเบร็กซิท เงินปอนด์ เงินยูโรอ่อนค่าลง ถ้ายังมีแนวโน้มเป็นแบบนี้ต่อไป สินค้าส่งออกของไทยจะกระทบ เนื่องจากมีสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ผลิตอยู่ในยุโรปตะวันออกจำนวนมากค่าเงินจะอ่อนค่า ราคาสินค้าจะถูก ผู้ผลิตไทยจะแข่งขันได้ก็ต้องลดราคาลงมาอีก

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจากนี้ไป ผู้ซื้อกับผู้ประกอบการที่ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก ก็ต้องมาหารือกันถึงแผนการปรับออเดอร์ และปรับราคาตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะกระแสความไม่แน่นอนจากกรณีอังกฤษจะออกจากอียูหรือไม่ยังไม่ชัดเจนถึงที่สุด จะต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ทำให้ความค่าเงินไม่นิ่งและผันผวน

"นับจากนี้ไปยังไม่รู้ว่าใครจะแยกตัวออกมาจากอียูอีก ทำให้ผู้ประกอบการไทยจะต้องกลับมาดูเรื่องการบริหารความเสี่ยง"

จับตาค่าเงินรายวัน

ด้านนายพีระพล วิไลวงศ์เสถียร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการบริหารบริษัทสตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือSMT ผู้ดำเนินธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินเพื่อส่งออก 100% กล่าวว่ากรณีเบร็กซิท ในระยะสั้นนี้ไม่มีผลต่อธุรกิจ แต่สิ่งที่ได้รับผลกระทบจากกระแสดังกล่าวแล้วคือความผันผวนของค่าเงิน ผู้ประกอบการจึงต้องบริหารความเสี่ยงให้ดีรวมถึงติดตามความผันผวนของค่าเงินในแต่ละวันอย่างต่อเนื่อง

แนะหาตลาดใหม่ลดเสี่ยง

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานงานส่งเสริมด้านการลงทุน ส.อ.ท. กล่าวว่าทันทีที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าลงก็ทำให้ราคาสินค้าที่เจรจากันไว้อาจต้องปรับราคากันใหม่ โดยไทยต้องลดราคาลง ไม่เช่นนั้นแล้วคู่ค้าอาจไปสั่งซื้อจากที่อื่นแทนได้ในสินค้าบางรายการ อย่างไรก็ตามในช่วง1-2 ปีนี้ยังเป็นช่วงโกลาหล เกิดการต่อรอง และอาจทำให้ประเทศอื่นๆออกจากอียูตามอังกฤษได้ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องทำในช่วงนี้ให้มากขึ้นคือการตื่นตัวในการหาตลาดใหม่ทดแทน เพื่อกระจายความเสี่ยง

กระทบศก.ไทย 0.1%

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึงผลกระทบการออกจากสมาชิกอียูของอังกฤษ ส่งผลต่อกำลังซื้อของทั่วโลกและส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 0.1 %ทำให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี ตามคาดการณ์ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในครึ่งปีหลังขยายตัวลดลงจากเดิมคาดการณ์ขยายตัว3.3% เหลือเพียง3% และทั้งปีจีดีพีขยายตัวลดลงเหลือประมาณ 2.9 % ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มอีกอย่างต่ำ 2-5 หมื่นล้านบาท นอกเหนือจากเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะเข้าสู่ระบบในปีนี้ 3-4 แสนล้านบาท เพื่อดันให้เศรษฐกิจไทยทั้งปีขยายตัวได้3.2-3.5% ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้

ประเมินภาคการเงินโลกยังไม่นิ่ง

ดร.จิติพล พฤกษาเมธารัตน์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีให้ความเห็นโอกาสและผลกระทบ "เบร็กซิท" ต่อเศรษฐกิจไทยว่า ในส่วนตลาดเงินนั้น ถ้าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวหนักในไตรมาสที่3 เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าถึง 36บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก อย่างไรก็ตามจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและเศรษฐกิจยุโรป ที่ชะงักจากปัญหาดังกล่าว หากเกิดผลกระทบรุนแรง จะทำให้ค่าปอนด์และยูโรอาจอ่อนค่าถึง1ดอลลาร์ต่อยูโรและ1.2ดอลลาร์ต่อปอนด์ ภายในสิ้นปี2559

"มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อาจทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้อีกครั้ง โดยที่อีซีบีและบีโอเจอาจต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มถ้าเศรษฐกิจยุโรปหดตัวหรือเงินเยนแข็งค่ามากเกินไป ทั้งนี้เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอตัวต่อส่งผลให้ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลงอีกอีก 5-10% และอาจกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก"

สำหรับโอกาสนั้นค่าเงินตลาดเกิดใหม่และดอลลาร์สหรัฐอาจเป็นแหล่งพักเงินให้นักลงทุนในช่วงเงินปอนด์และยูโรได้รับแรงกดดันจากเบร็กซิทโดยค่าเงินเยนมีโอกาสแข็งค่าขึ้นถึง 100เยน/ดอลลาร์สหรัฐอย่างไรก็ตามช่วงที่ตลาดมีความเสี่ยงสูงสินทรัพย์ปลอดภัยจะกลับมาโดดเด่น โดยเฉพาะตราสารหนี้จะเป็นที่สนใจของตลาดเช่นดียวกับทองคำ

ชี้ปอนด์อ่อนเอื้อซื้อโรงแรมถิ่นผู้ดี

นายกฤษน์ ศรีชวาลาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟิโก้ คอร์ปอเรชั่น จำกัดเปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การโหวตให้อังกฤษออกจากอียูมองว่าเป็นผลดีต่อภาคอสังหาริมทรัยพ์ที่มีแผนจะลงทุนในประเทศอังกฤษ จะได้รับประโยชน์จากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าลง ซึ่งฟิโก้ฯ กำลังมองหาการซื้อกิจการโรงแรมในอังกฤษและยุโรปอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเอง หรือจะร่วมลงทุนกับทางสิงห์เอสเตท เพื่อขยายการลงทุนเพิ่มเติม

ส่วนผลกระทบระยะสั้นคนอาจจะตกใจ เกิดความผันผวนอยู่บ้าง แต่ในแง่ของการลงทุน และคนที่จะไปใช้บริการธุรกิจ ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร นอกจากนี้ในส่วนของธุรกิจโรงแรมมองว่าไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากของเรากว่า 90% ลูกค้าเป็นคนในพื้นที่ ส่วนในแง่ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ค่าเงินปอนด์ที่ถูกลงก็เป็นผลดีในการเดินทางเที่ยวอังกฤษและยุโรป ปัจจุบันฟิโก้ฯ มีโรงแรมในสหราชอาณาจักรรวม 29 แห่งเป็นการร่วมลงทุนในสัดส่วน 50:50 กับทางสิงห์เอสเตท 26 แห่งรวม 2,800 ห้องภายใต้แบรนด์เมอร์เคียว (โรงแรมระดับ 3.5 ดาว) และเป็นโรงแรมที่ฟิโก้ลงทุนเอง 100% อีก 3 แห่ง

ด้านนายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัทโรงแรมเซ็นทรัล พลาซ่า จำกัด (มหาชน)หรือCENTEL กล่าวว่าที่ผ่านมา CENTEL ก็มองโอกาสในการเข้าไปซื้อโรงแรมในอังกฤษมาพอสมควรแล้ว และในขณะนี้มองว่าการอ่อนค่าของเงินปอนด์ หลังการทำเบร็กซิท ก็เป็นโอกาสให้เราได้มากขึ้น จากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยน

แฟชั่น-ความงามเมคอินUKถูกลง

นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้งกรุ๊ป หรือซีเอ็มจี เปิดเผยว่า การออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ของกลุ่มสหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ เวลล์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือนั้น เบื้องต้นประเมินว่าจะทำให้ราคาสินค้าที่นำเข้ามาถูกลงอย่างแน่นอนจากค่าเงินที่ผันผวน ซึ่งปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นเสื้อผ้า ความงาม และไลฟ์สไตล์จากอังกฤษจำนวน 5 แบรนด์ ได้แก่ H&M . ท็อปแมน , ซาร่า , แมงโก้ รวมถึงมาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ (M&S) ซึ่งเป็นของบริษัทในเครือเช่นกัน

"เงินปอนด์อ่อนค่าลงเท่าไหร่ จะยิ่งส่งผลดีต่อสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดีขณะนี้การออเดอร์จะสั่งซื้อสัปดาห์ต่อสัปดาห์ไม่มีการสต็อกสินค้า ดังนั้นออเดอร์รอบใหม่ในสัปดาห์หน้าราคาจะลดลงทันที แบรนด์จากอังกฤษอื่นๆ ก็เช่นกัน ซึ่งถิอว่าว่าเป็นโอกาสของผู้บริโภค"

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559