เซียนแนะนักลงทุนจัดพอร์ตสมดุลลดเสี่ยง

01 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
เหตุการณ์ “แบล็กฟรายเดย์”กรณีตลาดเงิน ตลาดทุนทั่วโลกปั่นป่วนเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน2559 ซึ่งเป็นผลจากภาวะช็อก กรณีอังกฤษโหวตออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท สำหรับทิศทางการลงทุนหลังจากนี้ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น อีกทั้งนักวิเคราะห์ทั่วโลกประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) มีโอกาสไม่ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้

"ฐานเศรษกิจ"ได้สำรวจผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน สำหรับคำแนะนำในการจัดสรรเงินหรือจัดพอร์ตลงทุน ดังต่อไปนี้

 หุ้นปันผล-กองรีทส์-ทองคำ พระเอก

มุมมองของ"คมศร ประกอบผล" หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ มองว่า ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเบร็กซิท ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อไป ดังนั้นสินทรัพย์ที่เหมาะแก่การลงทุน คือ กองรีทส์ หุ้นปันผล และทองคำ โดยมองว่ารีทส์ญี่ปุ่นได้ประโยชน์ (ดูตารางประกอบ)

ส่วนการลงทุนในหุ้นตลาดเกิดใหม่จะมาแรง ให้น้ำหนัก ตลาดหุ้นอินเดียอันดับหนึ่ง ด้วยเหตุผล ได้รับผลกระทบน้อยจากเบรกซิท ขณะที่เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ส่วนหุ้นไทย น่าสนใจอันดับ 2

"ทองคำ" ลุ้นอัพไซด์ 12 %

มาที่"ทองคำ" ซึ่งถูกฟันธงไปเรียบร้อยแล้วว่าเป็นหลุมหลบภัยชั้นดีในสถานการณ์ปัจจุบัน แม้แต่พ่อมด"จอร์จ โซรอส" และกองทุนยักษ์ชื่อก้องโลก SPDR ก็เดินหน้าซื้อเข้าพอร์ตต่อเนื่อง ขณะที่ราคาทองคำโลกวิ่งทำนิวไฮ 1,324.10 ดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2559

"พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลียน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ทองคำยังเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับปีนี้ทั้งปี ที่สำคัญคือ ยังเป็นสินทรัพย์ที่มองว่าจะให้ผลตอบแทนสูงที่สุดเมื่อเทียบสินทรัพย์ประเภทอื่น โดยให้กรอบราคาไตรมาส 3 ที่ 1,250-1,350 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนช์ นอกจากนี้นักวิเคราะห์ทองคำต่างประเทศมองว่าปีนี้จะได้เห็นปรับขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1,400 ดอลล์ (เทียบระดับสูงสุดกับต่ำสุด มีส่วนต่าง 12%)

ขณะที่"พวรรณ์"เตือนว่า ราคาทองคำจากนี้จะผันผวนแรง นักลงทุนี่ชอบเสี่ยงสูงอาจจะชอบลงทุนในเวลานี้ แต่ก็มีอัพไซด์เกน หรือส่วนต่างราคาสูงมากเช่นกันเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในทองคำแนะนำให้ยึดหลัก 2 ข้อ คือ ติดตามข่าว และศึกษาปัจจัยเทคนิค ก็น่าจะทำกำไรได้ดีกว่าสินทรัพ์อื่น

หุ้นไทย 1,350 -1,380 จุด โอกาสซื้อ

สำหรับหุ้นไทย "ชวินดา หาญรัตนกูล" กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) คาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโอกาสปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1,350 -1,380 จุด ซึ่งจะเป็นโอกาสในการเข้าซื้อ

สอดคล้องกับ"วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล " กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล. )ทรีนิตี้ จำกัด (มหาชน) ที่กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยสะท้อนกรณีเบร็กซิท ไปมากแล้ว แต่ยอมรับว่ายังคงมีความไม่แน่นอนว่าจะมีการทำประชามติใหม่หรือไม่นั้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงมีความผันผวน แต่เชื่อว่าหากดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรงจะมีแรงซื้อกลับเนื่องจากส่วนต่างผลตอบแทนเงินปันผลสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ทำสถิติสูงสุดในรอบ 2 ปี หรือประมาณกว่า 2% ส่งผลให้นักลงทุนนำเงินฝากมาลงทุนในหุ้นมากขึ้น

ลงทุน"ตราสารหนี้"ดูค่าเงินด้วย

ด้านตราสารหนี้ "ชวินดา" กล่าวว่า ตราสารหนี้ต่างประเทศ พันธบัตรภาครัฐจะได้ผลบวก จากนักลงทุนหลีกความเสี่ยง แต่ต้องพิจารณาค่าเงินประกอบ แต่จะมีความเสี่ยงด้านเครดิตเพิ่มขึ้น ต้องระมัดระวังการลงทุนในกลุ่มไฮยีลด์ และ ระยะสั้นสำหรับหุ้นกู้เอกชน

ส่วนตราสารหนี้ไทย ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก จะทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำไปอีกนาน ซึ่งจะเป็นผลบวกกับตราสารหนี้ แต่ยังเผชิญความผันผวนจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างประเทศ

มาที่สินทรัพย์ทางเลือก ประกอบด้วย น้ำมัน กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ และค่าเงินจะได้รับผลกระทบจากเบร็กซิท และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า และต้องติดตามประเมินผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ในระยะสั้นจะเผชิญความผันผวน โดยเฉพาะราคาอสังหาริมทรัพย์ในตลาดพัฒนาแล้ว หากราคาปรับตัวลดลง จะเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน เนื่องจากยังเป็นกลุ่มที่มีโอกาสสร้าง ผลตอบแทนที่ดีกว่าสินทรัพย์ทางเลือกอื่น

ลดน้ำหนักหุ้น"ยุโรป-ญี่ปุ่น"

"ชยนนท์ รักกาญจนันท์" กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) อินฟินิติ จำกัด แนะนำ ให้ปรับลดพอร์ตการลงทุนในยุโรป และญี่ปุ่นลง เนื่องจากความไม่แน่นอนหลังเกิดเหตุการณ์เบร็กซิท มีสูงขึ้น ส่วนญี่ปุ่นกระทบตรงๆเมื่อค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและทำให้ภาคการส่งออกชะลอตัวลง

สอดคล้องกับ "ชวินดา หาญรัตนกูล" แนะนำให้หาจังหวะลดพอร์ตการลงทุน โดยในระยะสั้นให้ดูปฎิกริยาของ ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งคาดว่าจะมีมาตรการระยะสั้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด และค่าเงินยูโรจะอ่อนค่าจากความไม่เชื่อมั่นต่อการคงอยู่ของกลุ่มยูโรโซน

ส่วนญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากค่าเงินเยนแข็งค่า และกระทบในเชิงจิตวิทยาจากการเป็นคู่ค้าสำคัญของกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งค่าเงินเยนแข็งค่าเร็วและมากเกินไป คาดหวังมาตรการจากภาครัฐเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด ซึ่งขณะนี้ราคาหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลงมากเกินไป ยังแนะนำให้รอทิศทางที่ชัดเจนของตลาด

ตลาดหุ้นจีน ได้รับผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจในฐานะประเทศคู่ค้า แต่ระยะสั้นจะได้รับผลกระทบจำกัดจากเบร็กซิท โดยในระยะสั้นเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นจากมาตรการรัฐ แต่มีแนวโน้มที่ค่าเงินหยวนอ่อนค่า

ตลาดหุ้นอินเดีย ในระยะสั้นถูกกระทบในเชิงจิตวิทยา และอินเวสเมนท์ โฟลว์ จากนักลงทุนต่างประเทศ พื้นฐานเศรษฐกิจยังดี และอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ความสามารถในการทำกำไรปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายลง หากตลาดปรับลดลงในระยะสั้น เป็นจังหวะในการเข้าซื้อ

จัดพอร์ตสมดุลย์ ปลอดภัยสุด

สำหรับการจัดพอร์ตในสถานการณ์ปัจจุบัน "ชยนนท์" แนะนำว่า ให้มุ่งเน้นการจัดแบบสมดุล (Balanced Portfolio) ดังนี้ ลงทุนในหุ้น 30% แยกเป็น หุ้นไทย 10% ,หุ้นอินเดีย 10% จีน 5% และยุโรป 5%

การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก ให้ลงทุนในสัดส่วน 50% แบ่งเป็นทองคำ15% ,ลงทุนยาวสลับสั้น 10% , ลงทุนตามแนวโน้ม (Trend Following) 10% ,ลงทุนแบบมหภาค(Macro) 10% และลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือรีทส์ สัดส่วน 5%

ส่วนที่เหลืออีก 20% ให้ลงทุนในตราสารหนี้ โดยแบ่งเป็นกองทุนตลาดเงิน 10% และตราสารหนี้ระยะกลาง 10%

"การจัดพอร์ตการลงทุนในรูปแบบดังกล่าวนี้หากตลาดหุ้นโลกเป็นขาขึ้น เช่น ปรับขึ้น 20% กลยุทธ์นี้จะทำให้ผลตอบแทนโตน้อยว่าประมาณ 10+/-2% แต่หากตลาดหุ้นโลกเป็นขาลง เช่น ติดลบ 20% กลยุทธ์นี้จะเน้นรักษาเงินลงทุนผลตอบแทนเป้าหมาย 0+/-2% โดยคาดการณ์ผลตอบแทนจากพอร์ตนี้ประมาณ 8-9% ต่อปี"

สำหรับหุ้นไทย ในปีนี้บลน.อินฟินิติ คาดการณ์ดัชนีมีโอกาสทดสอบระดับ 1,450-1,500 จุดในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ในส่วนของราคาทองคำนั้น คาดการณ์ว่าในช่วงปลายมีโอกาสทดสอบที่ 1,380-1,400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์

ทั้งหมด คือ คู่มือการลงทุนหลังเบร็กซิท ที่เป็นคำแนะนำจากมืออาชีพด้านการลงทุน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559