โหมแคมเปญท่องเที่ยวเชิงเกษตร ปั๊มรายได้อาหาร-ผลไม้1.2หมื่นล้าน

02 ก.ค. 2559 | 11:00 น.
เกษตรปลื้มหลังเซ็นเอ็มโอยู ก.ท่องเที่ยว โหมโรงเร่งแคมเปญเชื่อมท่องเที่ยวเชิงเกษตร ในโครงการ "Amazing Thai Tast" รับหน้าเสื่อเคาะแผนโปรโมทอาหาร-ผลไม้ไทยตามฤดูกาลแล้ว หวังปั๊มรายได้ในภาคเกษตรพุ่ง 1.2 หมื่นล้าน จากนักท่องเที่ยว 32 ล้านคนต่อปี ยังไม่นับรวมรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินผ่านสนามบิน 110 ล้านคนต่อปี

[caption id="attachment_66881" align="aligncenter" width="700"] แผนประชาสัมพันธ์รับประทานผลไม้ตามฤดูกาลปี 2559 แผนประชาสัมพันธ์รับประทานผลไม้ตามฤดูกาลปี 2559[/caption]

นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อเชื่อมโยงจุดขายไปยังแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่สามารถให้นักท่องเที่ยวได้จับจ่ายซื้อหาสินค้าจากเกษตรกรโดยตรง ไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และอีกด้านหนึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ของสดใหม่จากสวน โดยที่ปัจจุบันภาคการท่องเที่ยวถือว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก เห็นได้จากในปี 2558 สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 2.2 ล้านล้านบาท (โดยกว่า 1.46 ล้านล้านบาทมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ) ทั้งนี้ผลสำรวจปีที่ผ่านมา ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 29.8 ล้านคนและใช้เวลาเฉลี่ยต่อครั้งที่เข้ามาเที่ยวในไทย 9.05 วัน โดยการรับประทานอาหารไทย เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมสูงสุด ซึ่งจะมีค่าใช้จ่าย ด้านอาหาร 3,762 บาทต่อคนต่อทริป อย่างไรก็ตามยังถือว่าอยู่ต่ำอยู่หากเทียบกับกิจกรรมอื่น

"คาดการร์ว่าปี 2559 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้นเป็น 32 ล้านคน ดังนั้นหากสามารถเพิ่มยอดค่าใช้จ่ายในการทานอาหารต่อทริปขึ้นได้เพียง 10% น่าจะช่วยส่งผลให้รายได้ประเทศเพิ่มขึ้นอีก 1.2 หมื่นล้านบาท ตัวเลขนี้ยังไม่รับรวมถึงรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านสนามบินประมาณ 110 ล้านคนต่อปีด้วย และนักท่องเที่ยวไทย 148 ล้านคนต่อครั้ง (คนไทยปัจจุบันมี 65 ล้านคน) ภายใต้โครงการ "Amazing Thai Tast"

นายธีรภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมหลักๆ จะมีการประชาสัมพันธ์ อาหารไทย 4 อย่าง ได้แก่ ไตรมาสที่ 3 (ก.ค-ก.ย.) มีแกงเขียวหวาน และส้มตำ ส่วนไตรมาสที่ 4 (ต.ค.-ธ.ค.) จะเป็นแกงมัสมั่น และต้มข่าไก่ ส่วนผลไม้ ในช่วงเดือน กรกฎาคม จะมีทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง สละ เดือนสิงหาคม จะเป็นลำไยและ ลองกอง เป็นต้น (ดูตารางประกอบ) นอกจากนี้ในแผนกิจกรรมเดือนกันยายน 2559 จะมีการจัดงาน "Thai Food Festival" จะขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการโปรโมททุกช่องทาง เช่น โรงแรมและร้านอาหาร เป็นต้น และจะขยายไปยังโรงเรียนสอนทำอาหารไทย ทั้งในและต่างประเทศ โดยโครงการดังกล่าวนี้จะไปสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2560

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับคือ จะเป็นกิจกรรมที่จะส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวรู้จัก และบริโภคอาหารไทยและผลไม้ไทยเพิ่มภาคขึ้น ซึ่งจะสร้างรายได้ต่อยอดให้กับภาคเกษตรได้มากขึ้น ซึ่งการขับเคลื่อนในโครงการ ""Amazing Thai Tast " จะเพิ่มมูลค่าการทานอาหารไทยอีก 1.2 หมื่นล้านบาท หรือ 10% ในปี 2559 อีกด้านหนึ่งจะเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มและยั่งยืน ตามเจตนารมย์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาล

ด้านนายสุรพงษ์ เจียสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยสถานการณ์ผลไม้ในภาคตะวันออกในช่วงเดือนมิถุนายน หลังประสบปัญหาภัยแล้งก่อนหน้านี้ พบว่า ผลไม้ 4 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน มีฝนตก สลับอากาศหนาว อากาศร้อน อากาศเปลี่ยนแปลงรวดเร็วในแต่ละวัน รวมทั้งมีพายุลมแรงกระทบถึง 3 ครั้ง โดยผลผลิตที่ลดลงมากที่สุดคือ เงาะ รองลงมาได้แก่ ทุเรียน มังคุด และ ตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559