ราคานํ้ามันมีโอกาสลงต่อ ได้อานิสงส์อังกฤษทิ้งอียู

30 มิ.ย. 2559 | 07:30 น.
กูรูด้านพลังงานชี้ ราคาน้ำมันยังมีโอกาสปรับลดลง 1-2 ดอลลาร์สหรัฐฯฯต่อบาร์เรลภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จับตาดูผลกระทบหลังอังกฤษออกจากสมาชิกยุโรป อาจทำยอดส่งออกลดลงจากเศรษฐกิจโลกที่ไม่ฟื้นตัวตามคาด ขณะที่ ปตท.ชี้ราคาน้ำมันครึ่งปีหลังยังเฉลี่ย 42-48 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมน้ำมัน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอาจมีโอกาสลดลงอีก 1-2 ดอลลาร์สหรัฐฯฯต่อบาร์เรล ภายในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ ต่อเนื่องจากจากผลกระทบการลงประชามติของอังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ที่ภายหลังจากทราบผลราคาน้ำมันดิบได้ปรับตัวลดลงมา 2-3 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 44-47 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

ส่วนราคาน้ำมันดิบจะลงแรกต่ำกว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลหรือไม่นั้น คงจะไม่เกิดขึ้น เพราะหลังจากตลาดคลายความกังวลต่อเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว และอังกฤษมีแผนที่จะบรรเทาผลกระทบจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบกลับมาดีดตัวอีกได้ ส่วนราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ คาดว่าจะรับผลดีจากราคาน้ำมันดิบที่อาจปรับลดลงในช่วง 1-2 สัปดาห์นี้ อาจลดลงได้ 50-60 สตางค์ต่อลิตร ขณะเดียวกันมองว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อังกฤษออกจากยุโรปมากนัก แต่จะรับผลกระทบทางอ้อมด้านการส่งออกมากกว่า เพราะเศรษฐกิจของบางประเทศอาจไม่ฟื้นตัวรวดเร็วตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ยอดส่งออกของไทยลดลงบ้าง

“ในช่วงราคาน้ำมันผันผวน ภาครัฐจะต้องพิจารณาแนวทางการรับมือราคาน้ำมัน เพราะราคามีโอกาสลดลงหรือกระชากขึ้นได้ ดังนั้นจะดูแลราคาน้ำมันอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่าเหตุการณ์อังกฤษออกจากสมาชิกยุโรปนั้น หากมีแนวทางบรรเทาผลกระทบได้ ก็จะไม่กระทบต่อราคาน้ำมันมากนัก ซึ่งในระยะนี้ราคายังทรงตัวไปก่อน แต่หากเศรษฐกิจรับผลกระทบก็มีโอกาสที่ราคาจะลดลงได้อีก”

ด้านนายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ประเทศไทยคงไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีอังกฤษออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปมากนัก ขณะที่ราคาน้ำมันดิบคงไม่แกว่งตัวมาก ปัจจุบันราคายังอยู่ที่ 44-47 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แนวโน้มครึ่งปีหลังยังประเมินไว้ที่ 42-48 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และประเมินทั้งปี 2559 เฉลี่ย 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แม้ว่าในช่วงนี้ราคาน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตามไม่อยากให้กังวลเรื่องราคาน้ำมันมากนัก เพราะแม้ว่าอังกฤษจะออกจากสมาชิกยุโรปแล้ว แต่กว่าจะแยกตัวชัดเจน คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกไม่ได้เติบโตมากนัก ประกอบกับแหล่งซัพพลายเชลล์แก๊สใหม่ๆก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ส่วนความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในประเทศไทย พบว่าเติบโต 8-9% ในช่วงที่ผ่านมา สาเหตุมาจากความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทดแทนก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ในภาคขนส่ง จากก่อนหน้านี้ราคาก๊าซและน้ำมันห่างกันมาก แต่เมื่อราคาสะท้อนตลาดโลก ทำให้ราคาลงมาใกล้เคียงกัน ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ปตท.ไม่ได้กังวลมากนัก เพราะกำลังการผลิตจากโรงกลั่นน้ำมันในไทยมีเพียงพอ ขณะที่ปริมาณการนำเข้าแอลพีจีก็ลดลงเช่นกัน

สำหรับกรณีคลังแอลพีจีที่เขาบ่อยาส่วนขยาย จากเดิมรองรับได้ 1.3 แสนตันต่อปี เป็น 2.5 แสนตันต่อปี ปัจจุบันอยู่ในช่วงทดสอบ แม้จะได้รับผลกระทบจากปริมาณการนำเข้าแอลพีจีที่ลดลง แต่ ปตท. เตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าวโดยเตรียมนำเข้าแอลพีจีเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังต้องรอความชัดเจนจากทางกระทรวงพลังงานเพื่อเปิดนำเข้าแอลพีจี อย่างไรก็ตามยังมองว่าคลังแอลพีจีส่วนขยายยังมีความจำเป็น เนื่องจากคลังเดิมใช้มาแล้ว 30 ปี จึงจำเป็นต้องมีคลังแห่งใหม่รองรับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559