กลุ่มปตท.ปรับแผนธุรกิจใหม่ รับความเสี่ยงก๊าซฯขาด/น้ำมันราคาต่ำ

03 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
การดำเนินงานของกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ภายใต้แรงกดดันของสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังไม่ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก ส่งผลให้การวางแผนดำเนินงานในช่วงนี้อยู่บนความยากลำบากในการปรับทิศทางการดำเนินงาน

อีกทั้ง ต้องมาเจอกับความไม่แน่นอนของการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ที่กำลังมีตัวแปรสำคัญว่า การประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมแหล่งบงกช ของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมฯ(ปตท.สผ.) และแหล่งเอราวัณ ของบริษัท เชฟรอนฯ ที่จะหมดอายุในช่วงปี 2565-2566 รวมถึงการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 จะเป็นไปตามกำหนดที่ภาครัฐวางไว้ในช่วงกลางปีหน้าหรือไม่ ยิ่งเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับกลุ่มปตท.มากยิ่งขึ้น

[caption id="attachment_66929" align="aligncenter" width="362"] ชาญศิลป์ ตรีนุชกร  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท. ชาญศิลป์ ตรีนุชกร
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น
ปตท.[/caption]

ต่อสถานการณ์ดังกล่าวนี้นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ปตท.ให้สัมภาษณ์ ถึงการเตรียมความพร้อมหรือทางออกกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

เตรียมรับมือก๊าซอ่าวไทยขาด

รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ได้ฉายภาพให้เห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้ก๊าซประมาณ 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็นกำลังการผลิตในประเทศกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนที่เหลือนำเข้าจากเมียนมา และนำเข้าในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) ซึ่งกลุ่มปิโตรเคมีจำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซเป็นวัตถุดิบในการผลิต หากแหล่งก๊าซในอ่าวไทยไม่สามารถผลิตได้ โดยเฉพาะแหล่งบงกชกับแหล่งเอราวัณ ไม่สามารถประมูลได้ตามแผน ทางกลุ่ม ปตท. ก็ได้เตรียมแผนรองรับไว้ 2 แนวทาง

โดยแนวทางแรกคือ เลือกใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีเช่นเดิม ในรูปแบบของก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีทั้ง C3 และ C4 มาเป็นวัตถุดิบแล้วเข้าสู่โรงแครกเกอร์ เพื่อนำไปผลิตเป็นปิโตรเคมีต่อไป โดยทั้งโพรเพน และแอลพีจีมีอยู่ในตลาดสามารถหาซื้อได้ ซึ่งในส่วนนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะปตท.ได้ลงทุนขยายท่าเรือและคลังแอลพีจีแห่งที่ 2 รองรับไว้แล้ว

ส่วนแนวทางที่ 2 เป็นการเลือกใช้แนฟทา ซึ่งมาจากผลิตภัณฑ์น้ำมัน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมี ซึ่งก็ต้องมีการนำเข้ามาส่วนหนึ่ง เนื่องจากกลุ่ม ปตท.มีแนฟทาที่ออกจากกระบวนการกลั่นรวม 1.5 ล้านตันต่อปี แต่ปัจจุบันขายให้กับกลุ่มบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และมีการส่งออก โดยหากใช้แนฟทาเป็นหลักในการผลิตปิโตรเคมีก็อาจจะต้องปรับปรุงหรือสร้างถังเพื่อรองรับต่อไป ซึ่งขณะนี้ทางบริษัท พีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด(มหาชน)หรือพีทีทีจีซี กำลังศึกษาโครงการแนฟทาแครกเกอร์ ขนาดกำลังการผลิตเอทิลีน5 แสนตันต่อปี โพรพิลีน2.61 แสนตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561 และจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2563 ซึ่งโครงการดังกล่าวเตรียมสำหรับรองรับการขยายตัวของปิโตรเคมี และรองรับปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่จะลดลง

“ปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยทยอยลดลง ทางกลุ่ม ปตท.ก็มีความกังวลเช่นกัน เนื่องจากตอนนี้กลุ่มปิโตรเคมีต้องอาศัยก๊าซเป็นวัตถุดิบ ดังนั้นในอนาคตหากปริมาณก๊าซลดลงจริง ก็จะต้องหาแนวทางรองรับ ซึ่งกลุ่มปตท.คงจะเลือกตัดสินใจในแนวทางใดแนวทางหนึ่ง โดยจะพิจารณาทั้งความเหมาะสม ความมีเสถียรภาพ และต้นทุนการผลิต คาดว่าจะตัดสินใจได้ในช่วงปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560 เพื่อรองรับการสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้มีความต่อเนื่อง”

รีดไขมันในกลุ่มลดต้นทุนผลิต

นอกจากนี้ ด้วยภาวะราคาน้ำมันและความไม่แน่นอนของการผลิตก๊าซในอ่าวไทย การลงทุนในกลุ่มธุรกิจดังกล่าว ก็มีความจำเป็นจะต้องมีการปรับกลยุทธ์ใหม่ ตามความเห็นของบอร์ดปตท.ที่ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี(2560-2564) ที่จะมีการเสนอให้บอร์ดพิจารณาในช่วงเดือนธันวาคมนี้ จากแผนลงทุนเดิมที่วางไว้ที่ 3 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติการร่วมทุนและการลงทุนในบริษัทลูกที่ถือหุ้น 100% ซึ่งการลงทุนหลัก เช่น การลงทุนในการขยายความสามารถในการนำเข้าแอลเอ็นจีเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซที่เพิ่มขึ้นในประเทศ เป็นต้น

ขณะที่แผนลงทุนปี 2559 การประชุมบอร์ดเมื่อวันที่17 มิถุนายน 2559 ก็ได้ทบทวนแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับการดำเนินงานและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเพื่อให้การจัดทำงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงอนุมัติให้ปรับลดแผนการลงทุนปี 2559 จาก 5 หมื่นล้านบาท ลงเหลือ 4.33 หมื่นล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับลดแผนการดำเนินงานการลงทุนในธุรกิจก๊าซและธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานเป็นต้น

“ราคาน้ำมันดิบและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กลุ่ม ปตท. จำเป็นต้องทบทวนแผนลงทุนใหม่ โดยบริษัทจะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของโครงการ ผลตอบแทน ความเป็นไปได้ในการก่อสร้างการรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ อีไอเอ และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรืออีเอชไอเอ รวมทั้งในแง่ของสถานที่ บุคลากร การตลาด เรื่องเงินลงทุน ซึ่งทุกบริษัทลูกของ ปตท. ต้องผ่านบอร์ดปลายปีนี้ จำเป็นต้องกรองทุกราย รวมทั้งดูผลประกอบการในช่วงปลายปี 2559 ด้วยว่าจะออกมาอย่างไร มีเงินไหลมากน้อยแค่ไหน จะต้องดูแต่ละบริษัทว่าลงทุนโครงการอะไรก่อน-หลัง นอกจากนี้ยังพิจารณาถึงการเชื่อมโยงกันในบางเรื่อง อาทิ การจัดซื้อสินค้าร่วมกันได้หรือไม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันของกลุ่ม ปตท.”

ทบทวนอุตฯไบโอพลาสติก

นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กลุ่มปตท.จะยังไม่ทิ้งธุรกิจพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติก แต่คงต้องรอดูสถานการณ์ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงในช่วงใด เพราะราคาน้ำมันดิบที่เปลี่ยนแปลงหรือลงมาอยู่ระดับต่ำเป็นเวลานาน ทำให้การแข่งขันในระยะสั้นของไบโอพลาสติกสูงขึ้น แต่ในระยะยาวเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศอย่างแน่นอน เนื่องจากไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบของไบโอพลาสติก โดยขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างทบทวนและจัดทำแม่บทอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลผลักดัน (New S-Curve) คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2559 หลังจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมาก อาทิ ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงทำให้ไบโอพลาสติกแข่งขันได้ยาก จึงต้องพิจารณาว่าจำเป็นต้องเร่งผลักดันโครงการลงทุนไบโอพลาสติกหรือไม่ แต่ในระยะยาว ปตท.เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตรของประเทศ โดยจะถือว่าเป็นธงนำอีกธุรกิจหนึ่งของ ปตท.

โดยที่ผ่านมา ปตท.ได้กำหนดเป้าหมายขยายธุรกิจไบโอพลาสติกให้เป็น 2% ของรายได้รวมภายในปี 2563 โดยจะใช้เงินลงทุนรวมทั้งกลุ่ม ปตท.ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท กลุ่ม ปตท.มีการลงทุนทั้งโครงการไบโอพลาสติกนิด PBS, Green ABS ที่มีส่วนผสมของยางพาราธรรมชาติแห่งแรกของโลก
รวมถึงยังไม่ล้มโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ที่เวียดนาม แต่ที่ชะลอออกไปมีสาเหตุหลักๆมาจากราคาน้ำมันดิบและการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ของเวียดนาม ส่วนกรณีที่เวียดนามเตรียมประกาศใช้กฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนใหม่ ซึ่งเดิมก็กังวลว่ากฎหมายใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อโครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ของปตท.เมื่อเทียบกับกฎหมายเดิมนั้น ล่าสุดจากการศึกษาพบว่ากฎหมายใหม่ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างไรต่อโครงการดังกล่าว โดยยืนยันว่ายังหารือกับพันธมิตร ไม่ล้มเลิกโครงการแต่อย่างใด

ผลประกอบการปีนี้ดีขึ้น

สำหรับแนวโน้มผลประกอบการปีนี้(2559)คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากโครงการใหม่ที่ทยอยแล้วเสร็จและเริ่มรับรู้รายได้ แม้บางโรงงานจะมีชัตดาวน์บ้าง ประกอบกับมาร์จินปิโตรเคมีลดลง แต่เชื่อว่าในช่วงปลายปีจะกลับมาดีขึ้น

โดยในปี 2558 ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขาย 2 ล้านล้านบาท ลดลง 5.7 แสนล้านบาท หรือ 22% มาจากปัจจัยทางด้านราคาที่ลดลงเป็นหลักแม้ปริมาณขายโดยรวมยังเติบโตต่อเนื่อง โดยราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ปรับลดลงอย่างมากตามราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ลดลง 47.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้ทุกกลุ่มธุรกิจมีรายได้จากการขายลดลง โดยลดลงมากในกลุ่มธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและน้ำมัน กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559