2กรมภาษีตํ่าเป้าเกือบ1แสนล้านราคานํ้ามัน-ส่งออกไร้บวก-มาตรการลดภาษี ปัจจัยเสี่ยง

30 มิ.ย. 2559 | 00:00 น.
จับตาราคานํ้ามันหด-ส่งออกไร้สัญญาณบวก-มาตรการลดภาษีปัจจัยเสี่ยงกระทบรายได้นำส่งคลัง “กรมสรรพากร-ศุลกากร” เห็นผลแล้วจัดเก็บตํ่ากว่าประมาณการเกือบ 1 แสนล้าน ด้านสศค.แจง 8 เดือนจัดเก็บรายได้ส่งคลังแล้ว 1.56 ล้านล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่าปัจจัยจากภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล เห็นได้จาก 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (1ต.ค.58-

[caption id="attachment_66477" align="aligncenter" width="700"] ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาญ 2559 ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาญ 2559[/caption]

31 พ.ค.59) สามารถจัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 1.556 ล้านล้านบาทสูงกว่าตัวเลขที่ถูกกำหนดไว้ตามแผนงบประมาณ แต่ไส้ในจะเห็นบางหน่วยงานมีผลการจัดเก็บที่หดตัว โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรที่ยังต่ำกว่าประมาณการถึง 9.49 หมื่นล้านบาท

โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 4.04 หมื่นล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ (เหลว) ลดลง ทำให้ผู้ ประกอบการมีกำไรเพื่อชำระภาษีลดลง ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3.70 หมื่นล้านบาท โดยแวตจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2.98 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่หดตัวอย่างต่อเนื่อง และแวตที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศต่ำกว่าประมาณการ 7,269 ล้านบาท

ขณะที่กรมศุลกากร มีทิศทางการจัดเก็บที่ลดลงเช่นกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบของการปรับโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 7.5หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,661 ล้านบาท ขณะที่ผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว ยังทำให้การนำเข้าสินค้าเพื่อนำมาผลิตเพื่อส่งออกหดตัวลดลงตามไปด้วย

โดยเฉพาะเมื่อเทียบมูลค่าการนำเข้าในรูปของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเงินบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 หดตัวแล้ว 12.7% และ 4.3% ซึ่งมีทิศทางว่าจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ คือ 30 กันยายน 2559 ผลกระทบในเชิงปัจจัยภายนอกน่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ภาพรวมของการจัดเก็บรายได้ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยจากต่างประเทศ มีโอกาสที่จะสามารถัดเก็บรายได้พลาดเป้ามากกว่านี้ก็เป็นได้ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มอบหมายให้แต่ละกรมฯ ที่มีหน้าที่จัดเก็บรายได้ให้เร่งจัดทำแผนรวมถึงปรับทิศทางการทำงาน เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ โดยเฉพาะจุดด้อยที่ทำให้จัดเก็บรายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ด้านนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.58-พ.ค.59) ว่า หน่วยงานสามารถจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 1.556 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6.10 หมื่นล้านบาท หรือสูงกว่า 4.1% ถือว่าสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วถึง 13.4% สาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) จำนวน 4.82 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 1.22 หมื่น ล้านบาท หรือ 14.4% และการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสู่งกว่าประมาณการ 7,351 ล้านบาท ภาษีเบียร์ 6,947 ล้านบาท และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ 4,444 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับข้อมูลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 นั้นรัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 6 หมื่นล้านบาท ในขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคภายในประเทศยังคงสูงกว่าปีก่อนอย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดีจากมาตรการต่างๆของรัฐบาล ทั้งนี้กระทรวง การคลังได้ติดตามและเร่งรัดการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานภายใต้สังกัดเพื่อให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของส่วนราชการอื่นก็ยังสูงกว่าประมาณการถึง 4.37 หมื่นล้านบาท หรือ 238.5% สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่ก่อน 167.2% มาจากเงินส่วนเกินที่มาจากการจำหน่ายพันธบัตรนำส่งเป็นรายได้ถึง 3.58หมื่นล้านบาท และการชำระภาษีการพนันในส่วนของสลากพิเศษแบบเลขท้าย 3 ตัว และ 2 ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 1.19 หมื่นล้านบาท ขณะที่หากมองรายได้ที่หายไปเนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าประมาณการ 37,240 11,733 และ 6,797 ล้านบาท หรือ 49.0% 11.6% และ 10.6% ตามลำดับ ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิที่ 3.07แสนล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณการ 1.02หมื่นล้านบาท หรือ 3.2%

"หากมองในแง่ของการจัดเก็บรายได้ เฉพาะเดือนพฤษภาคม 2559 แม้รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 3.07 แสนล้านบาท โดยยังต่ำกว่าประมาณการ 1.02 หมื่นล้านบาท แต่หากเทียบเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา ยังถือว่าสามารถจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 3.2% โดยสูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วถึง 37.1% ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.556 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6.10หมื่นล้านบาท หรือ 4.1% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 13.4%"

ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม(แวต)จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3.77 หมื่นล้านบาทหรือ 7.2%(สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 0.4%)โดยแวตจากการนำเข้าต่ำกว่าประมาณการ 2.98 หมื่นล้านบาทหรือ 14.3% (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 4.7%) เพราะมูลค่านำเข้าที่หดตัวและแวตที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในต่ำกว่าประมาณการ 7,269ล้านบาทหรือ 2.4%(แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.7%
ด้านกรมศุลกากร รายงานว่า สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก ส่วนกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 5,125 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 386 ล้านบาท

สำหรับการนำส่งรายได้จากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ พบว่า มีการนำส่งรายได้รวม 9.69หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.22หมื่นล้านบาท ขณะที่หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 2.25แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.18แสนล้านบาท สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บได้รวม 5,125ล้านบาทสูงกว่าประมาณการ 386ล้านบาทหรือ 8.1%(สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน9.3%)

อย่างไรก็ตาม ด้าน ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดช่วง8เดือนแรกของปีงบประมาณ2559 (ต.ค.58-พ.ค.59) นั้น รัฐบาลมีรายได้นําส่งคลังทั้งสิ้น 1.46 ล้านล้านบาท ในขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจํานวนทั้งสิ้น 1.98 ล้านล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 3.66 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 มีจํานวนทั้งสิ้น 1.84 แสนล้านบาท

"การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลในช่วง 8 เดือนแรกได้กว่า 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึงร้อยละ 8.4 ได้สะท้อนถึงบทบาทของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลและมาตรการการใช้จ่ายของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ซึ่งสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามที่คาดไว้"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559