ย้ำ‘พร้อมเพย์’ไม่ฉุดค่าฟี 3 นายแบงก์ลั่น!ขายโปรดักต์-ลดรายจ่าย ช่วยได้!!

01 ก.ค. 2559 | 05:30 น.
นายแบงก์ 3 ยักษ์ใหญ่ ไม่หวั่นพร้อมเพย์-ฟินเทคมาฉกรายได้ค่าธรรมเนียมหด มั่นใจธนาคารปรับตัวเก่ง-เร่งขายโปรดักต์อื่นหาค่าฟีเพิ่ม ชี้ยิ่งดึงประชาชนใช้ระบบ ช่วยต้นทุนรายจ่ายลดฮวบ พร้อมหนุนระบบชำระเงินไทยมีประสิทธิภาพ

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธนาคารมีความมั่นใจว่ากระแสของเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงของไทย ทั้งในส่วนของ National e-Payment ของรัฐบาล และการเข้ามาของธุรกิจฟินเทค (Fin Tech) จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคาร เพราะเชื่อว่าทุกธนาคารรวมถึงธนาคารกรุงเทพสามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งการปรับตัวจะเป็นไปตามสภาพแวดล้อมและกลไกของระบบการแข่งขัน ซึ่งธนาคารมองว่าเป็นเรื่องที่ดีต่อระบบการชำระเงินของประเทศที่จะช่วยให้ไทยมีระบบที่มีประสิทธิภาพ

สำหรับในส่วนของโครงสร้างรายได้ของธนาคาร ปัจจุบันรายได้จากค่าธรรมเนียมสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 30% และที่เหลือจะเป็นรายได้จากดอกเบี้ย แม้ว่าการปรับโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมใหม่ในส่วนของระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ที่สมาคมธนาคารไทย (TBA) ที่ธนาคารสมาชิกช่วยกันเพื่อประเทศนั้น มองว่าแม้จะกระทบรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกรรมลดลง แต่ธนาคารสามารถปรับตัวตามได้ โดยแนวทางจะไปหารายได้ค่าธรรมเนียมจากส่วนอื่น เช่น เสนอผลิตภัณฑ์หรือโปรดักต์ต่างๆ ของธนาคารให้ลูกค้าที่สนใจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ที่สำคัญจะเห็นว่าต้นทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านเงินสดของธนาคารก็ปรับลดลง ทำให้ไม่น่าจะกระทบต่อรายได้มากนัก

"ผมคิดว่าไม่น่าจะกระทบมาก เพราะธนาคารสามารถปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง และเทคโนโลยีที่เข้ามาไม่ได้มาเป็นคู่แข่ง แต่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบมากขึ้น ส่วนรายได้เชื่อว่าทุกธนาคารสามารถบริหารจัดการได้ผ่านการเสนอสินค้าและบริการอื่นๆ แทน"

นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า โครงสร้างรายได้ของธนาคารกรุงไทย แบ่งเป็น รายได้จากดอกเบี้ยประมาณ 70% และรายได้ค่าธรรมเนียมราว 30% ซึ่งธนาคารมองว่ารายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ ของธนาคารจะไม่ถูกกระทบจากระบบอี-เพย์เมนต์ และโครงการพร้อมเพย์มากนัก เนื่องจากหากในอนาคตธนาคารทั้งระบบสามารถพยายามจูงใจให้ประชาชนมาใช้บริการชำระเงินผ่านระบบดังกล่าว รวมถึงธนาคารกรุงไทยสามารถดึงฐานลูกค้ามาใช้มากขึ้นเท่าไร จะช่วยลดต้นทุนด้านเงินสดเพิ่มขึ้นเท่านั้น ดังนั้น แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมธนาคารจะหายไปในช่วงแรก แต่ต่อไปค่าใช้จ่ายต่างๆ ของการบริหารจัดการเงินสดก็จะหายไปด้วย ซึ่งสามารถช่วยชดเชยกันได้

อย่างไรก็ดี แนวทางการปรับตัวเพื่อเพิ่มรายได้ของธนาคารในระยะต่อไป นอกจากพยายามสื่อสารให้ลูกค้าหันมาใช้บริการพร้อมเพย์ให้มากที่สุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายแล้ว ธนาคารต้องพยายามแนะนำผลิตภัณฑ์ด้านอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงขยายธุรกิจที่เน้นการทำรายการธุรกรรม หรือ Transaction Banking มากขึ้น ตลอดจนขยายความร่วมมือในการช่วยลูกค้าภาคเอกชนบริการจัดการเงินสด (Cash Management) ซึ่งหลังจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่ยังเป็นภาครัฐมากกว่า 50% จึงเป็นโอกาสที่ธนาคารจะหาฐานลูกค้าเอกชนเพิ่มขึ้น ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะช่วยขยายช่องทางการหารายได้จากค่าธรรมเนียมให้ธนาคารเพิ่มขึ้น

"หลังจากมีกระแสเทคโนโลยีเข้ามาจะเห็นว่าการใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น เช่น ดูจากการใช้ช่องทางออนไลน์ในการจองสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีสัดส่วนสูงถึง 90% และใช้ผ่านเคาน์เตอร์เพียง 10% สะท้อนภาพว่าต้นทุนการใช้บริการสาขาจะหายไป และในอนาคตรูปแบบสาขาจะเปลี่ยนไป ซึ่งในมุมมองผมเชื่อว่ารายได้จะไม่มีผลกระทบมาก เพราะทุกธนาคารสามารถปรับตัวผ่านการทำธุรกรรมอื่นที่สร้างรายได้อยู่แล้ว"

สอดคล้องกับนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้รายได้ค่าธรรมเนียมมีสัดส่วนประมาณ 40% ซึ่งหลังจากมีระบบการชำระเงินพร้อมเพย์ จะดูว่ากระทบโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารในระบบมากน้อยระดับใดขึ้นอยู่กับว่าธนาคารแต่ละแห่งจะสามารถสื่อสารให้ประชาชนมาใช้บริการพร้อมเพย์ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะถ้าใช้น้อยค่าใช้จ่ายด้านต้นทุนเงินสดก็ยังไม่สามารถลดได้ แต่หากมีประชาชนมาใช้บริการมาก จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านเงินสดลดได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รายได้และรายจ่ายของธนาคารที่ลดลงนั้นจะเกิดการสมดุล

ส่วนการหารายได้ของธนาคารนั้น เป็นสิ่งที่ทุกธนาคารจะต้องทำแผนกลยุทธ์ทุกปี โดยรายได้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ รายได้จากดอกเบี้ย โดยจะมาจากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งไม่สามารถทำได้ตามใจต้องขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและลูกค้า ปัจจุบันทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่คิดว่าแนวโน้มในครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นตามการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่จะทยอยออกมา ทำให้สินเชื่อในช่วงที่เหลือจะเติบโตขึ้นกว่าครึ่งปีแรก

ขณะที่รายได้จากค่าธรรมเนียม แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมาจากรายการทำธุรกรรม (Transaction) ซึ่งบางส่วนได้ถูกลดในส่วนของพร้อมเพย์ แต่เชื่อว่าแนวทางหารายได้จากผลิตภัณฑ์อื่นยังคงมีในทุกธนาคาร โดยผ่านโปรดักต์หลัก เช่น บัตรเครดิต บัตรเดบิต กองทุนรวม และการขายประกันผ่านช่องทางธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันส์) เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์อื่นสำหรับลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หรือลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) ธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ (FX) ธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) หรือการเป็นที่ปรึกษา (FA) การออกหุ้นกู้ เป็นต้น จะเห็นว่าโปรดักต์เหล่านี้สามารถเป็นช่องทางหารายได้ของธนาคารที่จะต้องปรับตัวรับรายได้ส่วนการทำธุรกรรมรายการที่จะหายไปบางส่วน ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าจะแนะนำลูกค้ามาใช้บริการหรือรองรับความต้องการจากลูกค้าได้มากน้อยระดับใด

"ทุกปีเราจะต้องมีแผนอยู่แล้วว่ารายได้ควรเป็นเท่าไรและรายจ่ายควรอยู่เท่าไร ซึ่งหากในส่วนของรายได้หายไป อาจจะต้องไปดูในด้านรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกด้วย ซึ่งหากเราให้คนมาใช้พร้อมเพย์เยอะๆ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย ส่วนการหารายได้เราก็ต้องทำ แน่นอนว่าจะต้องมาจากโปรดักต์ของธนาคารที่จะต้องพยายามดึงลูกค้ามาใช้ หรือช่วยบริการลูกค้าด้านอื่นๆ ที่ซับซ้อน สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการปรับตัวของทุกธนาคาร และของกสิกรไทยที่จะทำและเดินต่อไป"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559