บทวิเคราะห์‘ไออาต้า’ เบร็กซิท ผูกปมการเข้าถึงตลาดการบินเดียวยุโรป

02 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศหรือไออาต้า ได้เปิดเผยบทวิเคราะห์เบื้องต้นถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจและการเงินจากการทำประชามติเบร็กซิท ต่ออุตสาหกรรมการเดินทางทางอากาศ

"การทำประชามติเบร็กซิทก่อให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นอย่างมาก ทั้งด้านการเงินและอื่นๆ ในเวลาที่ผู้นำของสหราชอาณาจักรและอียู จัดทำกรอบความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นใหม่ สิ่งหนึ่งที่จะเป็นแนวทางให้กับผู้นำเหล่านี้ คือความจำเป็นและความต้องการของผู้คนทั้ง 2 ฝ่ายในเรื่องการเดินทางและการค้า การเดินทางทางอากาศมีบทบาทสำคัญ ในปี 2558 มีผู้โดยสารทางอากาศ 117 ล้านคน เดินทางระหว่างสหราชอาณาจักรและอียู การเชื่อมโยงทางอากาศส่งเสริมธุรกิจ สร้างงาน และสร้างความมั่งคั่ง ไม่ว่าความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างสหราชอาณาจักรและอียูจะเป็นอย่างไร มันสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาประโยชน์ของทั้ง 2 ฝ่ายในด้านความปลอดภัย ความมั่นคง ประสิทธิภาพ และความยั่งยืนของการเชื่อมโยงทางอากาศ" นายโทนี่ ไทเลอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไออาต้ากล่าว

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ไออาต้าประเมินว่า ผลกระทบโดยตรงจากเศรษฐกิจจะทำให้จำนวนผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศเข้าออกสหราชอาณาจักรลดต่ำลงจากกรณีที่ไม่เบร็กซิทอยู่ 3-5% ภายในปี 2563 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ลดลง 1-1.5% ต่อปีในระยะสั้น

ในทางกลับกัน ผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินปอนด์ต่อการเดินทางทางอากาศในสหราชอาณาจักรจะมีค่อนข้างน้อย เนื่องจากไออาต้าคาดหมายว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลงจะช่วยกระตุ้นความต้องการในส่วนของผู้โดยสารขาเข้ามายังสหราชอาณาจักรได้มากกว่าผลกระทบจากการชะลอการเดินทางออกนอกประเทศของชาวสหราชอาณาจักร ดังนั้นแม้ว่าทราฟฟิกอินบาวด์จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของตลาดทั้งหมด (ในปี 2558 ชาวสหราชอาณาจักรเดินทางออกนอกประเทศ 53.9 ล้านคน เทียบกับชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา 26.2 ล้านคน) แต่จะสามารถลดล้างผลกระทบด้านลบจากทราฟฟิกเอาต์บาวด์ได้ผลกระทบระยะสั้นจากเบร็กซิทจะเห็นชัดกับตลาดผู้โดยสาร ขณะที่ผลกระทบต่อตลาดขนส่งสินค้าทางอากาศยังไม่ชัดเจนนักแม้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนจะส่งผลต่อราคาสินค้านำเข้าและส่งออก ขณะเดียวกัน ผลกระทบระยะยาวจะเกิดขึ้นกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องถึงการขนส่งทางอากาศ

ผลกระทบด้านกฎระเบียบ

การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบจะยังไม่เกิดขึ้นโดยทันที อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกฎระเบียบในอนาคตน่าจะส่งผลให้ผลกระทบด้านลบจากเศรษฐกิจมีความรุนแรงขึ้น ส่วนในระยะยาว ผลกระทบด้านกฎระเบียบต่ออุตสาหกรรมการบินจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการออกจากอียู และข้อตกลงในอนาคตระหว่างสหราชอาณาจักรและอียู

ทั้งนี้ ผลกระทบจากขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการ คือการเข้าถึงตลาดการบินเดียวของยุโรป (European Single Aviation Market) ของสายการบินและผู้โดยสารจากสหราชอาณาจักร และความมีอิสระของสหราชอาณาจักรในการกำหนดกฎระเบียบและนโยบายของตนเอง

อียูนับเป็นตลาดจุดหมายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักร คิดเป็นสัดส่วนผู้โดยสาร 49% และสัดส่วนเที่ยวบินพาณิชย์ 54% และเมื่อรวมประเทศที่สามารถเข้าถึงตลาดการบินเดียวในฐานะสมาชิก European Common Aviation Area (ECAA) ซึ่งรวมถึงไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และอีกหลายประเทศบนคาบสมุทรบอลข่าน การเข้าถึงตลาดแห่งนี้จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

ในทางกลับกัน สหราชอาณาจักรก็เป็นตลาดจุดหมายที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้โดยสารทั่วยุโรป และเป็นแหล่งธุรกิจที่สำคัญของสายการบินหลักๆ ของยุโรปทั้งหมด ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่จะตัดสินผลกระทบจากเบร็กซิทต่อกฎระเบียบการบิน คือสหราชอาณาจักรจะยินยอมหรือสามารถเจรจาเข้าถึงตลาดการบินเดียวของยุโรปได้มากเพียงใด

นอกจากนี้ การเข้าถึงตลาดไม่ได้มีผลเพียงเส้นทางสหราชอาณาจักร-อียูเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงเส้นทางระหว่างสหราชอาณาจักรและทั่วโลกด้วย โดยสหราชอาณาจักรอาจถูกกันออกจากข้อตกลงทางอากาศต่างๆ ที่อียูทำไว้กับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการออกจากอียูของสหราชอาณาจักร ดังนั้นสหราชอาณาจักรอาจจะต้องเจรจาข้อตกลงทางการบินระดับทวิภาคีกับประเทศอื่นๆ แยกต่างหาก

ในทางทฤษฎี สหราชอาณาจักรอาจได้รับประโยชน์จากประเด็นดังกล่าวในบางกรณี เนื่องจากจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการเจรจาเพื่อให้เหมาะสมกับผลประโยชน์ของผู้โดยสารชาวสหราชอาณาจักรที่สุด อย่างไรก็ตาม ในฐานะประเทศเดี่ยว สหราชอาณาจักรจะไม่มีอำนาจในการต่อรองเหมือนกับกลุ่มอียูที่มีประชากรรวม 500 ล้านคน

โดยสรุปแล้ว สหราชอาณาจักรจะต้องเจรจาข้อตกลงระดับทวิภาคีหรือไม่นั้น จะขึ้นกับข้อตกลงกับอียูในอนาคต ซึ่งถ้าความสัมพันธ์ในอนาคตใกล้ชิดกับอียูเท่าใด โอกาสที่สหราชอาณาจักรจะต้องแก้ไขข้อตกลงทางการบินก็มีลดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ความใกล้ชิดกับอียูหลังเบร็กซิทหมายความว่าสหราชอาณาจักรจะต้องยอมรับกฎระเบียบต่างๆ ของอียู ขณะที่การตัดขาดความสัมพันธ์อย่างชัดเจนระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียูจะทำให้สหราชอาณาจักรมีอำนาจในการกำหนดนโยบายของตนเองได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีความไม่ชัดเจนต่อการเข้าถึงตลาดการบินเดียว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559