EXIM BANK วิเคราะห์ผลกระทบสินค้าส่งออกของไทยจาก BREXIT

27 มิ.ย. 2559 | 07:20 น.
ฝ่ายวิจัยธุรกิจ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK ) ออกบิวิเคราะห์เรื่อง “ผลกระทบสินค้าส่งออกของไทยจาก BREXIT”

การลงประชามติ : สหราชอาณาจักรต้องการออกจาก EU

สุดท้ายผลการลงประชามติของชาวสหราชอาณาจักร (UK) แสดงให้เห็นว่าต้องการที่จะให้ UK แยกตัวออกจาก EU โดยกลุ่มผู้สนับสนุนให้ UK ออกจาก EU ได้คะแนนโหวต 52% ขณะที่กลุ่มสนับสนุนให้อยู่ต่อได้ 48% หลังจากนี้ UK ยังจะต้องใช้เวลาเจรจากับ EU อีกอย่างน้อย 2 ปีถึงรูปแบบการออกจาก EU โดยเฉพาะข้อตกลงทางเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้ในระยะสั้นยังไม่อาจถือได้ว่า UK ได้ออกจาก EU แล้ว เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเด็นความผันผวนของค่าเงินปอนด์ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในระยะสั้น ขณะที่ผลที่แท้จริงของการออกจาก EU ทั้งภาวะเศรษฐกิจและนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไป คาดว่าจะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย

ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ

ระยะสั้น

•ค่าเงิน เงินปอนด์ของ UK มีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากความไม่มั่นใจในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

เงินปอนด์ที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงจะทำให้ราคาสินค้านำเข้าใน UK แพงขึ้นและบั่นทอนความต้องการบริโภคสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยหรือสินค้าไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้ สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบในระยะสั้น ได้แก่

รถยนต์และส่วนประกอบ (สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยไป UK) โดยส่วนใหญ่เป็นการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเงินปอนด์ที่อ่อนค่า ทำให้ราคารถยนต์นำเข้าใน UK ปรับสูงขึ้น ผู้ใช้รถยนต์จึงชะลอการซื้อรถยนต์ใหม่ อย่างไรก็ตาม ตลาด UK คิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ของตลาดส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย ทำให้ภาพรวมการส่งออกรถยนต์ของไทยยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ตลาด UK คิดเป็นสัดส่วนถึง 9% ของมูลค่าส่งออกรถจักรยานยนต์ทั้งหมดของไทย โดย Big Bike เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ซึ่งถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่จะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน

อัญมณีและเครื่องประดับ ถือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยที่จะได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน

ไก่แปรรูป พึ่งพาการส่งออกไป UK ถึง 28% ของตลาดส่งออกไก่แปรรูปรวมของไทย ซึ่งคาดว่าในระยะสั้นจะได้รับผลกระทบจากผู้นำเข้าของ UK มีแนวโน้มต่อรองราคาไก่แปรรูปลง แต่ยังถือเป็นสินค้าจำเป็นและไม่มีผู้ผลิตไก่แปรรูปอื่นที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดโลก ทำให้คาดว่าปริมาณส่งออกจะลดลงไม่มากนัก

ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยว UK มีสัดส่วน 3.2% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทย ซึ่งคาดว่าจะเดินทางมาไทยลดลงในระยะสั้นจากต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นหลังเงินปอนด์อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ภาวะการท่องเที่ยวไทยโดยรวมยังมีแนวโน้มดีจากตลาดอื่น อาทิ จีน และรัสเซีย

ระยะยาว

•ภาวะเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจของ UK มีแนวโน้มชะลอตัวจาก Brexit เนื่องจากคาดว่าจะมีภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะบริการทางการเงิน ย้ายฐานออกจาก UK ไปยัง EU

•นโยบาย ปัจจุบัน EU มีมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมของตนอยู่ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการโควตานำเข้าสินค้าบางประเภท และมาตรการปกป้องการทุ่มตลาด (AD) ซึ่งในเบื้องต้นหาก UK ออกจาก EU อาจช่วยบรรเทาผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะสินค้าที่ UK ต้องการนำเข้า

•ความเป็นตลาดเดียวกันของ EU ผู้ผลิตใน EU จะสูญเสียความได้เปรียบในการส่งออกสินค้าไปยัง UK เช่นเดียวกับผู้ผลิตใน UK ก็จะสูญเสียความได้เปรียบในการส่งออกไป EU นอกจากนี้ สมาชิก EU ยังอาจมีการเปลี่ยนแปลงหลังจาก Brexit อาทิ ฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์อาจต้องการออกจาก EU ขณะที่ไอร์แลนด์เหนือและสก็อตแลนด์อาจต้องการแยกตัวออกจาก UK เพื่อกลับเข้าร่วมเป็นสมาชิก EU

ไก่แปรรูป ปัจจุบัน EU กำหนดโควตานำเข้าไก่แปรรูปจากไทย ซึ่งหาก UK ออกจาก EU จะเปิดโอกาสให้การส่งออกไก่แปรรูปของไทยไป UK ไม่ถูกจำกัดจากโควตาดังกล่าว และไทยยังมีโอกาสส่งออกไปประเทศอื่นใน EU ภายใต้โควตาดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น

ข้าวโพดหวานกระป๋อง ปัจจุบัน EU เรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Duty : AD) ข้าวโพดหวานกระป๋องจากไทยในอัตรา 3.1-14.3% ดังนั้น Brexit อาจทำให้ไทยส่งออกข้าวโพดหวานกระป๋องไป UK ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่ถูกเรียกเก็บ AD ดังกล่าว

ทูน่ากระป๋อง ปัจจุบันผู้ผลิตอาหารทะเลกระป๋องรายใหญ่ของไทยเข้าไปซื้อกิจการโรงงานผลิตปลากระป๋องรายสำคัญในฝรั่งเศส และมี UK เป็นตลาดจำหน่ายสำคัญ ดังนั้น Brexit จะทำให้ความได้เปรียบจากการส่งออกสินค้าจากฝรั่งเศสไป UK ลดลง