การนิคมอุตฯสั่งเฝ้าระวังนํ้าท่วม นิคมฯ ในและรอบกทม.เสี่ยง

28 มิ.ย. 2559 | 01:00 น.
กนอ.สั่งกำชับนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เตรียมรับมือน้ำท่วม หลังนิคมฯบางปู เจอฝนกระหน่ำจนท่วม โดยให้ยกระดับแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน และเคร่งครัดในการรับมือ ชี้ 11 นิคมฯในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีความเสี่ยงเป็นที่ราบลุ่ม ต้องจับตาเป็นพิเศษ ส่วนนิคมฯในอยุธยา หายห่วงน้ำเหนือยังไม่ไหลมา

[caption id="attachment_65783" align="aligncenter" width="399"] วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม  ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม
ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)[/caption]

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากสถานการณ์ที่มีฝนตกทั่วทุกภาคของประเทศไทย และมีฝนตกหนักในบางพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดอุทกภัยนั้น ทาง กนอ.จึงได้กำชับไปยังผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศกว่า 50 แห่ง เตรียมพร้อมและให้ยกระดับแผนปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ที่แต่ละนิคมฯได้จัดทำขึ้นมา พร้อมทั้งให้เฝ้าระวังดำเนินการตามมาตรการภาวะฉุกเฉินอย่างเคร่งครัด และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายนอกนิคมให้รับทราบหากเกิดมีความจำเป็นต้องระบายน้ำจากภายในนิคมออก เพื่อไม่ให้ผู้ที่อยู่รอบนิคมได้รับผลกระทบ

โดยเฉพาะนิคมฯที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่มีอยู่ 4 แห่ง ได้แก่ นิคมฯบางชัน นิคมฯลาดกระบัง นิคมฯอัญธานี และนิคมฯอัญธานี(โครงการ 2) รวมถึงในเขตปริมณฑลอีก 7 แห่ง อย่างในจังหวัดสมุทรปราการ เช่น นิคมฯบางปู นิคมฯบางปู(เหนือ) นิคมฯบางพลี นิคมฯเอเชีย(สุวรรณภูมิ) และที่จังหวัดสมุทรสาคร เช่น นิคมฯมหาราชนคร นิคมฯสมุทรสาคร นิคมฯสินสาคร ที่จะต้องเฝ้าจับตาและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม และมีฝนตกลงมาในเขตกรุงเทพมหานครอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกรงว่าจะเกิดน้ำมันท่วมเหมือนกับกรณีนิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้

นายวีรพงศ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินดังกล่าว ทุกนิคมฯจะต้องมีการจัดทำแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนโดยมีแนวทางการเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อม เช่น ขุดลอกและพร่องน้ำในลำระบายน้ำ จัดเตรียมเครื่องสูบน้ำสำรอง และอุปกรณ์อื่นๆ ให้พร้อมใช้งาน จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจุดเฝ้าระวังระดับน้ำโดยรอบพื้นที่ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนป้องกันอุทกภัย การบำรุงรักษาระบบป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้ทันที ติดตามสถานการณ์และประสานงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมทั้งชี้แจงและสื่อสารกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น

นอกจากนี้ กนอ. ยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ และเป็นศูนย์กลางบัญชาการ โดยมีการติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลเส้นทางพายุ และสภาพอากาศจากกรมอุตุวิทยา ข้อมูลสถานการณ์น้ำจากกรมชลประทาน ข้อมูลสถานการณ์น้ำทะเลหนุนจากกรมอุทกศาสตร์ ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมโดยแผนที่ดาวเทียมจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เป็นต้น

ส่วนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น นิคมฯ บ้านหว้า (ไฮเทค) นิคมฯ บางปะอิน นิคมฯ สหรัตนนคร ซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยานั้น ขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะปริมาณน้ำจากทางเหนือที่ไหลมายังมีไม่มาก

สำหรับความคืบหน้าน้ำท่วมนิคมฯบางปู จากปริมารน้ำฝนที่ตกลงมามากนั้น ได้มีการระบายน้ำออกนอกพื้นที่ และสถานการณ์ได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา และโรงงานที่มีอยู่ 350 ราย ได้กลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติ ไม่มีโรงงานใดได้รับความเสียหาย ซึ่งกนอ.ได้ประสานไปยังนิคมฯบางปูให้เตรียมความพร้อมที่จะเร่งระบายน้ำออกนอกพื้นที หากเกิดมีปริมาณฝนตกลงมามากอีกในช่วงนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559