ประมูลปิโตรเลียมหมดอายุไม่ทัน เจอวิกฤติพลังงาน/รัฐเตรียมแผนรองรับ

28 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
ในงานสัมมนาหัวข้อ "ผลกระทบและทางออกสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุ" จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา ได้มีการหยิบยกกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้เห็นชอบให้แหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ของแหล่งเอราวัณ ที่มีบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตฯ เป็นผู้รับสัมปทาน และแหล่งบงกช ที่มีบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)หรือ ปตท.สผ.เป็นผู้รับสัมปทาน ตกเป็นของรัฐ และให้ดำเนินการเปิดประมูล แทนที่จะให้สิทธิกับเอกชนรายเดิมบริหารงานต่อนั้น

[caption id="attachment_65788" align="aligncenter" width="700"] ผลกระทบที่เกิดจากการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมไม่ทันกำหนด ผลกระทบที่เกิดจากการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมไม่ทันกำหนด[/caption]

จากมติกพช.ดังกล่าว กำลังสร้างความกังวลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย โดยเฉพาะกระทรวงพลังงาน ที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน หากขั้นตอนการดำเนินงานเปิดประมูลมีความล่าช้าและไม่สามารถหาผู้ชนะการประมูลได้ทันภายในกลางปี 2560 นั้นหมายถึงว่าปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จาก 2 แหล่งนี้ จะหายไปกว่า 2,110 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คิดเป็น 76% ของปริมาณการจัดหาก๊าซในอ่าวไทย และ 44% ของปริมาณการจัดหาก๊าซทั้งประเทศ

ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

โดยดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ชี้ให้เห็นว่า หากขั้นตอนการสรรหาผู้ชนะการประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุไม่ทันภายในระยะเวลาที่กพช.กำหนดไว้ประมาณกลางปีหน้าได้ ผลที่ตามมาผู้ประกอบการรายเดิมจะไม่ลงทุนเจาะหลุมผลิตก๊าซเพิ่มขึ้น เพราะไม่คุ้มทุนกับระยะคืนทุนที่เหลือ และจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตก๊าซเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป หรือกรณีที่เลวร้ายสุดจะมีก๊าซหายไปจากระบบ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ระหว่างปี 2561-2564 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า 6,300 เมกะวัตต์

จากกรณีดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่างๆ ตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็น ปริมาณก๊าซจะไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า และมีโอกาสทีจะเสี่ยงไฟฟ้าดับได้ รวมไปถึงจะเกิดการขาดแคลนก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจี เนื่องจากแอลเอ็นจีที่นำเข้ามาไม่มีคุณสมบัติที่จะนำมาแยกเป็นแอลพีจีได้ และอีกส่วนจะกระทบกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่มีก๊าซป้อนเป็นวัตถุดิบ และยังส่งผลต่อไปถึงการขาดแคลนก๊าซเอ็นจีวีในภาคขนส่งด้วย

ต้องพึ่งนำเข้าแอลเอ็นจี

ดร.ประเสริฐ ย้ำให้เห็นว่า ปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซในประเทศที่มีอยู่ประมาณ 4,684 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่การจัดหาจากภายในประเทศทำได้แค่ 3,889 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต้องนำเข้าจากเมียนมาอีก 806 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และก๊าซแอลเอ็นจีนำเข้าอีก 336 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันหรือคิดเป็นราวกว่า 2 ล้านตันต่อปี และมีอัตราการนำเข้าเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งหากเกิดกรณีดังกล่าวขึ้นมา ก็จะทำให้ในปี 2564 จะต้องนำเข้าแอลเอ็นจีสูงถึง 9 ล้านตัน นั่นยอมส่งผลกระทบต่อคาไฟฟ้าที่จะปรับตัวสูงขึ้นตามมา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็ตาม แต่กระทรวงพลังงาน ก็พยายามที่จะต้องหามาตรการมารองรับไว้ เช่น ใช้มาตรการประหยัดพลังงานเพื่อลดใช้ไฟฟ้า กรณีร้ายแรงสุดอาจต้องใช้มาตรการบังคับประหยัดพลังงาน หาโรงไฟฟ้าประเภทอื่นทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนกระบวนการผลิตปิโตรเคมี เช่น แนฟทา และให้รถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวีเปลี่ยนมาใช้น้ำมันแทน เป็นต้น

ปตท.เตรียมแผนรองรับ

ขณะที่นายนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ประเมินว่า หากการประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่หมดอายุทั้ง 2 แหล่ง ตกไปอยู่ในมือของผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งจะทำให้รายเดิมลดการลงทุนลงในช่วงท้ายอายุสัมปทาน จนปริมาณการผลิตก๊าซลดลงไปจากเดิม ในช่วงปี 2561-2564 และจะกระทบกลับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ในส่วนนี้ทางปตท.ก็ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดหา โดยจะต้องนำเข้าแอลพีจีในปี 2561 ปริมาณ 5 ล้านตันปี 2562 นำเข้า 6 ล้านตัน ปี 2563 นำเข้า 6 ล้านตัน และปี 2564 นำเข้าที่ 9 ล้านตัน

นอกจากนี้ หากการนำเข้าแอลเอ็นจีไม่เพียงพอ จะต้องจัดหาน้ำมันเตา และน้ำมันดีเซลเข้ามาป้อนป้อนให้กับโรงไฟฟ้าราชบุรีและโรงไฟฟ้าบางปะกงด้วย แบ่งเป็นน้ำมันเตา 5.6 ล้านลิตรต่อวัน และดีเซล 3 ล้านลิตรต่อวัน

ปิโตรเคมีเปลี่ยนใช้แนฟทาแทน

ขณะที่ก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจีจะเกิดการขาดแคลนในปี 2561 ประมาณ 0.8 ล้านตัน ปี 2562-2563 ขาดแคลนปีละ 0.9 ล้านตัน และปี 2564 ขาดแคลน 1.3 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งจะต้องมีการนำเข้าแอลพีจีมารองรับในปี 2561 ประมาณ 0.8 ล้านตัน และปี 2562 อีก 0.9 ล้านตัน

นอกจากนี้ทางบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือพีทีทีจีซี อยู่ระหว่างเร่งศึกษาที่จะเปลี่ยนกระบวนการผลิตปิโตรเคมี จากปัจจุบันใช้ก๊าซมาเป็นแนฟทา ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมันมาใช้แทน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่หายไปด้วย ซึ่งผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้น ไม่เพียงประเทศชาติขาดความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังสูงผลถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลด จากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น ที่ต้องพึ่งการนำเข้ามาเป็นหลัก

ให้มองความมั่นคงมากกว่าเงิน

ส่วนด้านนักวิชาการอย่างดร.ฐิติศักดิ์ บุญปราโมทย์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สะท้อนให้เห็นว่า หัวใจของการแก้ไขปัญหาสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่จะหมดอายุคือ ต้องเร่งดำเนินการให้เร็ว เพื่อให้ทราบว่าจะเป็นรายเก่าหรือรายใหม่ที่จะได้สิทธิ์ในการเข้าไปบริหารจัดการ เพราะรัฐจะต้องวางแผนให้การผลิตก๊าซให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพราะหากก๊าซที่เคยผลิตได้หายไปจากระบบ จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่รัฐไม่ควรมองเฉพาะผลประโยชน์ที่จะได้รับเพียงด้านเดียว แต่ควรมองให้เห็นถึงความสำคัญของก๊าซในอ่าวไทย ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศทั้งระบบ

นอกจากนี้ การจะใช้รูปแบบผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ จะใช้รูปแบบใดก็ได้ แต่ควรอยู่บนการได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายทั้งในแง่ของภาครัฐที่ต้องได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่าระบบสัมปทานไทยแลนด์ 3 ในขณะเดียวกันเอกชนก็ต้องได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้นเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง ไม่มีใครทราบว่าจะมีปิโตรเลียมมากน้อยแค่ไหน ในขณะที่ประชาชนผู้บริโภค ก็ควรที่จะได้ใช้พลังงานในราคาที่เป็นธรรม

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการเป็นลำดับแรกคือ จะทำอย่างไรให้การผลิตก๊าซเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความมั่นคงทางด้านพลังงานเอาไว้ เพราะจะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ก่อน ไม่ใช่จะปล่อยให้ก๊าซที่มีอยู่หายไป และต้องไปนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาแทน ซึ่งต้องมองว่าประเทศต้องการความมั่นคงทางพลังงานมากกว่า ผลประโยชน์ในรูปของเงิน เพราะถ้ามีเงินแต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ก็ไม่มีประโยชน์

ไม่หนุนการตั้งบรรษัทพลังงาน

ขณะที่การจะตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นมาบริหารจัดการแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมนั้น มองว่าจะทำให้เกิดภาระทางด้านงบประมาณของประเทศ เพราะประเทศไม่ได้มีทรัพยากรปิโตรเลียม ที่เหลือมากพอที่จะต้องตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ และต้องเสียค่าใช้จ่ายจ้างบุคลากรในระยะยาว และมีทรัพยากรจำกัด ไม่ได้มีเหลือใช้จนต้องส่งออกเหมือน มาเลเซีย และเมียนมา ที่ตั้งองค์กรขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ อีกทั้งปัจจุบันก็มีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของประเทศได้ดีอยู่แล้ว รวมทั้งมีปตท.และปตท.สผ. ที่รัฐถือหุ้นอยู่ เป็นผู้ทำหน้าที่ในการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน

ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการจัดหาผู้ประมูล เพื่อมาดำเนินการผลิตก๊าซให้ต่อเนื่องเร็วที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดวิกฤติด้านพลังงานที่จะตามมาในอนาคตอันใกล้นี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559