สสส.ห่วงเด็กไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ

24 มิ.ย. 2559 | 07:32 น.
สุดใจ พรหมเกิด1   แม้สถิติการอ่านของประชากรไทย ปี 2558 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่สถานการณ์การอ่านในเด็กยังน่าห่วง ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยคนไทยอ่านหนังสือมากขึ้นเป็น 77.7% หรือประมาณ 48 ล้านคน อ่านมากขึ้นเป็น 66 นาที/วัน คนไทยนิยมการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากถึง 50% แต่ 96% บอกว่ายังชอบจับหนังสือเป็นเล่มอยู่ ชี้การส่งเสริมการอ่านดีที่สุดคือการรณรงค์ผ่านครอบครัวและโรงเรียน

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ทางแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ได้ร่วมกับ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม และสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ได้เปิดโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2557 เพื่อสนับสนุนทุนและการสร้างเสริมกระบวนการเรียนรู้และพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเด็กเล็ก ให้เติบโตอย่างมีสุขภาวะที่ดีครบด้าน เพราะจากการสำรวจ พบว่า เด็กเล็กในช่วงวัย 2-6 ปี ถือว่ามีความสำคัญต่อการปลูกฝังพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งด้านทัศนคติ การพัฒนาการทางอารมณ์ สังคม และการพัฒนาด้านทักษะการรับรู้ทางด้านสมอง ระบบประสาทต่างๆ ซึ่งกำลังเจริญเติบโตสูงสุดกว่า 80% ของชีวิตมนุษย์ หนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญของการพัฒนานี้คือ หนังสือ กระบวนการจัดการเรียนรู้ของครู – พี่เลี้ยงในศุนย์พัฒนาเด็กเล็กจึงมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาศักยภาพของเด็ก ซึ่งหากได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ จะสามารถสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศได้ การออกแบบสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์รวมถึงภูมิความรู้ต่างๆ จะช่วยให้เด็กสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่มีคุณภาพได้ด้วยตัวเอง

ในปีที่ผ่านมาทางแผนงานฯ ได้จัดชุดหนังสือดีที่เหมาะสมวัย และความสนใจของเด็กจำนวนกว่า 50 เล่ม ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวนกว่า 200 แห่งทั่วประเทศที่ได้รับการคัดสรรเข้าร่วมโครงการฯ นำไปทดลองใช้งานกับพ่อแม่ และผู้แวดล้อมเด็ก หากมีความรู้ในเรื่องการเลือกสรรหนังสือเด็กอย่างเหมาะสมอ่านหนังสือให้เด็กเล็กฟังทุกๆ วัน จะทำให้เด็กมีความสุข ความเพลิดเพลินทุกวัน อย่างน้อยวันละ 15 นาที เด็กจะถอดรหัสและอ่านหนังสือออกได้อย่างอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับ ทำให้เด็กซึมซับคำสอนที่แนบเนียนอยู่ในหนังสือแต่ละเล่ม หนังสือเด็กเหมือนวรรณกรรมชั้นดีที่อยู่ใกล้ตัว เด็กจะเสพหนังสือด้วยความอิ่มเอมอย่างรื่นรมย์ และมีความลึกซึ้งในเรื่องของสุนทรียะ

“เด็กควรได้รับการปูพื้นฐานทางภาษาที่จะนำไปสู่การสอนการอ่านอย่างมีประสิทธิภาพตั้งแต่ยังเล็ก เพราะการอ่านคือกุญแจที่จะไขประตูไปสู่การเรียนรู้ภาษาที่รุ่มรวย ลึกซึ้ง ซึ่งเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กอย่างแยกกันไม่ได้ นอกจากนี้การปูรากฐานการอ่านที่แข็งแรงจะนำไปสู่การเขียนที่ดี ซึ่งทั้งการอ่านและเขียนนั้นก็จะเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเขา”

นางสุดใจ กล่าวต่อว่า เพื่อประเมินว่าหนังสือที่ทางศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวนกว่า 200 แห่งทั่วประเทศได้รับไปนั้นใช้งานแล้วมีผลตอบรับกลับมาเป็นอย่างไร ทางแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จึงได้จัดทำแบบสำรวจความต้องการในการใช้หนังสือในศูนย์เด็กเล็กขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลเผยแพร่ให้กับคุณครู และพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง เพื่อจะได้เน้นข้อมูลจากประสบการณ์เตรียมความพร้อมทางด้านภาษาให้กับเด็กปฐมวัยต่อไป ซึ่งสามารถติดตามได้ที่ www.happyreading.in.th เร็วๆ นี้

“เมื่อผลสำรวจออกมา เราหวังว่าผู้แวดล้อมเด็กหรือผู้ผลักดันนโยบายจะได้เห็นถึงความสำคัญและเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนบนแผ่นดินไทยได้เข้าถึงหนังสือดีๆ เข้าถึงหนังสือฟรีที่เหมาะกับแต่ละช่วงวัยได้อย่างทั่วถึง เพื่อเป็นสวัสดิการและวัคซีนให้กับเด็กไทย ในช่วงอายุ 0-6 ปี ที่ถือเป็นช่วงที่สมองมนุษย์เจริญเติบโต มีขีดความสามารถสูงสุด จากความสำคัญนี้ทางเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จะร่วมกันผลักดันทำให้เด็กแรกเกิด ทุกภูมิภาคทุกคนบนแผ่นดินไทยเข้าถึงหนังสือตั้งแต่แรกเริ่ม หรือได้รับหนังสือที่เหมาะสมเป็นสวัสดิการ เป็นโอกาสในการพัฒนาเด็กต่อไป” นางสุดใจ กล่าว