‘ซีอีโอ’ไทยคม แจงประเด็นร้อน ‘ไลเซนส์ไทยคม7-8’

27 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
เป็นเพราะ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เสนอ 2 แนวทางให้กับ กสทช.(คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) เกี่ยวกับการกำกับดูแลและบริหารงานในกิจการอวกาศ และ รวมถึงการจัดสรรเงินเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนยูเอสโอ)

โดยแนวทางที่แรก ให้ดาวเทียมไทยคม 7 ที่ยิงขึ้นวงโคจร เมื่อปี 2555 และ เปิดให้บริการปี 2557 และ ดาวเทียมไทยคม 8 ที่ยิงขึ้นวงโคจรปลายเดือนพฤษภาคมปีนี้ กลับไปอยู่ภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานเดิม และ แนวทางที่ 2. ถ้าไม่สามารถกลับไปอยู่ภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานแบบเดิม ให้กระทรวงไอซีที มีหน้าที่กำหนดเงื่อนไขใหม่โดยทำสัญญาเป็น Deep of Agreement เพื่อกำหนดเงื่อนไขให้จ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มมากขึ้น รวมถึงต้องเปิดให้บริการกับภาครัฐด้วย เพื่อให้รัฐได้ผลประโยชน์ไม่น้อยกว่าค่าสัมปทานที่เคยได้รับ ซึ่งปัจจุบันมีเพียงบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) มาหารือว่าจะมีเงื่อนไขอย่างไร ขณะที่ยังคงต้องจ่ายค่าใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมยูเอสโอให้กับ กสทช.ด้วย

นั้นจึงเป็นที่มาที่ทำให้ ซีอีโอ ไทยคม คือ นายไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ต้องออกแถลงการณ์ด่วนด้วยกัน 7 ข้อ ข้อแรก คือ 1 ดาวเทียมสื่อสาร ที่ไทยคมดำเนินกิจการอยู่นั้น ถือเป็นหนึ่งในโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐานที่มีความสำคัญ มีความจำเป็น และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และยังเป็นโครงข่ายที่ไปให้บริการในต่างประเทศ ถือเป็นธุรกิจที่สามารถนำเงินตราเข้าประเทศ สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนข้อที่ 2 ดาวเทียมที่ไทยคมให้บริการอยู่ในปัจจุบัน มีดาวเทียมไทยคม4/5/6 ซึ่งให้บริการอยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน ซึ่งยังคงให้บริการต่อไปตามเงื่อนไขเดิมของสัญญาปัจจุบันจนถึงปี 2564 ส่วนดาวเทียมไทยคม 7/8 นั้น เป็นดาวเทียมดวงใหม่ที่ทางไทยคมได้ขออนุญาตและได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการจาก กสทช. ตามระบบใบอนุญาต แยกต่างหากออกจากระบบสัมปทานเดิม ซึ่งในการออกใบอนุญาตของ กสทช. นั้น ทางกระทรวงไอซีทีก็ได้อนุมัติให้ใช้วงโคจรดาวเทียมมายัง กสทช. เพื่อประกอบการอนุญาตดังกล่าวแล้วด้วย

สำหรับข้อที่ 3 คือ ข้อกำหนดต่างๆ รวมทั้งค่าธรรมเนียมของดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 เป็นไปข้อกำหนดของกฎหมาย ที่กำหนดให้เปลี่ยนแปลงจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบใบอนุญาต โดยค่าธรรมเนียมลดลงจากระบบสัมปทาน ซึ่งการที่ค่าธรรมเนียมลดลงนั้น ก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จะสนับสนุนให้กิจการโทรคมนาคมรวมทั้งดาวเทียมเข้าสู่ระบบใบอนุญาต มีต้นทุนค่าธรรมเนียมที่ลดลง เพื่อให้แข่งขันได้เป็นประโยชน์ระยะยาว และข้อที่ 4 หากภาครัฐต้องการจะมีเงื่อนไขหรือคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมในส่วนของดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ก็ควรจะคำนึงถึงผลกระทบต่อภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาตและลงทุนดำเนินโครงการไปแล้ว

ข้อที่ 5 ในการพิจารณาและการกำหนดนโยบายและค่าธรรมเนียมของภาครัฐ ไทยคมอยากให้ภาครัฐให้ความสำคัญในการคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันของเอกชนไทยในระยะยาว อยากให้พิจารณาเทียบเคียงกับแนวทางการกำกับดูแลและค่าธรรมเนียมของต่างประเทศด้วย เพราะสภาพการแข่งขันในธุรกิจดาวเทียมทั่วโลกนั้นสูงมาก หากดาวเทียมไทยมีต้นทุนที่สูงกว่าดาวเทียมต่างชาติก็จะแข่งขันได้ยาก ซึ่งในตอนนี้ เฉพาะค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของ กสทช. ก็สูงกว่าค่าธรรมเนียมของต่างประเทศมากอยู่แล้ว

ข้อที่ 6 อยากให้ภาครัฐมีแนวทางที่ชัดเจนในการกำกับให้การแข่งขันในประเทศไทยเองให้มีความเป็นธรรม เพราะในปัจจุบัน มีผู้ให้บริการดาวเทียมต่างชาติ เข้ามาให้บริการในประเทศไทยโดยไม่ได้ขอใบอนุญาต ไม่ได้ถูกกำกับดูแล ไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียม อยากให้ภาครัฐมีแนวทางการกำกับดูแลให้ทุกๆ รายแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียมกัน และรัฐจะได้ไม่เสียผลประโยชน์ด้วย

ข้อสุดท้าย ไทยคมอยากให้ภาครัฐมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายและหลักเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับดาวเทียมโดยเร็ว เพื่อให้กิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ มีดาวเทียมเพิ่มเติมให้บริการกับคนไทย และแข่งขันกับต่างชาติได้ ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน โดยทางไทยคมยินดีให้ความร่วมมือในการเข้าไปชี้แจงให้ข้อมูลและหารือกับหน่วยงานภาครัฐ และหากมีสิ่งใดที่ไทยคมสามารถดำเนินการเพื่อประโยชน์กับภาครัฐและเอกชนในระยะยาวได้ ไทยคมก็ยินดีพิจารณา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559