ประมูลสุวรรณภูมิเฟส 2 ครบ 7 สัญญาต้นปีหน้า

28 มิ.ย. 2559 | 02:00 น.
ทอท.วางไทม์ไลน์เปิดประมูลขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ครบ 7สัญญาช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. 60 ชี้ 3 สัญญาแรกที่กลุ่ม ITD ชนะงานโครงสร้างและงานระบบหลัก รวมถึงกลุ่มสามประสิทธิ์ชนะราคาสาธารณูปโภค หากรวมกับสัญญาจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างที่อยู่ระหว่างประกวดราคา คาดช่วยทอท.เซฟงบได้ร่วม 1.5 พันล้านบาท พร้อมจ่อเปิดประกวดราคาเอพีเอ็มภายในปีนี้

[caption id="attachment_65750" align="aligncenter" width="700"] ผลการยื่นซองประกวดราคาโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ผลการยื่นซองประกวดราคาโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2[/caption]

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ทอท.วางไทม์ไลน์การประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 (ปีงบประมาณ 2554 – 2560) ซึ่งจะดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างครบทั้งหมด 7 สัญญาภายในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ปี2560 หลังจากขณะนี้เปิดประมูลไปแล้ว 2 สัญญา คือ สัญญางานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก) ซึ่งทางกลุ่มของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด หรือITD เสนอราคาต่ำสุด 1.20 หมื่นล้านบาท และสัญญางานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค ซึ่งห้างหุ้นส่วนจำกัดสามประสิทธิ์ เสนอราคาต่ำสุด 1,983 ล้านบาท

ส่วนสัญญางานจัดงานที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) ก่อนหน้านี้มีการขายซองประกวดราคาไปแล้ว และมี 2 กลุ่มบริษัทมายื่นเอกสารประมูล คือ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาบริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด และกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด แต่ปรากฏว่าขาดใบรับรองที่ต้องระบุว่าเกิดเหตุการณ์ที่มีปัญหาขึ้นมาต้องนำเรื่องพิจารณาในศาลของประเทศไทย ดังนั้นจึงจะมีการเปิดประกวดราคาใหม่ โดยขายเอกสารประมูลอยู่ในช่วงนี้ถึงวันที่ 28 มิถุนายนนี้ และให้มายื่นซองเสนอราคาวันที่ 21 กรกฏาคม 2559 และจะประกาศผลการประมูลได้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้

"ทั้งนี้การยื่นเสนอราคาใน 3 สัญญาดังกล่าว ราคาที่ทางกลุ่มITD เสนอมา ช่วยเราประหยัดได้ราว1,370.3 ล้านบาท และที่ทางกลุ่มสามประสิทธิ์ เสนอมา ช่วยประหยัดไปกว่า 282.3 ล้านบาท รวมการลงทุนใน 2 สัญญานี้อยู่ที่ 1.40 หมื่นล้านบาท จากราคากลางซึ่งอยู่ที่ราว 1.56 หมื่นล้านบาท และถ้าหากสัญญาCSC ถ้าได้เท่าราคากลาง 880 ล้านบาท ทั้ง 3 สัญญานี้ จะมีการลงทุนอยู่ที่1.49 หมื่นล้านบาท เราประหยัดไปได้ราว 1,500 ล้านบาท จากราคากลางของ3สัญญานี้ ที่อยู่ที่ 1.64 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่นับรวมก่อนหน้านี้ที่ทอท.ปรับลดค่าก่อสร้างลงไปได้ราว 7.5 พันล้านบาท หรือลดลงไปราว 12-13% จากกรอบงบประมาณในการขยายการลงทุนสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 ที่ได้รับการอนุมัติจากครม.เมื่อปี2553 อยู่ที่ วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท "

นายนิตินัย ยังกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามภายในสัปดาห์นี้ทอท.คาดว่าจะตรวจสอบB.O.Q. หรือบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคา หรือการประมาณก่อสร้าง ที่ITD และกลุ่มสามประสิทธิ์ เสนอมาแล้วให้แล้วเสร็จ เพื่อนำเรื่องเสนอบอร์ด และลงนามสัญญาจ้างได้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม เพื่อให้แล้วเสร็จในปี2562 ซึ่งรัฐบาลต้องการเร่งรัด เพราะเมื่อเกิดการเซ็นสัญญากับผู้รับเหมา จะเบิกใช้เงินก่อสร้างได้ 10% จะทำให้ในช่วงอีก 2 เดือนนี้ มีเงินเข้าไปอัดฉีดเศรษฐกิจราว 1,400-1,500 ล้านบาท จากการจ้างงานและการก่อสร้างที่จะเกิดขึ้น

นอกจากนี้ทอท.เตรียมเปิดประกวดราคาอีก 1 สัญญาให้ได้ในปีนี้ คือ สัญญางานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) กรอบวงเงิน 3 พันล้านบาท ซึ่งผลจากสัญญานี้มีผู้ผลิตน้อยราย ทำให้ทอท.มีการนำวิธีการคำนวณราคากลาง เสนอให้ทางกรมบัญชีกลางพิจารณา โดยเสนอไปว่าควรคำนวณราคาขายส่ง ไม่ใช่ขายปลีก ภายใต้สเปกเหมือนเดิมไม่ได้มีการลดเสปก ซึ่งหากกรมบัญชีกลางเห็นด้วยกับวิธีการคำนวณราคากลางของทอท.จะเตรียมเปิดประมูลภายในปีนี้

ขณะที่สัญญาที่เหลือ อย่างสัญญางานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น 2-4) และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานระบบย่อย) สัญญางานจ้างก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก อาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก สัญญางานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) (ขาออก) จะจัดหาผู้รับจ้างได้ต่อไป ตามกรอบเวลาที่ต้องดำเนินการเปิดประมูลได้ครบทั้ง 7 สัญญาภายในต้นปีหน้า เพื่อให้โครงการก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จในปี2562

นายนิตินัย กล่าวต่อว่าในส่วนของโครงการใหม่ที่จะผลักดัน คือ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ของสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 3.4 หมื่นล้านบาทและงานก่อสร้างรันเวย์ 3 วงเงินราว 2.03 หมื่นล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นค่าก่อสร้างราว 1 หมื่นล้านบาทและชดเชยผลกระทบทางเสียงอีกราว 1 หมื่นล้านบาท เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการลงทุน

ขณะนี้ทอท.เสนอขอให้แยกงบค่าออกแบบใน 2 โครงการนี้ออกจากค่าก่อสร้าง ซึ่งจะนำมาจัดสรรอยู่ในงบประมาณปี2559 เพิ่มเติม ในระหว่างที่รอทั้ง 2 โครงการเข้าสู่กระบวนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งค่าออกแบบเป็นเงินไม่มาก อย่างรันเวย์ ค่าออกแบบอยู่ที่ 2% จากค่าก่อสร้าง 1 หมื่นล้านบาท หรืออยู่ที่ราว 200 ล้านบาท ส่วนค่าออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 อยู่ที่ 1.09% จากค่าก่อสร้าง 3.4 หมื่นล้านบาท โดยเรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์ และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ เพราะหากค่าออกแบบรวมอยู่ในค่าก่อสร้าง กว่าจะเริ่มดำเนินการได้ ต้องรอผ่านผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมผ่านก่อนจึงจะเริ่มกระบวนการได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559