เดินหน้าแผนหารายได้ รฟม.จ่อเสนอ ม. 44 ปลดล็อกที่เวนคืนรับพัฒนา

27 มิ.ย. 2559 | 02:00 น.
รฟม.เดินหน้าแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์รับแผนพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า จ่อเสนอใช้ม.44 ปลดล็อกปัญหาการพัฒนาพื้นที่ที่ได้จากการเวนคืน หวังพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้ปานกลางเขตกทม.-ปริมณฑล ส่วนแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วงส่อแววยุ่ง เหตุเจรจา BEM ไม่ลงตัว ซํ้าอาจเจอแจ๊กพอตเจอเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ด้าน กคช.ลั่นพร้อมเดินหน้าโครงการที่อยู่อาศัย หากแก้ก.ม.ผ่านน

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแนวทางการนำพื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดรถ ตลอดจนพื้นที่สถานีต่างๆ ตามโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของรฟม.ไปพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ให้กับ รฟม.ว่ามีอยู่หลายทำเลที่น่าจะนำไปพัฒนาได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี) และสายสีส้ม(ตลิ่งชัน-มีนบุรี)รวม 229 ไร่ที่ศูนย์ซ่อมมีนบุรี พื้นที่สายสีเขียวใต้(แบริ่ง-สมุทรปราการ) ศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดแล้วจรที่บางปิ้ง 18 ไร่ พื้นที่สายสีม่วง (เตาปูน-บางใหญ่) 14 ไร่

"รฟม.พร้อมสนับสนุนพื้นที่ให้กับการเคหะแห่งชาติ(กคช.)รับไปดำเนินการ ขึ้นอยู่กับกคช.จะพร้อมรับไปปฏิบัติได้เมื่อใด ขณะนี้ไม่ทราบว่ากคช.ดำเนินการไปถึงไหน เบื้องต้นแจ้งประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคของการพัฒนาให้กับสำนักงานกฤษฎีกาไปหมดแล้วกรณีความเห็นของการนำพื้นที่จากการเวนคืนไปใช้นอกเหนือจากวัตถุประสงค์การเดินรถ ซึ่งกรณีดังกล่าว รฟม.พร้อมสนับสนุนอีกทั้งยังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ กคช.มาแล้ว โดยแนวทางหนึ่งขึ้นอยู่กับว่านายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดล็อกให้ รฟม.สามารถนำที่ดินไปพัฒนาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยและพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้ รฟม.ก็สามารถทำได้ทันที"

สำหรับปมปัญหาการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของรถไฟฟ้ามหานครสายสีม่วงที่ยังเจรจากับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)(BEM) จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปผลการเจรจาได้ข้อยุติชัดเจน แม้ว่ารถไฟฟ้า MRT จะระบุไว้ในสัญญาสัมปทาน แต่สายสีม่วงนี้เดิม รฟม.คิดว่าจะรับดำเนินการเองแต่ไม่สามารถดำเนินการได้จึงคิดว่าให้เอกชนรับไปดำเนินการจะเหมาะสมมากกว่า ส่วนให้ประกวดราคาหรือเจรจากับรายเดิมต้องพิจารณารายละเอียดกันอีกครั้ง ซึ่งอาจจะต้องตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อปลดล็อกกรณีที่อาจถูกมองว่าจะให้เพียงแต่ BEM หรือต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556 เนื่องจากหากรวมมูลค่าแต่ละพื้นที่จะพบว่ามีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาทที่ต้องเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 2556

"ต้องพิจารณาเชิงลึกในภาคปฏิบัติว่าหากนำรายอื่นมาดำเนินการจะสามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากมีผู้ประกอบการ 2-3 รายปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ประการสำคัญยังเกี่ยวข้องกับการเดินรถอีกด้วย จึงต้องดูความเหมาะสมให้รอบคอบซึ่งจะเป็นอำนาจของคณะกรรมการ(บอร์ด)รฟม. ขณะนี้แนวทางการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ปี 2556 มีแนวโน้มสูงมาก"

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงของรฟม.รายหนึ่งกล่าวว่า ขณะนี้การร่วมมือกับกคช.ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใดโดยเฉพาะการเซ็นเอ็มโอยูฉบับใหม่ที่จะพัฒนาพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัยของสายสีเขียวใต้ในพื้นที่บางปิ้ง จังหวัดสมุทรปราการ ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง โดยสร้างบนอาคารจอดรถไฟฟ้า

"หากสร้างบนที่ดินตามอาคารและศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้ารัฐจะลดค่าใช้จ่ายเรื่องที่ดินลงไปได้อีกมากขณะนี้พบว่ายังไม่มีผู้ขับเคลื่อนโครงการที่ชัดเจน อยากให้มองว่านี่คือการตอบโจทย์ที่จะป้อนผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าได้ชัดเจนกว่า รัฐควรมองประโยชน์การนำพื้นที่เชิงสูงและอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าไปดำเนินการ ซึ่งแนวคิดของนายกรัฐมนตรีจะช่วยให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยของตนเองมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางที่มีจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล"

นายสุภัคร ลดาวัลย์ ณ อยุธยา รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า หาก รฟม.สามารถแก้ไขกฎระเบียบที่ติดขัดในตัวพ.ร.บ.เวนคืนได้ ทาง กคช.พร้อมจะเร่งดำเนินการก่อสร้างที่อยู่อาศัยทันที โดยลักษณะของโครงการที่เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว จะเป็นในลักษณะการเช่าเซ้งอาคารชุดพักอาศัยระยะยาว สำหรับผู้มีรายได้น้อย และผู้มีรายได้ปานกลาง

"การแก้ไข พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินถือเป็นเรื่องใหญ่ที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลานานในการปรับแก้ โดยรูปแบบที่คิดไว้ในเบื้องต้นคือ จะพัฒนาในรูปแบบของโครงการมิกซ์ยูส มีทั้งส่วนพักอาศัยและพื้นที่รีเทล เพื่อการใช้ประโยชน์พื้นที่สูงสุด ลักษณะเดียวกับประเทศฮ่องกง" นายสุภัครกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559