ร.ฟ.ท.เล็งร่วมทุนเอกชน เตรียมแปลงทรัพย์สินแอร์พอร์ตลิงค์กว่า 3 หมื่นล้านเดินรถ

29 มิ.ย. 2559 | 06:00 น.
"วุฒิชาติ" เล็งแปลงทรัพย์สินแอร์พอร์ตลิงค์กว่า 3 หมื่นล้าน เป็นทุนในโครงการร่วมทุนเอกชนเดินรถ ส่วนการเสนอครม.อนุมัติสร้างส่วนต่อขยายพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมืองประมูลทันปลายปีนี้ ล่าสุดตอบอุทธรณ์กิจการร่วมค้าซีซีอาร์แล้วกรณียืนยันผลการยกเลิกจัดซื้อ 7 ขบวนและอยู่ระหว่างการร่างทีโออาร์จัดซื้อรอบใหม่รอ "รฟฟท."ส่งผลศึกษาเรื่องระบบอาณัติสัญญาณระบบเปิดเพื่อระบุในเงื่อนไขต่อไป

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงแผนร่วมทุนเดินรถโครงการรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานในเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(แอร์พอร์ตลิงค์) ว่าผลการศึกษาเป็นไปในรูปแบบการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 โดยจะแปลงทรัพย์สินเป็นทุนในการร่วมลงทุน ส่วนผู้ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนรายใหม่ก็จะต้องกำหนดวงเงินให้ชัดเจน โดยเฉพาะทรัพย์สินเดิมวงเงินจำนวนเท่าใด จะต้องใช้เงินจำนวนทั้งสิ้นเท่าใด

"หากจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เอกชนรายนั้นสามารถเดินรถให้บริการได้ทั้งเส้นทางปัจจุบันกับเส้นทางส่วนต่อขยายในอนาคต โดย ร.ฟ.ท.จะนำทรัพย์สินตลอดเส้นทาง รวมทั้งภาระหนี้สินเดิมอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาทไปเจรจาด้วย บวกรวมกับรายการใหม่ที่จะเกิดขึ้น เมื่อหักค่าเสื่อมแล้ว ส่วนที่จะต้องบวกเพิ่มอีกจะใช้วงเงินจำนวนเท่าไหร่ จึงจะเห็นสัดส่วนการลงทุนของแต่ละฝ่าย ส่วนพนักงานแอร์พอร์ตลิงค์สามารถกลับเข้ารับหน้าที่ในร.ฟ.ท.ได้เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ"

นายวุฒิชาติ กล่าวอีก การร่วมทุนแอร์พอร์ตลิงค์นั้นการดำเนินงานจะเป็นในรูปเอกชน โดยจะเร่งสรุปให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนี้ แต่เนื่องจากกระบวนการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนจะมีกรอบระยะเวลาดำเนินการประมาณ 9 เดือนและคงต้องรอความเห็นของคณะกรรมการตามมาตรา 35 พิจารณาประกอบไปด้วย

ด้านนายสราวุธ เบญจกุล ประธานคณะกรรมการของร.ฟ.ท.กล่าวว่า บอร์ดร.ฟ.ท.มีมติเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2559 อนุมัติให้ร.ฟ.ท.ดำเนินโครงการร่วมลงทุนเอกชน พร้อมดำเนินโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-พญาไท และส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง การอนุมัติในครั้งนี้จะดำเนินงานร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการ 40 ปี ภายใต้กรอบวงเงิน 41,870 ล้านบาทโดยมีอัตราผลตอบแทนการลงทุนทางการเงิน (Financial Internal Rate of Return : FIRR) 13.7% โดยร.ฟ.ท.จะลงทุน 24,236 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในกรอบวงเงินที่สามารถดำเนินการได้

แหล่งข่าวระดับสูงของร.ฟ.ท.รายหนึ่งกล่าวถึงกรณีการจัดซื้อ 7 ขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์วงเงินกว่า 4,400 ล้านบาทที่ถูกยกเลิกไปนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างเอกสารประกวดราคารอบใหม่ซึ่งยังรอรายละเอียดเรื่องระบบอาณัติสัญญาณเปิดจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) อีกทั้งยังพบว่ากิจการรวมค้าซีซีอาร์ที่ชนะการประกวดราคาครั้งนี้ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อร.ฟ.ท. ล่าสุดบอร์ดร.ฟ.ท.ได้ตอบอุทธรณ์กรณียกเลิกการประกวดราคาจัดซื้อรถไฟฟ้าธรรมดา(City Line Airport Rail Link) จำนวน 7 ขบวน และได้นัดกิจการร่วมค้าซีซีอาร์ทำสัญญาซื้อขายด้วยนั้น

แต่ทางพล.อ.ดรัณ ยุทธวงษ์สุข รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) (ตำแหน่งขณะนั้น)ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับระบบอาณัติสัญญาณการเดินรถของการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ว่า ระบบในปัจจุบันมีความถี่ในการเดินรถที่ 8 นาทีต่อขบวน เมื่อได้รับขบวนรถไฟฟ้าใหม่ 7 ขบวนแล้วก็ไม่สามารถปรับปรุงให้มีความถี่ในการเดินรถต่ำกว่านี้ได้ ทำให้ไม่สามารถเดินรถให้บริการในระบบของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ได้ เนื่องจากมีจำนวนรถเกินกว่าที่ระบบอาณัติสัญญาณและการเดินรถจะรองรับได้ อีกทั้งปัจจุบันถึงกำหนดต้องปรับปรุงระบบและทำการซ่อมบำรุง จึงเห็นสมควรปรับปรุงให้เป็นระบบเปิด

"การยกเลิกจัดซื้อในครั้งนี้สร้างความไม่มั่นใจให้กับการลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ต้องติดตามความคืบหน้าจากกรณีดังกล่าวนี้ด้วยว่าจะส่งผลกระทบให้โครงการล่าช้าจนเกิดความเสียหายต่อการให้บริการผู้โดยสารอย่างไรหรือไม่"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559