ดัน 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน สู่ศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปภูมิภาคอาเซียน

28 มิ.ย. 2559 | 09:00 น.
กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอนทุ่มงบ ขับเคลื่อนโครงการพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ ผลักดันเพื่อให้ก้าวสู่เป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในภูมิภาคอาเซียน

นางจันทรรัตน์ ปิยพัทธไชย์ อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้บันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดทำโครงการพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมอาหารภาคเหนือ (Northern Thailand Food Valley)เพื่อบูรณาการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูปของภาคเหนือ โดยส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนา เน้นการนำนวัตกรรมใหม่เชิงสร้างสรรค์ เพื่อสู่เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในภูมิภาคอาเซียน

ในส่วนของ 4 จังหวัดภาคเหนือมีโรงงานแปรตอนบน 1 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮองสอน มีโรงงานแปรรูปการเกษตรและอาหารมากถึง 2,500 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 46 ของโรงงานทั้งหมด อีกทั้งพืชผลทางการเกษตรที่โดดเด่นและสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น ข้าว ลำไย ข้าวโพด พืชผักผลไม้เมืองหนาวเป็นต้น ประกอบกับมีสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในด้านการวิจัยและพัฒนาทางด้านการเกษตร เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นต้นที่สำคัญ ผู้ประกอบการได้ให้ความสำคัญจึงพัฒนาจนเกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น การจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และการศึกษาดูงานในประเทศที่เป็นต้นแบบ เช่น เนเธอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังขับเคลื่อนโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง การจัดทำฐานข้อมูลศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูป โดยงบประมาณจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ และการจัดทำฐานข้อมูลพืชเศรษฐกิจเชิงลึกเพื่อวางแผนการผลิตและการจัดโซนนิ่งที่เหมาะสม โดยงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับนโยบาย และระดับพื้นที่เป็นอย่างดี

โดยจัดสรรงบประมาณดังนี้ อาทิ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร เกษตรแปรรูป และอาหาร ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ,การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบใหม่ โดยเชื่อมโยงนำเอานวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ,การเชื่อมโยงสู่ตลาดระดับประเทศ และระดับนานาชาติ เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาดและขยายช่องทางการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์อาหารของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลสำหรับการเพิ่มยอดขายในกลุ่มฯ ตั้งเป้าไว้ ประมาณ 30%

นายจักริน วังวิวัฒน์ ประธานจัดงาน Northern Food Valley 2016 กล่าวว่า จากนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลกของรัฐบาล ในการมุ่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตอาหารในระดับนานาชาติ ซึ่งภาคเหนือของประเทศไทยถือเป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการผลิตอาหาร เนื่องจากจุดแข็งของภาคเหนือ ที่เป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ของประเทศ มีความหลกาหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ทำให้หลายังหวัดในภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปางและแม่ฮ่องสอน กลายเป็นแหล่งผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อการส่งออกทำรายได้เข้าประเทศต่อปีมูลค่ามหาศาล ส่งผลดีต่อเกษตรกรในภาคการผลิตธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และอาหารตลอดจนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งระบบรวมทั้ง

มีแหล่งความรู้เกี่ยวกับอาหารมากมาย มีสถาบันการศึกษา ที่มีผลงานด้านการวิจัยพัฒนาสาขาการเกษตรและชีวเทคโนโลยีเป็นทุนอยู่จำนวนมาก ที่จะสามารถแปรองค์ความรู้ที่ได้ จากการวิจัยและพัฒนาให้เป็นรูปธรรม อันนำมาซึ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งผู้ประกอบการ เกษตร นำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านอาหารที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ อันจะเป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านความรู้ และเป็นจุดแข็งที่ช่วยดึงดูดการลงทุนากต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนและเปิดช่องทางด้านการตลาดของสินค้าเกษตร ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือได้พัฒนาศักยภาพและสามารถเชื่อมโยงตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการ ยกระดับการผลิตให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เป็นผู้นำด้านการผลิต สินค้าปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ป้อนสู่ตลาดโลก ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดการดำเนินโครงการ Northern Food Valley เพื่อริเริ่มการสร้างฐานที่มั่นคงของอุตสาหกรรมอาหารของภาคเหนือให้เดินหน้าไปสู่ครัวโลก หรือ Food Forward ได้อย่างมั่นคง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559