กรมโรงงานฯ จับมือ สวทช. ลุยอัพดีกรีเทคโนโลยีให้โรงงานทั่วประเทศ

23 มิ.ย. 2559 | 04:55 น.
 

[caption id="attachment_64730" align="aligncenter" width="336"] ดร.พสุ โลหารชุน ดร.พสุ โลหารชุน[/caption]

ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)  และรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือพัฒนา “โครงการบูรณาการตรวจโรงงานเชิงสร้างสรรค์และส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ Thailand Spring Up ยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มมูลค่าของกากอุตสาหกรรม ให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานฯ จะส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจโรงงานอุตสาหกรรมจำนวน 7,200 โรงงานทั่วประเทศ พร้อมด้วยนักวิชาการจาก สวทช. ให้คำแนะนำและรวบรวมข้อมูลปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการผลิตของผู้ประกอบการแต่ละรายมาทำการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการต่อยอดและถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม ปัจจุบันได้ตรวจโรงงานไปแล้ว 4,400 โรงงาน และอีก 2,800 โรงงานที่จะต้องดำเนินการตรวจโรงงานให้ครบตามแผนในปีนี้ มีผู้ประกอบการสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 116 ราย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีแผนการดำเนินงานทั้งหมด 2 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2560 ด้วยงบประมาณการลงทุนกว่า 40 ล้านบาท สามารถสร้างผลตอบแทนมูลค่าเพิ่มกว่า 300 ล้านบาท หรือ 7.5 เท่าจากเงินลงทุนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทย

โครงการบูรณาการตรวจโรงงานเชิงสร้างสรรค์และส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นโครงการที่เกิดจากข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง “ก้าวกระโดดประเทศไทย (Thailand Spring Up) ยกระดับเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย ลดการใช้พลังงาน และเพิ่มมูลค่าของกากอุตสาหกรรมให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม” ระหว่างกรมโรงงานฯ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการพัฒนาให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยการส่งผู้เชี่ยวชาญของกรมโรงงานฯ พร้อมด้วยนักวิชาการจาก สวทช. เข้าไปวินิจฉัยปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานกลุ่ม SMEs ทั่วประเทศ พร้อมให้คำปรึกษาแนะนำด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การลดต้นทุน การประหยัดพลังงาน และประกอบกิจการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้วยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งโครงการดังกล่าวมีแผนการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2559-2560 มีงบประมาณการลงทุนกว่า 40 ล้านบาท คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ภาคอุตสาหกรรมไทย 7.5 เท่าจากการลงทุน คิดเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท โดยตั้งเป้าใน 2 ปี จะส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการโรงงานเข้าร่วมโครงการอย่างน้อย 100 ราย พร้อมสนับสนุนงบประมาณการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานรายละไม่เกิน 400,000 บาท ผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (Innovation and Technology Assistance Program: ITAP) ของ สวทช.

ดร.พสุ  กล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินงานดังกล่าว กรมโรงงานฯ มีแผนปฏิบัติการตรวจโรงงานจำนวน 7,200 โรงงานทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้ตรวจโรงงานไปแล้ว 4,400 โรงงาน และอีก 2,800 โรงงานที่จะต้องดำเนินการตรวจโรงงานให้ครบตามแผนในปีนี้ โดยมีขั้นตอนการดำเนินงานคือ กรมโรงงานฯ ลงพื้นที่ตรวจโรงงานพร้อมเชิญชวนเข้าร่วมโครงการ จากนั้นจะคัดเลือกและส่งรายชื่อโรงงานที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกให้ สวทช. พิจารณาเพื่อเตรียมส่งนักวิชาการเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำเบื้องต้นด้วยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของโรงงาน อาทิ การบริหารการผลิต  กระบวนการผลิต วิเคราะห์ทดสอบ ฯลฯ รวมถึงกิจกรรมการอบรมสัมมนา และการจัดหาทรัพยากรสนับสนุนที่จำเป็น ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการโรงงานสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้วจำนวน 116 รายในกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมการแปรรูปโลหะ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  แปรรูปอาหาร ยานยนต์และชิ้นส่วน และ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยพบว่าโรงงานกลุ่มดังกล่าวมีความต้องการปรับปรุงด้านพลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพ และด้านสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปโลหะที่ส่วนใหญ่มีความต้องการปรับปรุงและพัฒนาในด้านพลังงานและประสิทธิภาพมากที่สุด

ที่ผ่านมานั้น สวทช. ได้นำงานวิจัยและนวัตกรรมช่วยส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เพื่อช่วยโรงงานลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น อาทิ การพัฒนาระบบการผลิตแม่พิมพ์ขึ้นรูปโลหะ การพัฒนาโปรแกรมใช้งานอุปกรณ์สื่อสารไร้สายแบบสองทาง การวิจัยและพัฒนาเครื่องปั้นขนมไทย การพัฒนาการผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรกลและยานยนต์ด้วยระบบควบคุมคอมพิวเตอร์ การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการโรงงาน SMEs เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนากระบวนการผลิตให้มีผลผลิตมากขึ้นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการนำวิจัยและเทคโนโลยีไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยสู่ระดับสากลต่อไป