อบต.ดอนหัน ได้ขออนุมัติทำโครงการขุดลอกหนองน้ำสาธารณประโยชน์บ้านดอนน้อย

22 มิ.ย. 2559 | 11:21 น.
วันที่ 22 มิ.ย.2559 พันตำรวจโทพงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีกรมสอบสวน คดีพิเศษ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่สังกัดสำนักคดีความมั่นคงและศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สตง.จังหวัดขอนแก่น ป.ป.ท.เขตพื้นที่ 4 จังหวัดขอนแก่น ในนามของ ศอตช. และสำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการขุดลอกหนองโด หมู่ที่ 6 ต.ดอนหัน อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น

จากการตรวจสอบพบว่าโครงการดังกล่าว อบต.ดอนหัน ได้ขออนุมัติทำโครงการขุดลอกหนองน้ำสาธารณประโยชน์บ้านดอนน้อย หมู่ที่ 6 ต.ดอนหัน อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น จากเอกสารที่ตรวจสอบ พบความผิดปกติ ดังนี้
1. จากการตรวจสอบสัญญาว่าจ้างขุดลอกหนองโด (สัญญาเลขที่ 2/2554) ตรวจสอบทะเบียนคุมสัญญาของ อบต.ดอนหัน พบว่า สัญญาเลขที่ 2/2554 เป็นสัญญาว่าจ้างทำร่องระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ไม่พบโครงการขุดลอกหนองน้ำสาธารณประโยชน์ (หนองโด) ในทะเบียนคุมของ อบต.แต่อย่างใด

[caption id="attachment_64618" align="aligncenter" width="503"] ขุดลอกหนองโด ขุดลอกหนองโด[/caption]

2. เอกสารโครงการขุดลอกหนองน้ำสาธารณประโยชน์ (หนองโด) จากเอกสารการขออนุมัติโครงการ พบเอกสารหน้าที่ 2 จำนวน 2 แผ่น ซึ่งมีความแตกต่างกัน ใน ข้อ 5 ระยะเวลาดำเนินการ ปีงบประมาณ 2554 และอีกแผ่นหนึ่ง ข้อ 5 ระยะเวลาดำเนินการ ปีงบประมาณ 2554-2559 หรือจนกว่าจะแล้วเสร็จตามสัญญาหรือข้อตกลง
3. ตรวจสอบเอกสารการขอต่อสัญญา พบว่าบริษัทเอกชนคู่สัญญาได้ทำหนังสือขอต่อสัญญาขุดลอก หนองโด ลงวันที่ 2 ก.พ.2559 แต่ อบต.ดอนหันโดยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้จัดทำบันทึกขอต่อสัญญาขุดลอกหนองโดต่อนายก อบต.ดอนหัน ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2559 เป็นการดำเนินการก่อนที่ผู้รับจ้างจะมีหนังสือขอต่อสัญญา
4. ในการดำเนินการขุดลอกหนองโด ผู้รับจ้างมีการดูดทรายไปใช้ประโยชน์แทนค่าจ้าง แต่จาก การตรวจสอบในเบื้องต้นไม่พบว่ามีการขออนุญาตดูดทรายในพื้นที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวแต่อย่างใด
5. จากการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 10 และได้มีการจัดเก็บตัวอย่างน้ำในหนองโดไปทำการตรวจสอบเบื้องต้นทั้งหมด 6 จุด พบว่ามีค่าการนำไฟฟ้าของน้ำสูงกว่าบริเวณอื่นเนื่องจากมีการปนเปื้อนของสารละลายที่เพิ่มขึ้นจากปกติ นอกจากนี้น้ำที่ขุ่นค่อนข้างมากในแหล่งน้ำอาจเกิดจากการขุดและล้างดินทรายซึ่งส่ง ผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำ
จากข้อเท็จจริงข้างต้นจะเห็นได้ว่าการดำเนินการขุดลอกหนองน้ำสาธารณประโยชน์ (หนองโด)
มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าอาจไม่ชอบด้วยระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ดูดทราย พ.ศ. 2546 เป็นการดำเนินการที่ฝ่าฝืนเงื่อนไข ทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 9 (2) และ มาตรา 108 ทวิ วรรคสาม, พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ประกอบกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม ขุด ตัก ลอก หรือดูดทรายหรือดินในที่ดินกรรมสิทธิ์ สำหรับใช้ในการก่อสร้าง ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาต (ข้อ 15 ห้ามระบายน้ำทิ้งลงแหล่ง น้ำสาธารณะ เว้นแต่ปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งทั้งหมดของโรงงานให้มีลักษณะเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) หรือ ข้อ 17 การประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรมขุด ตัก ลอก หรือดูดทรายหรือดินที่ก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหาย และความเดือดร้อนแก่บุคคลและทรัพย์สินและหากการดำเนินการของ อบต.ดอนหันและผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การจัดทำโครงการ รวมทั้งการควบคุมงาน การตรวจการจ้าง ไม่เป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ หากกรณีเข้าข่ายเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จะได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
สำหรับกรณีนี้หน่วยราชการใน ศอตช. จะนำข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมพยานหลักฐานไปสำหรับพฤติการณ์ของผู้ประกอบการจะได้แจ้งให้ผู้ปกครองท้องที่พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทั้งในเรื่องทางอาญา ทางแพ่ง และทางปกครองต่อไป