เกษตรฯปรับทิศวิจัยพัฒนาการผลิตพืช ตอบโจทย์ปัญหาเกษตรกร-ภาคเอชน

22 มิ.ย. 2559 | 07:27 น.
กรมวิชาการเกษตรปรับทิศทางวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชปี 60 ตอบโจทย์ปัญหาเกษตรกร-เอกชน มุ่งพัฒนาพืชเศรษฐกิจหลัก-พืชเฉพาะท้องถิ่นให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ วางเป้าเพิ่มปริมาณผลผลิตคุณภาพปลอดภัย ช่วยลดต้นทุน พร้อมเสิร์ฟผลงานที่สำเร็จสู่ประชารัฐ เสริมแกร่งแข่งขันตลาดอาเซียน

นายสมชาย  ชาญณรงค์กุล  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกพืชต้องประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ได้ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ บางส่วนใช้พื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสม พันธุ์พืชยังมีจำกัด ทั้งยังมีการจัดการพื้นที่ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้ปัจจัยการผลิตมากหรือน้อยเกินไปและไม่สมดุลกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด ขณะเดียวกันยังมีปัญหาด้านคุณภาพและการสร้างมาตรฐานสินค้าเพื่อแข่งขันกับตลาดประเทศ และมีปัญหาผลผลิตไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด นอกจากนั้น ยังได้รับผลกระทบจากนโยบายต่างๆ อาทิ การเปิดเสรีการค้าเอฟทีเอ (FTA) และอาฟต้า (AFTA) รวมถึงกฎระเบียบของประเทศผู้นำเข้า และกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร และเกษตรกรยังต้องเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ซึ่งส่งผลต่อระบบการผลิตพืชค่อนข้างมาก

จากปัญหาดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2560 นี้ กระทรวงเกษตรฯโดยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรปรับทิศทางขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตามนโยบายเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นศึกษา วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตด้านพืชและเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาการผลิตพืชให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคเอกชน ทั้งพืชเศรษฐกิจหลัก และพืชเศรษฐกิจเฉพาะพื้นที่หรือพืชท้องถิ่น เพื่อให้เกษตรกรได้รับผลผลิตสูงขึ้น มีคุณภาพดี และมีความปลอดภัย ทั้งยังมีความทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช เหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพาะปลูก พร้อมพัฒนาการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้สินค้าพืชผักและผลไม้ของไทยในเวทีการค้าอาเซียนและตลาดโลกด้วย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวอีกว่า ได้มอบหมายให้นักวิจัยของกรมวิชาการเกษตรทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เร่งวิจัยและพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ทั้งพืชเศรษฐกิจและพืชท้องถิ่นในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่า จะได้ผลงานวิจัยพันธุ์พืชใหม่ที่มีศักยภาพสูง ได้ต้นแบบเครื่องจักรกลการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เพิ่มผลผลิต   พร้อมแนวทางการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกได้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สามารถผลิตสินค้าพืชผักและผลไม้ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยและตรงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ และคาดว่า จะสามารถถ่ายทอดผลงานวิจัยที่ประสบความสำเร็จไปสู่เกษตรกร กลุ่มผู้บริโภค รวมถึงภาคธุรกิจหรือภาคการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และประชารัฐ ให้นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม และสอดรับกับทิศทางของประเทศและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย อาทิ ประเทศไทย 4.0 ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล และสังคมประชารัฐ เป็นต้น

“ประเด็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชมีหลายเรื่อง อาทิ ปริมาณผลผลิตกระจุกตัว ทำให้ราคาที่เกษตรกรขายได้ในพื้นที่ตกต่ำ จำเป็นต้องศึกษาหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการกระจายผลผลิตให้สอดรับกับความต้องการของตลาด นอกจากนั้น ยังต้องเร่งวิจัยและพัฒนาแก้ไขปัญหาศัตรูพืชที่กระทบต่อคุณภาพผลผลิต รวมทั้งึพัฒนาเทคนิคและระบบตรวจสอบรับรองที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ และต้องวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อลดความเสียหายและยืดอายุผลผลิต ตลอดจนพัฒนาเทคโนโลยีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตหรือสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันได้ในอนาคต” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว