ส่งออกไก่ยันปีนี้9.1หมื่นล้าน 4เดือนแรกพุ่งทั้งปริมาณ-มูลค่า/GFNจี้รัฐขอโควตาอียูเพิ่ม

24 มิ.ย. 2559 | 07:00 น.
ส่งออกไก่ยังมั่นใจเป้าทั้งปี 7 แสนตัน 9.1 หมื่นล้านบาท หลัง 4เดือนยอดส่งออกโตทั้งปริมาณ และมูลค่า ผลพวงตลาดญี่ปุ่นนำเข้าเพิ่มทั้งไก่แปรรูปและไก่สด สั่งจับตาไก่ฟิลิปปินส์แย่งแชร์เพิ่ม ด้านจีเอฟพีทีนิชิเร ชี้ตลาดญี่ปุ่นสดใส หลังได้เครือข่ายผู้ถือหุ้นจากแดนซามูไรช่วยทำตลาด ขณะตลาดอียูติดข้อจำกัดโควตา ร้องรัฐบาลไทยเจรจาขอเพิ่ม เล็งยอดขายบริษัทปีนี้กว่า 8 พันล้าน

[caption id="attachment_64992" align="aligncenter" width="700"] ตลาดส่งออกสินค้าไก่ของไทยปี 2558 ตลาดส่งออกสินค้าไก่ของไทยปี 2558[/caption]

นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงการส่งออกสินค้าไก่ของไทยช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ว่า สามารถส่งออกได้แล้วปริมาณ 2.19 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน(2558)ที่ส่งออกได้ 2.07 แสนตัน หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.3% ส่วนด้านมูลค่าส่งออก 2.80 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออก 2.60 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.6% ในจำนวนนี้ส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นสัดส่วน 47% และตลาดสหภาพยุโรป(อียู) 43% และอีก 10% ส่งออกไปตลาดอื่นๆ เช่น อาเซียน ฮ่องกง เกาหลีใต้

"การส่งออกสินค้าไก่ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ตลาดญี่ปุ่นขยายตัว(ทั้งด้านปริมาณ และมูลค่า) 15% เพราะเป็นตลาดที่ไม่มีโควตามาเป็นข้อจำกัด ทำให้ไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไก่สดแช่แข็งที่ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ไทยส่งออกไก่สดได้กว่า 3 หมื่นตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งออกได้ 2.6 หมื่นตัน ส่วนแปรรูปหรือไก่ปรุงสุกส่งออกได้ 7.2 หมื่นตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.3 หมื่นตัน"

ขณะที่ตลาดอียูอีกหนึ่งตลาดหลัก ช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกขยายตัว 1% เนื่องจากมีโควตาภาษีมาเป็นข้อจำกัด โดยในส่วนของไก่สดส่งออกได้ 3 หมื่นตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งออกได้ 3.3 หมื่นตัน ส่วนไก่แปรรูปไทยส่งออกได้เพิ่มขึ้นเป็น 6.4 หมื่นตัน จากช่วงเดียวกันของปีก่อนส่งออกได้ 6 หมื่นตัน ขณะที่ตลาดอื่นๆ เช่น มาเลเซีย เมียนมา ฮ่องกง เกาหลีใต้ ส่งออกลดลงทุกตลาด ซึ่งอาจเป็นผลจากผลผลิตไก่ในประเทศเหล่านี้มีมากขึ้น หรือมีสินค้าของประเทศคู่แข่งขันเช่นบราซิล สหรัฐอเมริกาเข้าไปทำตลาด แต่ทั้งนี้คาดการส่งออกสินค้าไก่ของไทยไปยังประเทศเหล่านี้ในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น

ทางสมาคมยังมั่นใจการส่งออกสินค้าไก่ของไทยในปี 2559 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 7 แสนตัน(จากปี 2558 ส่งออก 6.81 แสนตัน) มูลค่า 9.1 หมื่นล้านบาท (จากปี 2558 มีมูลค่า 8.8 หมื่นล้านบาท) จะสามารถทำได้ เพราะเป็นสินค้าอาหารจำเป็นต่อการบริโภค แต่ในแง่ราคาส่งออกในภาพรวมในปีนี้จะปรับตัวลดลงจากปีที่ 5-10% จากผลผลิตไก่ในประเทศของไทยและผลผลิตไก่ของประเทศคู่แข่งขันมีเพิ่มขึ้น ทำให้การแข่งขันด้านราคามีสูง ขณะที่ต้องจับตาประเทศฟิลิปปินส์ที่พยายามส่งออกสินค้าไก่ไปตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 6-7 พันตัน จากอดีตเคยส่งออกได้เพียงปีละ 3 พันตัน ซึ่งจะแย่งส่วนแบ่งตลาดไทยไปได้ส่วนหนึ่ง

สอดคล้องกับนายเจษฎา ศิริมงคลเกษม ประธานบริษัท จีเอฟพีที นิชิเร (ประเทศไทย)จำกัด หรือ GFN เปิดเผยว่า ยอดขายของบริษัทในปี 2558 ประมาณ 8,000 ล้านบาท ในปี 2559 คาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3-4% (มีมูลค่า 8,240-8,320 ล้านบาท) โดยสัดส่วน 65% เป็นรายได้จากการส่งออก และอีก 35% จากตลาดในประเทศ

สำหรับการขยายตัวของยอดขายที่ไม่มากนักในปีนี้เป็นผลจากราคาไก่ทั้งในและต่างประเทศปรับตัวลดลง และมีการแข่งขันสูงกับสินค้าไก่จากบราซิลในตลาดญี่ปุ่น และแข่งขันสูงกับไก่จากบราซิล และจากยุโรปตะวันออก เช่นโปแลนด์ในตลาดอียู รวมถึงตลาดอียูยังมีข้อจำกัดเรื่องโควตาภาษีนำเข้าสินค้าไก่ที่ให้กับไทยในส่วนของไก่แปรรูปปีละ 1.6 แสนตัน(ภาษีในโควตา 0% นอกโควตาเสีย 602-1,027 ยูโร/ตัน) และโควตาไก่สดในส่วนของไก่หมักเกลืออีก 9.2 หมื่นตันต่อปี(ในโควตาเสียภาษี 15.4 ยูโร/ตัน นอกโควตาเสีย 1,300 ยูโร/ตัน) ซึ่งอยากให้รัฐบาลไทยช่วยเจรจากับอียูเพื่อขอขยายโควตาภาษีนำเข้าเพิ่ม

"สินค้าไก่ของบริษัทที่ทำตลาดส่งออก สัดส่วน 60% ตลาดญี่ปุ่น โดยมีนิชิเรผู้ร่วมทุนช่วยทำตลาด อีก 40% ส่งออกไปตลาดยุโรปเกือบทุกประเทศ ภาพรวมบริษัทส่งออกปีหนึ่งประมาณ 4 หมื่นตัน ส่วนใหญ่เป็นไก่แปรรูป ในจำนวนนี้สัดส่วน 25% ส่งออกเป็นไก่สดไปยังยุโรป และทำตลาดในประเทศปีละประมาณ 5 หมื่นตัน ซึ่งเวลานี้บริษัทใช้กำลังผลิตอยู่ที่ประมาณ 1 แสนตันต่อปี และมีเป้าหมายจะขยายไลน์เพื่อผลิตเต็มเพดานการผลิตที่ 1.4 แสนตันในปี 2564 โดยจะใช้เงินลงทุนด้านเครื่องจักรประมาณ 400-500 ล้านบาทต่อปี"

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,168 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559