กรมส่งเสริมอุตฯต่อยอดฝึกอบรม NEC ก้าวสู่ ‘เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ’

24 มิ.ย. 2559 | 04:00 น.
ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญต่อการส่งเสริม สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี) โดยปัจจุบันยกระดับเรียกว่า “เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ” ผู้ประกอบการใหม่ที่ลงทุนจะต้องมีเรื่องอินโนเวชันหรือนวัตกรรมและมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำธุรกิจเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้า ทำให้ชื่อของ สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ หรือ สพก.ในสังกัดกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.)ถูกโฟกัสถึงมากขึ้น เพราะทำหน้าที่ศึกษาค้นคว้าและพัฒนาองค์ความรู้ รูปแบบการสร้างและการพัฒนาผู้ประกอบการให้เหมาะสมกับประเภทอุตสาหกรรม ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสร้างธุรกิจใหม่ด้วยนวัตกรรม ล่าสุดวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงบทบาทและเป้าหมายการทำงานของสพก.

[caption id="attachment_64952" align="aligncenter" width="700"] 7ทีมที่ผ่านการคัดเลือกได้รับเงินทุนจาก Angel Fund 7ทีมที่ผ่านการคัดเลือกได้รับเงินทุนจาก Angel Fund[/caption]

ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผู้ประกอบการ ฉายภาพให้เห็นว่า บทบาทของสพก.จะดูผู้ประกอบการตั้งแต่เป็นเด็ก จนเติบโต โดยเข้าไปช่วยในเรื่ององค์ความรู้ ใส่ความรู้ที่ทันสมัยเข้าไป จริงๆ แล้วตัวสำนักเราเป็นทั้งให้ความรู้และคิดรูปแบบการพัฒนาใหม่ๆ เช่น ผู้ประกอบการบางรายเป็นรุ่นลูก แต่ไม่อยากทำธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ ที่พ่อทำไว้ แต่เสียดายธุรกิจ เขาก็สามารถนำกระบวนการเดิมของธุรกิจมาเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเป็นสินค้าตัวใหม่ หรือนำวัตถุดิบเดิมมาเปลี่ยนเป็นสินค้าตัวใหม่ หรือฉีกแนวธุรกิจไปเลยก็มี เช่นรุ่นพ่อทำท่อยางหุ้มแอร์ พอรุ่นลูกก็นำท่อยางดังกล่าวไปพัฒนาเป็นของเล่นเด็กส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นกว่าผลิตภัณฑ์เก่า หรือรุ่นพ่อผลิตทองคำรูปพรรณ เมื่อมาถึงรุ่นลูกก็นำมาแปรรูปเป็นเครื่องประดับที่มีทองและปรับธุรกิจเดิมให้ทันสมัยขึ้น พ่อก็ไม่รู้สึกว่าธุรกิจหายไป เหล่านี้เป็นแนวคิดของสำนักพัฒนาผู้ประกอบการที่ลงไปช่วยผู้ประกอบการช่วยคิดรูปแบบการพัฒนา ซึ่งแนวคิดในลักษณะแบบนี้เรานำร่องไปแล้ว 40-50 ราย เริ่มมาตั้งแต่เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว และตอนนี้ธุรกิจกลุ่มนี้ก็เติบโต มีมูลค่ายอดขายสูงขึ้น ซึ่งเป็นโมเดลที่ได้ผลแต่ก็ต้องขึ้นอยู่ที่งบประมาณของกรมส่งเสริมที่จะสนับสนุนด้วย

นอกจากนี้งานไฮไลต์ที่สำนักพัฒนาผู้ประกอบการทำคือเรื่องการสร้างผู้ประกอบการใหม่หรือสตาร์ตอัพ( Startup) ซึ่งความจริงแล้วเราทำมานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2545 แต่ไม่ได้ใช้คำว่า Startup แต่เราเรียกว่าการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่หรือ New Entrepreneurs Creation:NEC ตอนนั้นประเทศไทยเผชิญวิกฤติต้มยำกุ้ง เราส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอีในปี 2545 เรียกว่าNEC เป็นโครงการต่อเนื่องที่ทำมา 15 ปีแล้ว โดยได้รับงบประมาณทำทุกปีตั้งแต่ปี 2545-2558 มีคนที่ผ่านกระบวนการเรียน NEC แล้วทั่วประเทศ 7.70 หมื่นคน ในระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา

 เรียน NEC สร้างธุรกิจได้จริง

ทั้งนี้การเข้ารับการเรียน NEC ก็ต้องการให้คนที่มีความสนใจอยากทำธุรกิจได้เข้ามาผ่านกระบวนการในการสร้างธุรกิจให้ได้ก่อน เพราะเวลานี้ถ้าเรียนในมหาวิทยาลัย จะมีการสอนเอ็มบีเอ หรือบริหารธุรกิจคือสอนให้เป็นผู้บริหาร แต่ NEC สอนให้สร้างธุรกิจได้ สามารถจัดตั้งธุรกิจได้ โดยในจำนวน 7.70 หมื่นคนนี้จะสามารถเขียนแผนธุรกิจได้เอง โดยในจำนวนนี้สามารถจัดตั้งธุรกิจได้จริงแล้วประมาณ 1.70 หมื่นธุรกิจ ถือว่าประสบผลสำเร็จ 20% ของคนที่ผ่านกระบวนการเรียน NEC ที่เหลือยังไม่จัดตั้งธุรกิจ แต่ก็พร้อมที่จะเป็นนักธุรกิจ และใน 1.70 หมื่นธุรกิจนี้ใช้เงินทุนรวม 2.60 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยลงทุนรายละ1.5 ล้านบาทต่อกิจการ และจ้างงาน 6.40 หมื่นคน หรือเฉลี่ย 4 คนต่อกิจการ โดยเกิดเงินที่ใช้ในการจ้างงานปีละประมาณ ฉะนั้นระหว่างปี 2545-2558 เงินที่ภาครัฐใส่ไปเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่หรือ NEC รวมทั้งสิ้น 1,700 ล้านบาทสำหรับใช้จ้างและจัดฝึกอบรม ถือว่าโครงการNEC ประสบผลสำเร็จ

 เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ ต้องมีอินโนเวชัน

นายวิฤทธิ์กล่าวอีกว่าคนที่ผ่านการเข้าฝึกอบรม NEC จะคัดเลือกจากที่มีแนวคิดในการทำธุรกิจ รับเข้ามาอบรมตามหลักสูตรรุ่นละไม่เกิน 40 คน เป็นการสร้างเอสเอ็มอี หรือที่ปัจจุบันเราเรียกว่า “เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ“ ขึ้นมา ดังนั้นการที่ปัจจุบันนโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญกับ Startup ทางสำนักพัฒนาผู้ประกอบการมีแนวคิดว่า นับจากนี้ไปจะคัดเลือกผู้ประกอบการใหม่ที่มีแนวคิดจัดตั้งธุรกิจ โดยจะต้องมีอินโนเวชันหรือมีนวัตกรรมและมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะจะทำให้ธุรกิจมีมูลค่าสูงขึ้น โดยจัดอบรมทั่วประเทศปีละประมาณ 3,000 คน มีศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคเป็นเครือข่าย และในแต่ละพื้นที่ก็มีมหาวิทยาลัยที่ร่วมกับกรมส่งเสริมประมาณ 40-50 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศมาช่วยฝึกอบรม โดยกรมส่งเสริมจะเป็นคนทำหลักสูตรเอง

 เปิดรายชื่อ 7 รายได้ Anger Fund

นอกจากนี้สำนักพัฒนาผู้ประกอบการ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ยังมีอีกกลไกหนึ่งในการสร้างให้เกิด เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ คือเรื่องการสนับสนุนทางการเงิน โดยมีกิจกรรม Plan to Biz เพื่อสนับสนุนเงินทุน(Anger Fund Startup) โดยการสนับสนุนด้านการเงินจากบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)ให้การสนับสนุนตามความเหมาะสม ขณะที่ทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านการฝึกอบรม ให้คำแนะนำ

ผู้ประกอบการใหม่รายใดสนใจที่จะเริ่มธุรกิจก็ส่งรายละเอียดแผนธุรกิจเบื้องต้นมายังกรมส่งเสริม โดยเราจะดูความพร้อมของธุรกิจว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน มีอะไรที่จะทำให้คืนทุนได้ แล้วเป็นกิจการที่สามารถคืนทุนให้กับสังคมได้บ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นจุดยืนที่เดลต้าต้องการ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการใหม่ราว 134 ทีม ที่เข้ามาสมัครเมื่อต้นปี จนล่าสุดช่วงเดือนพฤษภาคมมีผู้ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว 7 ราย(ดูตาราง) ที่จะได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุน Anger Fund Startup โดยผู้ประกอบการที่ขอเงินทุนดังกล่าวจะต้องมีคุณสมบัติคือ 1.อยู่ในกลุ่มที่อยู่ระหว่างจัดตั้งธุรกิจ 2.ทำธุรกิจมาแล้วไม่เกิน3 ปีแล้วอยากขยายธุรกิจ โดยจะได้รับงบจากกองทุนดังกล่าวตามความเหมาะสม โดยเงินที่ได้รับจะต้องเป็นเงินเพื่อนำไปทำแล็บทดลอง หรือปรับปรุงเครื่องจักร หรือใช้ในงานวิจัยและพัฒนา โดยมีเจตนาที่จะพัฒนาสินค้าหรือเพิ่มมูลค่าให้สินค้า ซึ่งการคัดเลือกผู้ที่ได้รับทุนจากกองทุนฯดังกล่าวนั้นทางเดลต้าจะมีกรรมการตัดสินเพื่อคัดเลือกอีกที ตรงนี้ก็เป็นอีกช่องทางที่กรมส่งเสริมร่วมกับบริษัทเอกชนสนับสนุนให้เกิด “เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ” หรือส่งเสริมให้กิจการที่เพิ่มเริ่มต้นแข็งแรงขึ้นเป็นต้น

 หนุน 2.9 ล.รายเรียนรู้ผ่านออนไลน์

สำหรับงบประมาณปี2560 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเสนอขอใช้งบประมาณจำนวน 1,300 ล้านบาท สำหรับใช้ในการสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมราว 840 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นส่งเสริมเอสเอ็มอีทั่วไป 470 ล้านบาท เรื่องของเศรษฐกิจฐานราก 167 ล้านบาท การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ 195 ล้านบาท โดยการใช้งบดังกล่าวมีหลายส่วน ทั้งการจัดอบรม และจะทำในรูปแบบของการเรียนรู้ผ่านออนไลน์หรืออี-เลิรน์นิ่งให้มากขึ้น จากเดิมที่จัดอบรมNECโดยใช้เครือข่ายมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการถ่ายทอดการเรียนรู้อย่างทั่วถึง เพราะทั่วประเทศมีเอสเอ็มอีราว 2.9 ล้านราย ยกเว้นเป็นหลักสูตรเชิงลึกที่ต้องผ่านมหาวิทยาลัยเครื่องข่าย ใช้สำหรับการสร้าง เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ โดยปี2560 มีโจทย์ว่าจะต้องสร้างเอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ ให้ได้ 4,000 คน ตามนโยบายรัฐบาล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,168 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559