บัวหลวงลั่นสินเชื่อทั้งปีโต5% หนุนลูกค้ารายกลางสยายปีกกลุ่มประเทศ CLMV

23 มิ.ย. 2559 | 11:00 น.
“ชาติศิริ” เผยไทยควรร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน ดึงศักยภาพกลุ่มCLMVT ดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ ระบุภาคสถาบันการเงิน/หน่วยงานรัฐผนึกกำลังส่งเสริม-ผ่อนคลายกฎเกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อ 5ปีข้างหน้าจีดีพีโตสูงเฉลี่ย 6.5-8.5% พร้อมยันสินเชื่อแบงก์ทั้งปีโต 3-5%หลังสัญญาณลูกค้ารายใหญ่แห่ประมูลเกาะงานโครงการรัฐ-ไม่หยุดขยายลงทุนไปต่างประเทศ ชี้เตรียมหนุนลูกค้ารายกลางสยายปีกต่อ

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่และกรรมการบริหาร บมจ.ธนาคารกรุงเทพ กล่าวปาฐกถาพิเศษ "การสนับสนุนการค้าและการลงทุนใน CLMVT: บทบาทของสถาบันการเงินในการพัฒนาภูมิภาค" ว่า ศักยภาพการเติบโตในภูมิภาคนี้มีอัตราการขยายตัวค่อนข้างดี โดยเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 6.5-8.5% ซึ่งจะขยายตัวต่อเนื่องไปอีกใน 5 ปีข้างหน้า มีประชากรรวมกันว่า 220 ล้านคน มูลค่าจีดีพีรวม 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นที่ดึงดูดของนักลงทุนที่มีความสนใจเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) นอกจากจะมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ยังมีเรื่องของสิทธิพิเศษทางด้านภาษี และต้นทุนแรงงานที่ไม่สูง และจากการขยายเชื่อมโยงเส้นทางที่เชื่อมต่อกัน ทำให้กลุ่มโลจิสติกส์เข้ามาฐานการผลิต ซึ่งไทยอยู่ในจุดศูนย์กลางสามารถเป็นฮับทางด้านโลจิสติกส์ และฮับการเงิน แต่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกัน เพื่อยกระดับให้ภูมิภาคนี้มีความน่าสนใจจากนักลงทุนจากต่างประเทศ

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคการเงินมีบทบาทสนับสนุน 4 ด้าน คือ 1.ร่วมมือใกล้ชิดกับลูกค้าทำให้การค้าชายแดน โดยดึงจุดแข็งที่มีอยู่ เพื่อดึงดูดการลงทุน FDI จากนักลงทุนกลุ่มยูโร จีน และเกาหลี โดยให้บริษัทเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม และธนาคารจะอำนวยให้บริษัทเหล่านี้สามารถทำงานข้ามพรมแดนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดซัพพลายเชนของประเทศ 2.การพัฒนาแหล่งเงินทุน CLMVT หากจะขยายการลงทุนหรือลงทุนจะต้องมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ด้านต่างๆ ให้นักลงทุนบุคคลออกไปลงทุนได้โดยตรงไม่จำกัด หรือกระทรวงการคลังอนุญาตให้รัฐบาลประเทศอื่นเข้ามาระดมทุนได้ เช่น สปป.ลาวออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนเป็นสกุลเงินบาท โดยวงเงินก้อนแรก 1.5 พันล้านบาท และเพิ่มอีกเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท และธนาคารพาณิชย์มีการวางระบบอี-เพย์เมนต์ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือการเงินจะช่วยต่อยอด

และ 3.ร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อบูรณาการระบบขนส่ง ซึ่งไม่ได้เฉพาะแค่ในภูมิภาค CLMVT (กัมพูชา,สปป.ลาว,เมียนมา,เวียดนามและไทย) แต่ยังรวมถึงจีน อินเดียและญี่ปุ่น เพื่อวางสาธารณูปโภค โทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งเม็ดเงินที่ใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้น จึงต้องมีเรื่องของแหล่งเงินระยะยาว การร่วมมือกับเอกชน PPP หรือการใช้เงินออมมาใช้ รวมถึงต้องมีกลไกเกลี่ยความเสี่ยง โดยภาครัฐจะดูแลความเสี่ยงที่เกินภาระของเอกชน เช่น การกำกับดูแล และการหาโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม และ 4.ส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ไม่สามารถพึ่งพาเงินลงทุน FDI จึงต้องร่วมมือกับผู้เล่นในประเทศและต่างประเทศ โดยมีการถ่ายโอนเทคโนโลยีและเครื่องจักร โดยภาคการเงินจะร่วมมือกับสตาร์ตอัพเพื่อสนับสนุนในการแข่งขันในเวทีโลก

"ศักยภาพการเติบโตของกลุ่ม CLMVT ที่ขยายตัวได้ดี ผนวกกับจุดแข็งกับประเทศไทยจะช่วยสามารถยกระดับและพัฒนาภูมิภาคที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศได้ แต่จะเกิดขึ้นได้จะต้องร่วมมือกันพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุน"

นายชาติศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น และรัฐบาลที่พยายามผลักดันการลงทุนให้ออกมา ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคธุรกิจและสินเชื่อของธนาคารที่จะขยายตัวขึ้น โดยปีนี้ธนาคารตั้งเป้าขยายการเติบโตอยู่ที่ 3-5% จากปีก่อน โดยการเติบโตจะมาจากทุกเซ็กเตอร์ และจะขยายตัวได้ดีจากแรงหนุนของธุรกิจใหญ่และรายกลางที่มีการลงทุนกระจายในทุกธุรกิจ รวมถึงการเร่งผลักดันการลงทุนของรัฐบาล ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งธนาคารพร้อมจะให้การสนับสนุนดูแลลูกค้าอย่างเต็มที่ สำหรับในส่วนสัญญาณการผิดนัดชำระยังเป็นปกติ เช่นเดียวกับการสำรองหนี้สงสัยจะสูญมีอัตราปกติ

ขณะที่การเตรียมความพร้อมสนับสนุนลูกค้าขยายการเติบโตไปยังภูมิภาคใน CLMV นั้น ธนาคารจะได้มีการให้ทีมสาขาในเครือข่ายในต่างประเทศมีการเตรียมความพร้อมและให้การช่วยเหลือลูกค้าที่มีความต้องการไปลงทุนแล้ว ทั้งในเรื่องของการแนะนำตลาดหรือการแนะนำผู้ประกอบการท้องถิ่นในประเทศนั้นๆ เพื่อขยายตลาดให้ครอบคลุมความต้องการที่สูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นภาคธุรกิจที่เป็นลูกค้าของธนาคารออกไปลงทุนได้มากขึ้น

ขณะเดียวกันนายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจขนาดใหญ่มีความต้องการดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนตามโครงการของภาครัฐที่มีการประมูลงานมากขึ้น เช่น รับเหมาก่อสร้าง การไฟฟ้า กรมทางหลวง เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้จะสอดคล้องกับโปรเจ็กต์ที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าผู้ประกอบการเข้ามาขอประมูลพันธบัตร( Bridge Bond) มากขึ้น และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงที่เหลือของปีตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณทั้งด้านการลงทุนและงบประจำของภาครัฐ โดยในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขการเบิกจ่ายของภาครัฐค่อนข้างออกมาน่าพอใจ ซึ่งเป็นผลดีต่อภาพรวมธุรกิจรายใหญ่ด้วย

ทั้งนี้ ทิศทางการเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่ จะขยายตัวสอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3% โดยสินเชื่อภาพรวมสินเชื่อจะบวกจากจีดีพีประมาณ 1.5% ซึ่งจากตัวเลขการเติบโตจีดีพีไตรมาสแรกที่ 3.2% ถือเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ดี ธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นการเติบโตทางด้านสินเชื่ออย่างเดียว เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่มีความต้องการหลากหลาย และมีทางเลือกการระดมทุนเอง รวมถึงมีความต้องการด้าน Non-Cash เช่น เป็นที่ปรึกษา (FA) การแนะนำทางด้านบริหารความเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งธนาคารจะเข้าไปสนับสนุนในเรื่องพวกนี้ด้วย จึงจะไม่ได้เห็นแค่การปล่อยสินเชื่อให้ขยายตัวเพียงอย่างเดียว

ขณะเดียวกัน ธนาคารจะเข้าไปส่งเสริมลูกค้าธุรกิจขนาดกลางที่มีความต้องการออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มภูมิภาค CLMV เนื่องจากลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ที่มีศักยภาพออกไปลงทุนในภูมิภาคนี้ค่อนข้างพอสมควรแล้ว เช่น กลุ่มเซ็นทรัลเข้าซื้อธุรกิจรายย่อย ปตท.หรือปูนซีเมนต์ไทย ขณะที่ธุรกิจรายกลางยังออกไปลงทุนค่อนข้างน้อย จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะออกไปลงทุน โดยธนาคารจะเริ่มแนะนำลูกค้าเพื่อชี้แนวทางด้านการลงทุน ทั้งด้านกฎหมายและกติกาข้อบังคับในประเทศนั้นๆ ตลอดจนการปล่อยสินเชื่อหรือให้เงินทุนเพื่อทำธุรกิจ โดยที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมที่ธุรกิจรายกลางออกไปลงทุนแล้ว จะเป็นกลุ่มการส่งออก ค้าปลีก-ค้าส่ง (Trading) หรือการตั้งโรงงานผลิตสินค้า เป็นต้น

"แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจรายใหญ่ จะขยายตัวตามโครงการที่เกิดขึ้นของภาครัฐ และเมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อวงเงินประมาณ 5 พันล้านบาทในการว่างท่อน้ำมันไป และหากดูตัวเลขโครงการภาครัฐและภาพรวมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวเชื่อว่าครึ่งปีหลังธุรกิจรายใหญ่ยังเติบโตได้ดี"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,168 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559