กระจูด..ไม่ใช่แค่วัชพืชแต่คืองานศิลป์

25 มิ.ย. 2559 | 10:00 น.
รู้จัก “กระจูด”..กันไหมคะกระจูด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Lepironia articalata) เป็นพันธุ์ไม้จำพวก "กก" (Sedge) ลักษณะลำต้นกลมสีเขียวอ่อน ดินสอดำ สูงประมาณ 1-2 เมตร ออกดอกเป็นกระจุกแน่นคล้ายดอกกระเทียมที่ข้างลำต้นใกล้ยอดกระจุกหนึ่ง แต่มีช่อดอกปลายลำต้นอีกหนึ่งช่อซึ่งมีใบเล็กประกอบช่อด้วย เจริญเติบโตง่ายและแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว กระจูดชอบขึ้นในพื้นที่น้ำขังซึ่งเรียกว่าโพระหรือพรุ มีถิ่นกำเนิดจากทางเกาะมาดากัสการ์ มอริเซียส ลังกา สุมาตรา แหลมมลายู และหมู่เกาะต่าง ๆ ในแหลมมลายู อินโดจีนตอนริมฝั่งทะเล ฮ่องกง บอร์เนียว ตลอดถึงออสเตรเลีย ริมฝั่งตะวันออก...พบมากแถบภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทย

[caption id="attachment_65282" align="aligncenter" width="377"] กระจูดวรรณี กระจูดวรรณี[/caption]

เมื่อเป็นเพียงต้นไม้ชนิดหนึ่ง แต่ด้วยภูมิปัญญาผู้คนทางพื้นที่ภาคใต้ของไทย สามารถนำมาสานพัฒนาให้เป็นข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ พัฒนาจากเสื่อนอน มาเป็นตะกร้า จนถึงกระเป๋า และล่าสุดยกระดับขึ้นเป็นของใช้กระจุกกระจิกก็ทำได้ และที่จะขอแนะนำคือ”กระจูดวรรณี”...ที่พัทลุง

“เป้าหมายในตอนนี้คือเราอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ “กระจูดวรรณี” ให้เข้มแข็งที่สุด ทำแบรนด์สินค้าให้มีคุณภาพในการส่งออกมากยิ่งขึ้น”

“มนัทพงค์ เซ่งฮวด” เขาเล่าให้ฟังว่าได้รับการเชิดชูโดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป.ในฐานะ “ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม” ในปี 2557 นับเป็นทายาทที่สืบทอดภูมิปัญญาการสานกระจูดในรุ่นที่ 5 ต่อจากรุ่นแม่คือวรรณี เซ่งฮวด ซึ่งก็ได้รับการเชิดชูจาก ศ.ศ.ป. ให้เป็นครูช่างศิลปหัตถกรรม ในปี 2556

โดยเอกลักษณ์ของ “กระจูดวรรณี” ที่พัฒนาโดยมนัทพงค์ คือ ความสามารถในการออกแบบลายต่างๆ ขึ้นมาใหม่ให้มีความแตกต่างและโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นลายลูกศร ลายตัวแอล ลายดอกบัว ซึ่งเขาสร้างสรรค์และตั้งชื่อลายจากสิ่งที่เห็นรอบตัว ตลอดจนรูปแบบและรูปทรงที่ดูเรียบง่ายบวกกับการไล่โทนสีที่น่าสนใจ จนทำให้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายภายใต้แบรนด์กระจูดวรรณี เริ่มเป็นที่ยอมรับและได้รับออร์เดอร์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากลูกค้าในกลุ่มโรงแรมที่มักสั่งผลิตภัณฑ์สำหรับการตกแต่งภายใน และล่าสุดเขาพัฒนาด้วยการหาวัตถุดิบใหม่ๆ เข้ามาผสมผสาน นั่นคือ “ใบลาน” นำมาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความงดงามมากขึ้นไปอีกระดับ

ปัจจุบันกระจูดวรรณีมีสินค้าให้เลือกสรรมากกว่า 100 ชนิด แยกเป็นหมวดหมู่ได้ 2 หมวด คือ ของใช้ในบ้าน อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ ตะกร้า หมอน และหมวดของที่เป็นงานแฟชั่น อาทิ กระเป๋า เคสโทรศัพท์ และหมวก เป็นต้น

อีกจุดเด่นที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ กระจูดวรรณีเป็น green crafts หรือเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเมื่อเจริญเติบโตง่ายและเร็ว ต้นกระจูดอายุ 6-7 เดือนก็สามารถนำมาใช้ทำงานหัตถกรรมได้แล้ว ที่สำคัญคือหากไม่ถอนต้นออกมา ต้นกระจูดจะตายยกกอและกลายเป็นวัชพืช

[caption id="attachment_65283" align="aligncenter" width="376"] กระจูดวรรณี กระจูดวรรณี[/caption]

“กระจูดขึ้นอยู่ในพื้นที่แถวหมู่บ้าน เราเก็บมาตากแดดแล้วก็รีดให้แบน จากนั้นก็นำมาย้อมสี ใช้เวลา 8 ชั่วโมงในการต้ม จากนั้นจึงนำมาตากแดดให้แห้ง รีดใหม่อีกครั้ง สานขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์หนึ่งชิ้นใช้เวลาราว 2-3 วัน เราจะแยกเป็นแผนกต่างๆ ตามแต่ละขั้นตอน เช่น แผนกขึ้นรูป แผนกแปรรูป ฯลฯ”

คุณสมบัติที่น่าทึ่งประการหนึ่งของผลิตภัณฑ์สานกระจูด คือ เมื่อบีบพับจนยู่ยี่แล้วก็สามารถกลับคืนรูปเดิมได้ ไม่แตกและมีความยืดหยุ่นสูง ไม่มีกลิ่นอับ คงทน หากนำมาสานเป็นเสื่อจะมีคุณลักษณะเฉพาะคือไม่ดูดฝุ่นอีกด้วย

“วันนี้การเดินทางของ “กระจูดวรรณี” ยังไม่สิ้นสุด เพราะยังมีเส้นทางอีกมากมายให้กระจูดวรรณีได้พิสูจน์ เนื่องจากกระจูดวรรณี เป็น 1 ใน 6 คน ที่ผ่านการคัดเลือกให้ไปจัดแสดงผลงานที่สหราชอาณาจักร ช่วงเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ในโครงการพัฒนาสมรรถนะผู้ประกอบการหัตถกรรมด้านการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Craft and Social enterprise) ซึ่งลูกค้าชาวต่างชาติให้การตอบรับมากมาย

และเมื่อมีงานแสดงสินค้าไม่ว่าจะเป็นงานโอท็อปที่ผ่านมา หรือ สัปดาห์ที่ 3 “หรอยแรง 3 “หรอยแรง ถึงอกถึงใจ” ระหว่างวันที่ 17-24 มิถุนายน 2559 นำเสนอสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวและกีฬาของพื้นที่ภาคใต้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ริมคลองผดุงกรุงเกษม กระจูดวรรณีก็ร่วมนำผลิตภัณฑ์ออกโชว์โฉมทุกงาน และที่ผ่านมากระจูดวรรณี” ยังได้รับคัดเลือกจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในการนำผลิตภัณฑ์กระจูดไปวางจำหน่ายภายในห้างเซ็นทรัลสาขาชิดลมและสาขาลาดพร้าว ในคอลเลกชัน Summer , VARNi New Product Placemats มาแล้วเช่นกัน

มาติดตามกันดูสิว่า.... “กระจูดวรรณี” ผลิตภัณฑ์จักสานสัญญาติไทยแท้ ฝีมือจากชุมชน จ.พัทลุงจะมีอะไรใหม่ๆ กลับมาสะเทือนวงการกระจูดเมืองไทยอีกหรือไม่....

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,168 วันที่ 23 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2559