5ประเทศผนึกกำลังเปิดมิติการค้าใหม่ เชื่อมเครือข่ายต่อยอดสินค้าภูมิภาค

21 มิ.ย. 2559 | 01:00 น.
กลุ่มประเทศCLMVTเห็นพ้องเสนอเปิดมิติการค้าใหม่ใช้เทคโนโลยีเชื่อมข้อมูลเน้นพัฒนาสินค้าแห่งภูมิภาค เดินหน้าลดปัญหามาตรการที่ไม่ใช่ภาษี พร้อมดันเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน ด้านไทยแนะผุด CLMVT Knowledge Tank ร่วมภาครัฐและเอกชน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการร่วมเสวนา"การค้าระหว่างประเทศและการลงทุนแบบไร้รอยต่อใน CLMVT : เรื่องการเพิ่มการค้าชายแดน/ผ่านแดนระหว่างประเทศ อะไรบ้างที่ต้องดำเนินการเพื่อให้บรรลุศักยภาพทางการค้า ว่า เห็นด้วยที่กลุ่ม CLMVT(กลุ่มประเทศ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) ที่จะสร้างความร่วมมือในการพัฒนาและผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รวมถึงการนำประสบการณ์มาพัฒนาร่วมกันเกี่ยวกับระบบการตรวจสอบย้อนกลับสำหรับสินค้าเกษตรซึ่งพบว่าสินค้าเกษตรในภูมิภาคยังไม่มีความร่วมมือในเรื่องนี้มากพอ

นอกจากนี้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก็เป็นเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาและการแก้ปัญหาการค้าที่มีอยู่ ดังนั้นเพื่อให้ปัญหาและอุปสรรคต่างๆได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดควรนำประสบการณ์ทางการค้าและการลงทุนที่ได้รับโดยตรงของผู้ประกอบการและนำข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบทางการค้าจากฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐมารวมกันในรูปแบบ CLMVT Knowledge Tank เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำคัญก่อนเข้าสู่กลไกการแก้ปัญหาในกลไกต่างๆที่มีอยู่ เช่น ความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หรือจีเอ็มเอส หรือแม้แต่กลไกเดิมของอาเซียน เพื่อให้แน่ใจว่าข้อมูลที่จะส่งต่อไปถึงผู้นำจะไม่ซ้ำและเป็นประเด็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขจริง

ด้านนายเหนียน แคม ตู รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เวียดนาม กล่าวว่า เราควรลงทุนในเรื่องการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำงานร่วมกันในภูมิภาค ซึ่งการทำงานร่วมกันต้องกำหนดกรอบความชัดเจน เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดให้เป็นสินค้าแห่งภูมิภาค เช่น สินค้าเกษตร ก็ควรมุ่งพัฒนาไปเป็นการแปรรูปสินค้าเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเมื่อได้รายการสินค้าแล้วก็ต้องมีกฎระเบียบที่จะช่วยสนับสนุนให้การทำงานร่วมกันนี้เกิดประโยชน์ ซึ่งเห็นว่าควรมีการร่างระเบียบใหม่ไม่ใช่การแก้ไขระเบียบที่มีอยู่เพราะจะยากเกินไปและทำให้แผนการทำงานร่วมกันในภูมิภาคไม่บังเกิดผล

สอดรับกับนายสมซิต อินทะมิต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ สปป.ลาว ที่ระบุว่า การพัฒนาในระดับภูมิภาคต้องอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียมกันไม่ปล่อยให้ประเทศใดประเทศหนึ่งล้าหลัง ซึ่งการแบ่งปันข้อมูลทางการค้าระหว่างกันเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะส่งเสริมการพัฒนาร่วมกัน เช่น การแบ่งปันข้อมูลสินค้าเกษตร ทั้งข้าว ยาง มันสำปะหลัง ข้าวโพด เพื่อนำกลับไปสู่กำลังซื้อที่จะช่วยผลักดันการค้าต่อไป และเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

ส่วนนายพาน โสราสัก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กัมพูชา กล่าวว่า ทั้ง5 ประเทศถือเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียนมีความสำคัญเป็นตลาดขนาดใหญ่ทำให้เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาเซียนได้ขณะเดียวกันก็เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก แต่ก่อนอื่นต้องมาทบทวนว่าแต่ละประเทศมีปัญหาอุปสรรคใดที่ไม่เอื้อต่อการค้าการลงทุน ซึ่งต้องขจัดออกไปก่อนจะมุ่งไปสู่การพัฒนาเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการส่วนใหญ่ของภูมิภาครวมถึงการผลักดันให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการค้าส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้เข้าถึงค้าการแบบอี-คอมเมิร์ซ และการสร้างบรรยากาศการทำธุรกิจให้ง่ายและลดความซ้ำซ้อนทั้งขั้นตอนธุรกิจและเรื่องของภาษี โดยประเด็นส่วนใหญ่ที่กล่าวมาได้มีการหารือกับฝ่ายไทยในการประชุมทวิภาคีเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนจะนำไปหารือในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ 2 ประเทศช่วงปลายปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559