ชำแหละร่างกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างฯ ‘ประยุทธ์’ เร่งเครื่องชงเข้าสภานิติบัญญัติ

20 มิ.ย. 2559 | 01:00 น.
นับตั้งแต่วันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินได้ออกมาตรการและกลไกการต่อต้านคอร์รัปชันหลายรูปแบบ มาตรการระยะสั้น ใช้ มาตรา 44 ออกคำสั่ง คสช.ที่ 69/2557 เรื่องมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในการวงราชการเพื่อกระชับและเร่งรัดการติดตามแก้ไขปัญหา ตั้ง คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ให้กำเนิด ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) รวมถึงการตั้งคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในรัฐวิสาหกิจ

[caption id="attachment_63279" align="aligncenter" width="700"] กฏหมายต่อต้านคอร์รัปชัน กฏหมายต่อต้านคอร์รัปชัน[/caption]

ขนานไปกับการตรากฎหมายเพื่อสร้างหลักประกันระยะยาว โดยผ่านร่างกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันไปแล้วหลายฉบับ ที่มีผลบังคับใช้แล้ว อาทิ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 กฎหมายตั้งศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น

ยกฐานะระเบียบสำนักนายกฯ

รุกคืบไปอีกขั้น เมื่อการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ... ซึ่งผ่านการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล่าวได้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ยกระดับจาก "ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535" ขยับขึ้นเป็น "กฎหมาย" แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

โดยมีหลายประเด็นที่ถูกปรับแก้ตามความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญ ดังเช่น สำนักงานยุติธรรม ตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายที่ใช้บังคับกับสัญญาในกรณีที่ทำสัญญากับคู่สัญญาต่างประเทศควรกำหนดเป็นหลักการเบื้องต้นก่อนว่า ใช้กฎหมายไทยบังคับกับสัญญานั้นๆเว้นแต่มีกรณีที่จำเป็นอย่างแท้จริงจึงจะให้ใช้กฎหมายของต่างประเทศได้

นอกจากนี้ในร่างมาตรา 96 กำหนดให้เผยแพร่สาระสำคัญของสัญญาที่ได้ลงนามแล้ว เพื่อให้สาธารณชนตรวจสอบ ณ ขณะนั้น ย่อมไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาที่มีผลสมบูรณ์แล้วได้ ควรกำหนดในกฎกระทรวง กรณีที่ปรากฏว่ามีการกระทำอันมิชอบจนเป็นเหตุให้เกิดการทำสัญญาขึ้น ควรที่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นพิเศษให้สัญญาดังกล่าวตกเป็นโมฆะด้วย และควรกำหนดสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายในกรณีดังกล่าวไว้เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการของผู้ที่เกี่ยวข้อง

ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ไม่มีประเด็นที่เห็นควรปรับแก้ในสาระสำคัญ แต่ขอให้ยกเว้นผ่อนผัน โดยขอดำเนินการออกระเบียบจัดซื้อจัดจ้างเป็นของตนเอง ในกรณีการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1.โรงไฟฟ้า/เขื่อน 2.ระบบส่งไฟฟ้าแรงสูง 3.เหมืองถ่านหิน 4. การจัดหาเชื้อเพลิง และ5.ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ได้แก่ การรับจ้างเดินเครื่องและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า ให้แก่คู่สัญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวข้างต้น เป็นงานที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความซับซ้อน ไม่ใช่งานก่อสร้างหรือพัสดุที่มีการดำเนินการหรือผลิตทั่วไป

คลุมหน่วยงานรัฐในตปท.

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนายกรัฐมนตรี กล่าวย้ำว่า เป็นการปรับระเบียบจากสำนักนายกรัฐมนตรี บังคับใช้กับหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง เว้นองค์กรตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ ทั้งยังกำหนดให้หน่วยงานของรัฐในต่างประเทศ หรือส่วนงานของหน่วยงานของรัฐที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ สามารถขอออกกฎหมายลำดับรองเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างขึ้นใช้เองเพื่อความคล่องตัว

กำหนดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสังเกตการณ์ จัดให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่และกำหนดให้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ทั้งยังปรับปรุงขั้นตอนการอุทธรณ์ให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

"การบริหารพัสดุภาครัฐมีกรอบการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเดียว การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานกลางให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งนำไปใช้เป็นหลักปฏิบัติ มุ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนให้มากที่สุดเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมโดยคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นสำคัญซึ่งจะก่อให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐ"

รมว.คลัง นั่งเก้าอี้ ปธ.

ในร่างกฎหมายฉบับมีประกอบด้วย 121 มาตรา (รวมบทเฉพาะกาล) แบ่งออกเป็นหมวดต่างๆ อาทิ ในหมวด 2 เรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและผู้ประกอบการในการป้องกันการทุจริต หมวด 3 เรื่องคณะกรรมการ ที่กำหนดให้มี "คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ" ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 5 ชุดประกอบด้วย 1.คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2.คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 3.คณะกรรมการกำกับราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ 4.คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต และ 5.คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์และข้อร้องเรียน และอื่นๆ

น่าสังเกตว่า กฎหมายกำหนดการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ โดยผลการประเมินให้เป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติของผู้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐด้วย ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจะถูกระงับการยื่นข้อเสนอ หรือทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีผลการประเมินผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอเพื่อทำการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุกับหน่วยงานของรัฐมีสิทธิอุทธรณ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ กรณีที่เห็นว่าหน่วยงานของรัฐมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ และหากอุทธรณ์ไม่พอใจผลของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล แต่การฟ้องคดีดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้มีการลงนามในสัญญาแล้ว

กำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน อาทิ เจ้าหน้าที่หรือเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างหรือการบริหารพัสดุ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยทุจริตต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000-400,000 บาท

 เปิดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
ภายใต้หลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ ครอบคลุม 4 ประการสำคัญ คือ เน้นความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้ ในร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเอาไว้ ดังนี้ กำหนดจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี และให้ประกาศเผยแพร่แผนในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง โดยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างและการจ้างที่ปรึกษาใน 3 ลักษณะ คือ 1.วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป 2.วิธีการคัดเลือก และ 3.วิธีเฉพาะเจาะจง

ส่วนวิธีการจ้างออกแบบและควบคุมงาน นอกจากวิธีดังกล่าวข้างต้นให้เพิ่มอีก 1 วิธี คือ วิธีประกวดแบบโดยให้พิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ กำหนดให้มีเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอ โดยให้โดยพิจารณาคุณภาพประกอบราคาได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ราคาต่ำสุด แต่การจะใช้เกณฑ์ใดและให้น้ำหนักในแต่ละเกณฑ์เท่าใด ต้องมีการประกาศให้ทราบเป็นการล่วงหน้าในประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้าง

นอกจากนี้กำหนดให้ผู้ประกอบการก่อสร้างต้องขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลาง เพื่อให้การพิจารณาจัดชั้นผู้ประกอบการก่อสร้างเป็นมาตรฐานเดียวกัน ส่วนการรวมซื้อรวมจ้าง กำหนดให้หน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งแห่งใด อาจดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุให้กับหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นๆก็ได้ ภายใต้กรอบข้อตกลงระหว่างหน่วยงานของรัฐผู้จัดซื้อจัดจ้างและคู่สัญญา

ส่วนการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ขั้นตอนการเปิดเผยแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี การจัดทำประกาศเชิญชวน การกำหนดเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอ การประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคา การประกาศยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้าง การทำสัญญาและการแก้ไขสัญญา เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชนในการเข้ามาตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้อย่างเต็มรูปแบบ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559