อาลีบาบายันแก้สินค้าปลอม เจ้าของแบรนด์วิจารณ์ไม่เห็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

20 มิ.ย. 2559 | 07:00 น.
แจ๊ค หม่า ประธานบริษัทอาลีบาบาฯ ผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน ยืนยันอาลีบาบาเป็นผู้นำในการต่อสู้กับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จะยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากแบรนด์ระดับโลกตั้งคำถามถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาดังกล่าว

นายแจ๊ค หม่า ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของจีน กล่าวในการประชุมนักลงทุนว่า อาลีบาบาเป็นผู้นำของโลกในการต่อสู้กับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และบริษัทมีเทคโนโลยีในการติดตามผู้ขายและผู้ซื้อสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์บนแพลตฟอร์มของตน "เราสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดีกว่ารัฐบาล องค์กร หรือบุคคลใดในโลก"

[caption id="attachment_63285" align="aligncenter" width="500"] อาลีบาบา อาลีบาบา[/caption]

อย่างไรก็ดี นายหม่ากล่าวว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาคือเจ้าของสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ได้นำสินค้าของตนเข้ามาวางจำหน่ายบนอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น และสินค้าเหล่านี้ในบางครั้งมีคุณภาพที่ดีกว่าและราคาถูกกว่าสินค้าถูกกฎหมาย

ที่ผ่านมาแบรนด์ระดับโลกยังคงร้องเรียนว่ามีสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์วางจำหน่ายอยู่บนเว็บไซต์ของอาลีบาบาเป็นจำนวนมาก แม้ว่าบริษัทจะให้คำมั่นสัญญาที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวมาเป็นเวลาหลายปี เน็ตเนมส์ ซึ่งติดตามตรวจสอบสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทางออนไลน์ให้กับแบรนด์สินค้าต่างๆ อาทิ อินเดเท็กซ์ และบิลลาบ็อง กล่าวว่า โดยทั่วไปลูกค้าของบริษัทประมาณการว่า 20-80% ของสินค้าแบรนด์เนมที่วางจำหน่ายอยู่บนเว็บไซต์ Taobao ของอาลีบาบาเป็นของปลอม

ขณะเดียวกัน โฆษกของอาลีบาบาตอบโต้ว่า ตัวเลขของเน็ตเนมส์นั้นเป็นการคาดเดาที่ไม่เที่ยงตรง และไม่มีวิธีการประเมินมาสนับสนุนคำกล่าวอ้างดังกล่าว

ก่อนหน้านี้เพียงหนึ่งเดือน ความพยายามของอาลีบาบาถูกเจ้าของแบรนด์สินค้าตั้งคำถามมาแล้ว โดยกลุ่มต่อต้านสินค้าลอกเลียนแบบนานาชาติได้ตัดสินใจระงับการเป็นสมาชิกของอาลีบาบา หลังจากมีแบรนด์สินค้าแสดงความกังขาถึงความจริงใจของอาลีบาบาในการแก้ปัญหาสินค้าปลอม

ในเวลาที่ทางการจีนกำลังเตรียมการจัดการกับสินค้าลอกเลียนแบบบนอินเตอร์เน็ต อาลีบาบาได้ให้คำมั่นว่าจะปรับเปลี่ยนวิธีการรับมือกับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งรวมถึงการกำหนดให้ผู้ขายสินค้าบนเว็บไซต์ต้องแสดงหลักฐานยืนยันว่าสินค้าที่ตนเองขายเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์

นายหม่ากล่าวว่า อาลีบาบาใช้พนักงานกว่า 2,000 คนทำงานเพื่อกำจัดสินค้าปลอมออกไปจากเว็บไซต์ พร้อมกับแสดงความประสงค์ว่าต้องการทำงานร่วมกับเจ้าของสินค้าแบรนด์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดแพลตฟอร์มที่ใหญ่ทำให้การดำเนินงานเป็นไปได้ยาก

ขนาดธุรกิจอี-คอมเมิร์ซของอาลีบาบาใหญ่กว่าธุรกิจของอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่อย่าง อเมซอนและอีเบย์รวมกัน โดยเป็นที่คาดหมายว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการมากถึง 423 ล้านคนทั่วโลกในปีนี้ ส่วนใหญ่ผ่านทางเว็บไซต์ Tmall.com และ Taobao ทั้งนี้ อาลีบาบาตั้งเป้าหมายว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการ 2 พันล้านคนภายในปี 2579 และเพิ่มมูลค่าสินค้าขึ้น 2 เท่าเป็น 6 ล้านล้านหยวนภายในปีงบประมาณ 2563

เฮย์เดน ซิมป์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายพาณิชย์ของเน็ตเนมส์ กล่าวว่า "แบรนด์ไม่พอใจที่แจ๊ค หม่า และผู้บริหารต่างพูดว่าได้ลงทุนมากมายเพื่อแก้ปัญหา แต่พวกเขากลับไม่เห็นผล" ขณะที่นักวิเคราะห์บางรายตั้งคำถามว่าอาลีบาบาอาจจะได้ประโยชน์จากทราฟิกที่เข้ามาที่เว็บไซต์จากสินค้าปลอม

อย่างไรก็ตาม หม่ากล่าวยืนยันว่าการจำหน่ายสินค้าปลอมสร้างความเสียหายให้บริษัทมากกว่าได้ประโยชน์ "การขายสินค้าปลอมทุกๆ หนึ่งชิ้น ทำให้เราเสียลูกค้าไป 5 คน เราเป็นผู้เสียหาย" นายหม่ากล่าวกับนักลงทุน

ขณะเดียวกัน นายหม่ากล่าวถึงแผนการระยะยาวของอาลีบาบา ว่าต้องการสร้างรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น และลงทุนกับข้อมูลขนาดใหญ่ โดยการบรรลุเป้าหมายผู้ใช้บริการ 2 พันล้านคนนั้น จะต้องอาศัยความสำเร็จในการเจาะตลาดต่างจังหวัดของจีนซึ่งมีฐานผู้บริโภคประมาณ 700 ล้านคน ซึ่งหม่าเชื่อว่าบริษัทจะประสบความสำเร็จได้ดีกว่าเนื่องจากเข้าใจตลาดท้องถิ่นดีกว่า

อาลีบาบาคาดการณ์ยอดขายเพิ่มขึ้น 48% ในปีงบประมาณ 2560 จากอานิสงส์ของการควบรวมกิจการกับผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่ง โยวคู่ ถู่โต้ว (Youku Tudou) และบริษัทอี-คอมเมิร์ซ ลาซาด้า กรุ๊ป ในช่วงปีที่ผ่านมา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559