ท่องเที่ยวครึ่งปีหลังคึกคัก Q3 บุ๊กกิ้งพุ่งแอร์ไลน์เฮโลเพิ่มไฟลต์

20 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
ภาพรวมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในปีนี้ กับเป้าหมายสร้างรายได้ 2.41 ล้านล้านบาท ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและการเดินทางมาเที่ยวในประเทศของคนไทย ณ วันนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยหรือททท. มั่นใจว่าเข้าเป้าแน่นอน หลังประเมินสถานการณ์ล่าสุด เห็นชัดเจนถึงทิศทางการเติบโตในช่วงครึ่งปีแรกที่สดใส และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ด้วย จากหลายปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้

[caption id="attachment_63267" align="aligncenter" width="700"] แนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวครึ่งปีแรก 2559 แนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวครึ่งปีแรก 2559[/caption]

ครึ่งปีแรกโกยรายได้ 1.24 ล้านล.

"จากการประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกและแนวโน้มคาดการณ์ไตรมาส 3 ของททท.ร่วมกับข้อมูลของภาคเอกชนหลัก คือ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) สมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ)สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) พบว่า ข้อมูลมีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันว่าการท่องเที่ยวของไทยยังเติบโตต่อเนื่อง ทำให้ ททท.มั่นใจว่าเป้าหมายในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้รวม 2.41 ล้านล้าน" นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) กล่าวอย่างมั่นใจ

โดยแนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวของไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 1.24 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น13% (ตารางประกอบ) โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวไทย 16.67 ล้านคน ซึ่งหากแยกเป็นรายภูมิภาค ทุกตลาดขยายตัวหมด ยกเว้นตลาดจากโอเชียเนีย(ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์)เพียงภูมิภาคเดียวที่ติดลบอยู่2% จากปัจจัยสนับสนุนหลัก คือการเปิดเส้นทางบินใหม่ของสายการบิน ทั้งเส้นทางบินเข้าจีน อาทิ ฉางชา จี้หยาง หนานจิง เหวินโจว เสิ่นหยาง ซัวเถา

ส่วนตลาดในประเทศ ช่วงครึ่งปีแรก คาดว่าจะมีคนไทยเดินทางกลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยวราว 37.7 ล้านคน/ครั้ง โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว วันหยุดยาว ค่าเดินทางถูกลง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและตั๋วเครื่องบินโดยสารราคาต่ำ การจัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางอย่างต่อเนื่อง

 คาด Q3 โมเมนตัมโตต่อเนื่อง

ขณะที่สถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ททท.และเอกชน มีการประเมินแนวโน้มสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 3 (เดือนกรกฎาคม-กันยายนที่จะถึงนี้) แม้จะเป็นช่วงกรีน ซีซัน แต่พบว่า มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก โดยททท.คาดการณ์ว่าในช่วงดังกล่าวประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยว 6.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น14% ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 8.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น14% สร้างรายได้ 4.23 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% ส่วนตลาดในประเทศ คาดว่าจะมีคนไทยเที่ยวในประเทศ 36 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ 2.12 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น6% ส่วนไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีการเติบโตที่ดีอยู่แล้ว

ทั้งนี้ในช่วงไตรมาส 3 ททท.มองว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เติบโตดี 5 อันดับแรก คืออาร์เจนตินา รัสเซีย ที่กลับมาเที่ยวไทย และส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลรัสเซียห้ามคนไปเที่ยวตุรกี จึงมีการจัดทัวร์มาเที่ยวไทยแทน ขณะที่ เมียนมา จีน และอียิปต์ ก็มีแนวโน้มเติบโตดีมาก โดยการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3 เกิดจากปัจจัยสนับสนุนใน 3 เรื่องหลัก คือ 1.บรรยากาศการเดินทางในภูมิภาคเอเชีย ที่ยอดการจองล่วงหน้าในช่วงเดือนเมษายน-สิงหาคมนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3% 2.ปัจจัยบวกด้านการบิน อย่างยอดการจองตั๋วเครื่องบินเข้าไทยที่ยังขยายตัว การเปิดเที่ยวบิน อาทิ อิหร่าน(เตหะราน) เจิ้งโจว การเปิดอาคารผู้โดยสารหลังใหม่สนามบินภูเก็ต ในเดือนกันยายนนี้ และ 3. กิจกรรมเด่นที่น่าสนใจในช่วงดังกล่าวเช่น อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ แกรนด์เซล , เลดี้ เจอร์นีย์ เป็นต้น ส่วนประเด็นที่ต้องจับตามองจะมีเรื่องการทำประชามติออกจากอียูของสหราชอาณาจักร ,การต่ออายุคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียของอียู

ส่วนปัจจัยที่สนับสนุนให้คนไทยเดินทางเที่ยวในประเทศในช่วงQ3 คือ การประกาศวันหยุดเพิ่มเติมวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา การจัดบิ๊กอีเวนต์ อย่าง งานวันเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ (12 สิงหาคม) กิจกรรมเลดี้ เจอร์นีย์ กิจกรรมเที่ยวตามรอยบุญ การเดินทางของกลุ่มประชุมสัมมนา ช่วงสิ้นปีงบประมาณ และเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้คนไทยจะชะลอการเดินทางเที่ยวนอก

สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยไตรมาส 2 ปีนี้ ที่ระบุว่า
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว พบว่าในภาพรวม การท่องเที่ยวของไทยจะมีแนวโน้มเติบโตดี แต่การแข่งขันทางราคาระหว่างผู้ประกอบการที่สูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงแรมและห้องพักในประเทศและความไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจ ยังคงเป็นปัจจัยฉุดให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการไม่ดีเท่าที่ควร ส่วนในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวไทยวางแผนเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นจากปีก่อนและช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่อาจจะลดงบประมาณในการท่องเที่ยวลง ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าในช่วงดังกล่าวจะอยู่ที่ 8.15 ล้านคนเพิ่มขึ้น11.49% ดังนั้นตลอดทั้งปีนี้สทท.คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 33.87 ล้านคนเพิ่มขึ้น13.35% สร้างรายได้1.71 ล้านล้านบาท และปีนี้จะเป็นปีแรกที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเที่ยวไทยเกิน 10 ล้านคน

ขณะที่นางศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) กล่าวว่า ยอดการเข้าพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาถือว่าดีมาก โดยไตรมาสแรก อยู่ที่ 75-85% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 70-75% และจากยอดจองห้องพักล่วงหน้าในช่วงไตรมาส 3 พบว่าน่าแปลกใจมาก เพราะดีกว่าช่วงไตรมาสแรก โดยอยู่ที่ 80-85% ซึ่งภาคใต้ถือว่าดีมาก ที่เป็นเช่นนี้เชื่อว่าเป็นเพราะการประชุมสัมมนาในประเทศที่จะเกิดขึ้นในช่วงใกล้หมดปีงบประมาณ แม้โรงแรมจะมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยที่ดีขึ้น แต่ราคาค่าห้องพักเฉลี่ยยังไม่ถือว่าสูง เพราะการแข่งขันที่เกิดขึ้นสูงมาก

แอร์ไลน์แห่สยายปีกรูตใหม่คึกคัก

อีกสัญญาณของการขยายตัวของการท่องเที่ยวไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คือ การเตรียมเปิด
เส้นทางบินใหม่ของสายการบินต่างๆที่ช่วงไตรมาส 3และไตรมาส 4 นี้ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การขยายเครือข่ายของสายการบินนั้นๆ และความร่วมมือภายใต้กรอบ "CLMVT Linkage" เน้นเชื่อมต่อการเดินทางทั้งทางอากาศ หรือ Air Linkage และทางบก Land Linkage หรือ"อาเซียน ไฮเวย์" ซึ่งล่าสุดมีสายการบินสนใจและเปิดเที่ยวบินตามนโยบายดังกล่าว เช่น บางกอกแอร์เวย์ เปิดบิน เชียงใหม่ - หลวงพระบาง และเชียงใหม่ - เวียงจันทน์ เส้นทางบินละ 7 เที่ยวต่อสัปดาห์ เริ่ม 1 ตุลาคมนี้ นอกจากนี้ยังมี เชียงใหม่ - บากัน ประเทศเมียนมา และยังตราด - พนมเปญ กัมพูชา ซึ่งจะเปิดบินต่อเนื่อง ไทยแอร์เอเชีย เปิดเที่ยวบิน กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ ขณะที่นกแอร์ เปิดเส้นทางบิน กรุงเทพฯ - มัณฑะเลย์ (เมียนมา) 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ภายในตุลาคม-พฤศจิกายนนี้

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ การบินไทย มีแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ – เตหะราน (อิหร่าน) 3เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และเส้นทางกรุงเทพฯ – มอสโก(รัสเซีย) ที่จะกลับมาเปิดบินใหม่ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เริ่มวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งทั้ง 2 ตลาดมีดีมานด์การเติบโตของนักท่องเที่ยวที่ดี

ปัจจุบันพบว่ามีนักท่องเที่ยวจากเตหะรานเดินทางมาไทยปีละราว 2.5 แสนคน ในส่วนของตลาดเอาต์บาวด์พบว่าคนไทยเรียกร้องให้เปิดเส้นทางบินนี้มานาน เช่นเดียวกับเส้นทางมอสโก ปัจจุบันพบว่ามีดีมานด์การเดินทางของนักธุรกิจ นักท่องเที่ยวมาก

นอกจากแผนขยายเส้นทางระยะไกลแล้ว การบินไทยยังวางแผนขยายตลาดอาเซียน ด้วยการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และจุดบินเชื่อมต่อ เน้นให้ไทยสมายล์เป็นหลักในการขยายตลาด เบื้องต้นจะเพิ่มความถี่ในเส้นทางบินกรุงเทพฯ - มะนิลา และกรุงเทพฯ - จากาตาร์ เพื่อเชื่อมต่อผู้โดยสารไปยังตลาดอินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรป รวมทั้งเส้นทางที่อยู่ระหว่างการศึกษา เช่น เวียงจันทน์ พนมเปญ ไซง่อน ย่างกุ้ง โฮจิมินห์ กัวลาลัมเปอร์ เมดาน สุราบายา และมะนิลา เป็นต้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปและทยอยเพิ่มเที่ยวบินในช่วงตารางบินฤดูหนาว หรือต้นเดือนตุลาคมนี้ และการเปิดเส้นทางบินใหม่โดยไทยสมายล์ กรุงเทพฯ - เซบู (ฟิลิปปินส์) ในเดือนพฤศจิกายนนี้

สำหรับแผนรับมอบเครื่องบิน การบินไทยเตรียมรับมอบเครื่องบินใหม่ 14 ลำ โดยกลางปีนี้ จะรับมอบแอร์บัสเอ 350 จำนวน 2 ลำ และในปี 2560 รับมอบ 7 ลำ แบ่งออกเป็น แอร์บัส 350 จำนวน 5 ลำ และโบอิ้ง 787 จำนวน 2 ลำ และในปี 2561 รับมอบอีก 5 ลำ เป็นรุ่นแอร์บัส 350

ทั้งหมดล้วนเป็นแนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวในปีนี้ ที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงเป็นทิศทางบวกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,167 วันที่ 19 - 22 มิถุนายน พ.ศ. 2559