กฟผ. จัดประชุมวิชาการ EGAT R&D Forum 2016

17 มิ.ย. 2559 | 06:12 น.
กฟผ. จัดประชุมวิชาการ “EGAT R&D Forum 2016” เพื่อแสดงผลงานนวัตกรรม และเทคโนโลยีที่เกิดจากองค์ความรู้และการวิจัยของ กฟผ. ที่มีคุณภาพ เป็นผลงานสร้างสรรค์ของคนไทย ซึ่งมีประโยชน์ต่อสังคม และนำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย

วันนี้ (17 มิถุนายน 2559) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดประชุมวิชาการ “EGAT R&D Forum 2016” เพื่อเผยแพร่งานวิจัยที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่สู่ภาคสังคม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการต่อยอดอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป โดยมี ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นประธานเปิดการประชุม และให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “งานวิจัยที่นำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ” และมีนายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. ร่วมพิธีเปิดงาน นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษจาก ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ในหัวข้อ “งานวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย”    ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายสุธน บุญประสงค์ รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. เปิดเผยว่า การจัดประชุมวิชาการ “EGAT R&D Forum 2016” ภายใต้แนวคิด “Innovation for Future Drive” เพื่อเป็นเวทีนำเสนอเทคโนโลยีที่เกิดจากองค์ความรู้และการวิจัยพัฒนาของ กฟผ. ซึ่งเป็นการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ให้กับนักวิชาการ อาจารย์ และประชาชน ทราบถึงความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อประเทศในทุกมิติ อีกทั้งยังเป็นการรวบรวมองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางด้านพลังงานที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาไว้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการได้เรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่มีคุณภาพ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากยิ่งขึ้น

สำหรับการประชุมวิชาการครั้งนี้ มีผลงานวิจัย กฟผ. จำนวน 7 เรื่อง ซึ่งผลงานเด่นในปีนี้ คือ ผลงานวิจัยเรื่อง “Smart Substation: EGAT SAS IEC 61850” เป็นระบบสื่อสารแบบดิจิตอลของสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่ กฟผ. เป็นผู้คิดค้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างทดลองใช้ที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอยุธยา 2 หากประสบความสำเร็จจะนำไปใช้ในสถานีไฟฟ้าแรงสูงอื่นๆ ของ กฟผ. ต่อไป โดยจะนำไปใช้ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เป็นแห่งแรก เพื่อรองรับ Smart Grid การสื่อสารแบบดิจิตอล ผ่านระบบ Fiber Optic และคอมพิวเตอร์ ทำให้สื่อสารได้แม่นยำและรวดเร็วกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาผลงานวิจัยเรื่อง “ยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle” เป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ในการพัฒนารถยนต์ใช้แล้วดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ กฟผ. สนับสนุนทุนวิจัยร่วมกับ สวทช. โดยให้ออกแบบชิ้นส่วนหลักของรถยนต์ให้สามารถขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจากพลังแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ทดแทนรถยนต์ใช้น้ำมัน นับเป็นรถยนต์พลังงานทางเลือกที่ประหยัดพลังงาน และลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดภาวะโลกร้อนด้วย

“การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่องานของ กฟผ. รวมถึงเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ กฟผ. เป็นองค์กรที่ภาคภูมิใจของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ขององค์กร โดยในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา กฟผ. ได้สนับสนุนโครงการวิจัยแล้วถึงจำนวน 239 โครงการ เป็นจำนวนเงินกว่า 2,500 ล้านบาท ซึ่งมุ่งเน้นการคิดค้นนวัตกรรม พร้อมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและการดูแลสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืน” นายสุธน กล่าวในตอนท้าย