สยามแก๊สกินรวบนำเข้า LPG ภาครัฐพร้อมเปิดประมูลโควตาก.ค.นี้ประเดิม 2 หมื่นตัน

17 มิ.ย. 2559 | 07:00 น.
สยามแก๊ส” พร้อมชิงประมูลนำเข้าแอลพีจีเสรี แม้โควตาเปิดเพียง 2 หมื่นตันต่อเดือน โดยหวังกินรวบทั้งหมด ส่วนที่เหลืออีก 2 หมื่นตันส่งขายสิงคโปร์รอ ธพ.ประกาศหลักเกณฑ์ภายใน ก.ค.นี้ ขณะที่สมาคมผู้ค้าแอลพีจีหนุนนำเข้าเสรี หวังต้นทุนจัดหาแอลพีจีลดลง

นางจินตนา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ปิโตรเคมีคัลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทกำลังรอความชัดเจนจากทางกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เพื่อประกาศหลักเกณฑ์นำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) เสรี แม้โควตาที่ออกมาล่าสุดคาดว่า จะมีปริมาณการนำเข้าในแต่ละเดือนจะอยู่ที่ 2-3 หมื่นตันต่อเดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่สูง ขณะที่ศักยภาพการนำเข้าของบริษัทจะอยู่ที่ 4.4 หมื่นตันต่อเดือน ทำให้บริษัทมีความสนใจที่จะนำเข้าแอลพีจี เพราะสามารถขนส่งทางเรือเพื่อนำเข้ามาในประเทศไทย50% ส่วนที่เหลือจะส่งขายไปยังประเทศสิงคโปร์ได้

สำหรับการเปิดประมูล(บิดดิ้ง) นำเข้าแอลพีจีเสรีนั้น บริษัทมั่นใจว่า จะสามารถคว้าโควตาที่เปิดประมูลได้ทั้งหมด เพราะมีศักยภาพสามารถจัดหาต้นทุนแอลพีจีในราคาตลาดโลก (CP+X) ต่ำกว่า 85 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เนื่องจากบริษัทดำเนินธุรกิจค้าขายแอลพีจีในต่างประเทศอยู่แล้ว ดังนั้นการจัดหาจึงไม่ยาก ปัจจุบันบริษัทมียอดขายแอลพีจีในประเทศไทยอยู่ที่ 2 แสนตันต่อเดือน และยอดขายในต่างประเทศ 2-3 แสนตันต่อเดือน

“ตอนนี้ยังไม่ได้หารือกับ ธพ. เพิ่มเติม หลังจากทาง ธพ.ยุติการนำเข้าไปในช่วงก่อนหน้านี้ ขณะนี้ยังรอความชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์นำเข้าเสรี คาดว่าจะชัดเจนภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยบริษัทมีความพร้อมยื่นบิดดิ้งแอลพีจีเสรี แม้ยอดนำเข้าจะลดลงมาเหลือประมาณ 2 หมื่นตันต่อเดือน ก็ยังพอไหว สามารถขนส่งในส่วนที่เหลือไปขายต่างประเทศได้”นางจินตนา กล่าว

นายชิษณุพงศ์ รุ่งโรจน์งามเจริญ นายกสมาคมผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว(แอลพีจี) เปิดเผยว่า สมาคมฯมีความมั่นใจว่าภายหลังจากกระทรวงพลังงานเปิดประมูลนำเข้าแอลพีจีเสรีแล้ว จะส่งผลให้ต้นทุนแอลพีจีลดลง เพราะมีผู้ค้าแอลพีจีมาตรา 7 หลายรายที่มีศักยภาพสามารถจัดหาแอลพีจีในราคาถูกลง จากแหล่งแอลพีจีที่มีคุณภาพ สามารถต่อรองราคาได้ ทำให้รัฐจ่ายเงินชดเชยค่าบริหารจัดการลดลง จากปัจจุบันเป็นราคาCP+85 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

สำหรับยอดใช้แอลพีจีภาคครัวเรือนพบว่าในเดือนมิถุนายนนี้ ภาพรวมไม่ได้ลดลง แต่ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่มีความต้องการใช้แอลพีจี48 กิโลกรัมต่อถังลดลงเล็กน้อย 5-10% ของยอดใช้ทั้งหมด ซึ่งเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง แต่ดูว่าเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก เพราะเมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการใช้แอลพีจีในกลุ่มนี้จะกลับมา ปัจจุบันสัดส่วนยอดใช้แอลพีจีภาครัวเรือนรวมเอสเอ็มมีอยู่ที่ 40-45% ของยอดใช้แอลพีจีทั้งหมด ที่ประมาณ 11-12 ล้านกิโลกรัมต่อวัน

ส่วนนโยบายที่ ธพ.สามารถให้ผู้ค้ามาตรา 7 สามารถส่งออกแอลพีจีได้นั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อปริมาณแอลพีจีในประเทศ เพระรัฐจะต้องมีการจัดสรรปริมาณแอลพีจีในประเทศให้เพียงพอก่อนที่จะอนุญาตส่งออก รวมทั้งราคาแอลพีจีที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับตลาดโลก จะทำให้ผู้ค้าเลือกที่จะขายในประเทศก่อน เพราะการส่งออกย่อมมีต้นทุนค่าขนส่ง

“เห็นด้วยกับนโยบายเปิดบิดดิ้งนำเข้าแอลพีจีเสรี เพราะยังมีผู้ค้ามาตรา 7 หลายรายที่มีศักยภาพจัดหาแอลพีจีได้ การแข่งขันจะทำให้แอลพีจีมีต้นทุนถูกลง และไม่ห่วงว่า ผู้ค้าที่มีสัญญานำเข้าจะไม่สามารถนำเข้าได้ตามแผน เพราะจะต้องมีกฎหมายที่เข้ามาควบคุมดูแลให้เป็นไปตามแผน”

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มนำเข้าแอลพีจีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 3-4 หมื่นตันต่อเดือน แต่บางเดือนอาจไม่จำเป็นต้องนำเข้า เพราะมียอดใช้ลดลง ประกอบกับยอดผลิตแอลพีจีจากโรงกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซธรรมชาติมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ อาทิ ในเดือนกรกฎาคมนี้ อาจไม่จำเป็นต้องนำเข้าแอลพีจี ส่วนหนึ่งมาจากยอดใช้น้ำมันที่เพิ่ม ทำให้โรงกลั่นฯ มีกำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่ม และมีผลพลอยได้ที่เป็นแอลพีจีเพิ่มเช่นกัน ขณะที่โรงแยกฯ นำก๊าซมาผลิตไฟฟ้ามาก ก็จะได้ส่วนเหลือที่เป็นแอลพีจีเพิ่ม นอกจากนี้ทางบริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ก็แจ้งว่าใช้แอลพีจีลดลง เนื่องจากสามารถใช้แนฟทาเข้ามาทดแทน

“ปัจจุบันภาพรวมการใช้แอลพีจีในประเทศไทยอยู่ที่ 7 แสนตันต่อเดือน นับว่ายังทรงตัว ส่วนการเปิดบิดดิ้งนำเข้าแอลพีจีเสรี จะเสนอรายละเอียดหลักเกณฑ์รมว.พลังงาน ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ คาดว่าแนวโน้มการนำเข้าคงไม่เติบโตเหมือนก่อน จากเดิมที่เคยนำเข้าสูงสุด 1.7-1.8 แสนตันต่อเดือน ก็นำเข้าลดลง เพราะปิโตรเคมีใช้แนฟทามากขึ้น โดยภายหลังจากกำหนดหลักเกณฑ์นำเข้าแอลพีจีเรียบร้อยแล้ว จะหารือกับผู้ค้าแอลพีจีต่อไป”นายวิฑูรย์ กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559