ฟิทช์ปรับแนวโน้มเครดิตญี่ปุ่น กังขาการจัดการหนี้สาธารณะ

17 มิ.ย. 2559 | 04:00 น.
ฟิทช์ เตือนญี่ปุ่นเสี่ยงถูกลดอันดับเครดิต มองแนวโน้มหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นหลังญี่ปุ่นตัดสินใจเลื่อนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มออกไป

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรตติ้งส์ ประกาศปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของญี่ปุ่นจากคงที่เป็นลบ แต่ยังคงอันดับเครดิตไว้ที่ A เช่นเดิม "การปรับลดแนวโน้มสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของฟิทช์ที่มีลดลง ต่อความมุ่งมั่นของทางการญี่ปุ่นในการสร้างความเข้มแข็งให้กับสถานะทางการคลัง" ฟิทช์ระบุในแถลงการณ์

การตัดสินใจของฟิทช์เกิดขึ้นหลังจากนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่าจะเลื่อนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 8% เป็น 10% ออกไปจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคม 2561 โดยนายอาเบะกังวลว่าการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะส่งผลกระทบต่อความต้องการภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นการกดดันให้เงินเฟ้อของญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ภาวะติดลบอีกครั้ง

นายแอนดรูว์ โคลคูฮูน หัวหน้าฝ่ายหนี้สาธารณะภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคของฟิทช์ กล่าวว่า การตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นเหตุให้ฟิทช์ต้องประเมินอันดับเครดิตของญี่ปุ่นใหม่ "ถ้าเราประเมินแล้วพิจารณาว่าแนวโน้มสัดส่วนหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้น ขั้นต่อไปอาจเป็นการปรับลดอันดับเครดิต"

ฟิทช์ระบุในแถลงการณ์ว่า การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มขั้นที่ 2 จาก 8% เป็น 10% ในเดือนเมษายนปีหน้า ถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้ญี่ปุ่นบรรลุเป้าหมายในการเปลี่ยนงบประมาณขาดดุลให้เป็นสมดุลภายในปีงบประมาณ 2560

เวลานี้ฟิทช์คาดหมายว่าญี่ปุ่นจะไม่มีการปรับขึ้นภาษีอีก และคาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอัตรา 1% หรือ 2% ต่อปีไปจนถึงปี 2567 แทนที่จะเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุด 247% ของจีดีพีในปี 2563 อย่างที่คาดการณ์ไว้เดิม
ปัจจุบัน ฟิทช์จัดอันดับเครดิตของญี่ปุ่นไว้ที่ระดับ A ซึ่งต่ำกว่าระดับสูงสุด คือระดับ AAA อยู่ 5 ขั้น โดยแนวโน้มที่เป็นลบหมายความว่าฟิทช์มีโอกาสปรับลดอันดับเครดิตภายใน 18 เดือนถึง 2 ปีข้างหน้า

ด้านมูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ซึ่งจัดอันดับเครดิตไว้เหนือกว่าฟิทช์หนึ่งระดับที่ A1 มองแนวโน้มของญี่ปุ่นในทิศทางเดียวกับฟิทช์แต่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนแนวโน้ม "การตัดสินใจของญี่ปุ่นส่งผลลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ เนื่องจากเป็นการตั้งคำถามถึงความสามารถและความตั้งใจของรัฐบาลในการทำให้ได้ตามเป้าหมายการคลัง" มูดีส์กล่าวหลังนายอาเบะประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในทางกลับกัน เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติ้งส์ มองในทิศทางที่เป็นบวกมากกว่า โดย พอล กรูเอนวอลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเอสแอนด์พี กล่าวว่า การเลื่อนการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจะช่วยเพิ่มกำลังการใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นในปีหน้า ดังนั้นจึงเป็นผลดีต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะสั้น

การจัดการกับหนี้สาธารณะที่สูงกว่า 2 เท่าของขนาดเศรษฐกิจนับเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจของนายอาเบะ อย่างไรก็ตาม ความพยายามของนายอาเบะต้องเผชิญกับอุปสรรค หลังการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มครั้งแรกจาก 5% เป็น 8% เมื่อเดือนเมษายน 2557 ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับเข้าสู่ภาวะถดถอย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559