กำไรแบงก์ครึ่งหลังหดตัว ธปท.ชี้ผลพวงรายใหญ่เมินกู้/กดเป้าสินเชื่อไม่ขยายตัว

19 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
ธปท.ส่งสัญญาณกำไรธุรกิจธนาคารครึ่งปีหลังหดตัวเหตุธุรกิจรายใหญ่หันระดมเงินผ่านตลาดทุน-ต้นทุนตํ่ากว่ากดสินเชื่อไม่ขยายตัว-เห็นส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิทรงตัว 2.6% หลังแบงก์ยังพึ่งรายได้ดอกเบี้ยสัดส่วนสูงกว่า 70% แนะแบงก์ควรปรับตัวสร้างรายได้ช่องทางอื่น พร้อมบริหารสภาพคล่องประคองตัว ด้าน“ไทยพาณิชย์” มั่นใจหลังวางระบบแพลตฟอร์มใหม่ พร้อมเจาะธุรกิจตามงบประมาณ-โครงการรัฐ เป้าหมาย 100 บริษัท เล็งปี 60 ลุยเพิ่มอีก 300 ราย

นางสาวกนกวรรณ เมฆโสภาวรรณกุล ผู้อำนวยการ สำนักกลยุทธ์และวิเคราะห์สถาบันการเงิน ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจขนาดใหญ่ปัจจุบันใช้วงเงินสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์น้อยลง เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้สามารถหาแหล่งระดมเงินทุนผ่านตราสารหนี้ได้หลายช่องทาง เพราะเป็นการหาแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมกับธุรกิจในต้นทุนที่ถูกกว่าธนาคารพาณิชย์ เพราะธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ประมาณ 70% จะเป็นเงินฝากที่มีอายุไม่ยาว ซึ่งสวนทางกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการเงินทุนกู้ระยะยาว 10-20 ปี ทำให้ธนาคารต้องหาแหล่งเงินทุนอื่น ส่งผลให้ต้นทุนแพงขึ้น

"จะเห็นได้ว่า ในระยะหลังจะเห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงจะนิยมออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนแทนการใช้วงเงินสินเชื่อกับธนาคาร ปัจจุบันสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ แบ่งเป็น สินเชื่อขนาดใหญ่ 29-30% ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) 37% และสินเชื่อรายย่อย 30%"

นางสาวกนกวรรณ กล่าวอีกว่าขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้อยู่ในจุดที่จะสามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงได้แล้ว เพราะจะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยรายใหญ่จะค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว แม้จะเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 7% แต่เวลากู้ยืมจริงอัตราที่คิดจริงจะไม่ได้ตามที่กำหนด เพราะลูกค้ารายใหญ่มีช่องทางระดมทุนธนาคารพาณิชย์ต้องแข่งขันกับตลาดทุนด้วย ดังนั้น ธนาคารต้องบริหารจัดการแหล่งเงินทุนให้สมดุลกับต้นทุน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบันธนาคารปล่อยสินเชื่อไม่ได้ ประกอบกับคนที่มีความต้องการสินเชื่อก็เป็นรายที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงจะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทำให้ธนาคารต้องบริหารเรื่องของรายได้ เพราะหากธนาคารมีตัวเลขเอ็นพี แอลสูงจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะมีผลต่อการระดมทุนที่จะมีต้นทุนแพงขึ้น เพราะถูกดาวน์เกรดความน่าเชื่อถือ

ดังนั้น ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อาจจะเห็นการสร้างรายได้หรือกำไรของธนาคารพาณิชย์น้อยลงได้ เพราะตอนนี้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์เฉลี่ยอยู่ที่ 2.6% ถือว่าอยู่ในระดับทรงตัว ซึ่งธปท.อยากเห็นสัดส่วน NIM ปรับลดลงอีก เพราะถ้าช่องว่างยิ่งแคบจะยิ่งดี ซึ่งเชื่อว่าถ้าแนวโน้มเศรษฐกิจดี ความต้องการสินเชื่อดีขึ้น จะทำให้สัดส่วน NIM แคบลงได้

ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์อาจจะต้องหาช่องทางในการสร้างรายได้จากช่องทางอื่น เช่น การขายประกันผ่านธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันส์) การเป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้-หลักทรพย์ (Underwriter) เป็นต้น ซึ่งจะช่วยในเรื่องของรายได้ค่าธรรมเนียม จะเห็นว่าภายหลังระบบ National E-payment เข้ามามีบทบาท จะทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมธนาคารหายไป แต่รายจ่ายในเรื่องของเงินสดและสาขาธนาคารปรับลดลงเช่นกัน ทำให้ภาพรวม NIM มีโอกาสปรับลดลงได้ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของธนาคารพาณิชย์ แบ่งเป็นรายได้จากอัตราดอกเบี้ยกว่า 70% และรายได้ค่าธรรมเนียมกว่า 20%

"ปัจจุบัน NIM ของแบงก์ไทยอยู่ที่ 2.6% จะเอาตัวเลขเงินฝาก-เงินกู้มาเทียบอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะแบงก์มีเงินฝากหลายประเภท และเงินกู้ที่ว่า 7% ก็ไม่ได้คิดอัตรานั้น เพราะอย่าลืมว่าแบงก์ต้องแข่งกับพวกตลาดทุนที่ลูกค้ารายใหญ่สามารถระดมทุนได้ด้วย ดังนั้น ช่วงครึ่งปีหลังจะเห็นผลประกอบการด้านกำไรแบงก์จะน้อยลง

ด้านนายสารัชต์ รัตนาภรณ์ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า เป้าหมายธุรกิจลูกค้าขนาดใหญ่ในปีนี้ ภายหลังจากมีการวางโครงสร้างระบบการทำงานใหม่เพื่อสร้างฐานการบริการลูกค้าให้มีประสิทธิภาพ หรือการวาง Platform ในปีที่ผ่านมา ธนาคารจะมุ่งเน้นโฟกัสลูกค้าในหลายเซ็กเตอร์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังขยายตัวตามโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามงบประมาณภาครัฐ เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และวัสดุก่อสร้างที่จะลงไปในกลุ่มผู้ประกอบการรายกลางมากขึ้น ซึ่งธนาคารสามารถสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้ลูกค้าได้ ส่วนลูกค้ารายใหญ่ธนาคารมีทางเลือกช่วยลูกค้ามากกว่าแหล่งเงินทุนเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มลูกค้ารายใหญ่ที่มียอดขายมากกว่า 500 ล้านบาท ให้ได้อย่างน้อย 100 บริษัท ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปีสัญญาณค่อนข้างดี เพราะถือว่าธนาคารเพิ่งจะเข้ามาเริ่มมุ่งเน้นตลาดอย่างจริงจังในปีนี้หลังจากมีการเพิ่มระบบการทำงานใหม่ โดยปัจจุบันมีฐานลูกค้าบริษัทเข้ามาใช้บริการแล้วกว่า 60 บริษัท จากทั้งระบบที่มีอยู่ประมาณ 5-7 พันบริษัท ซึ่งในปี 2560 จะเพิ่มอีก 300 บริษัท ส่งผลให้ธนาคารมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ธุรกิจขนาดใหญ่ประมาณ 15-17%

"การหาลูกค้าให้ได้คุณภาพเราจะต้องมีการวางระบบ ซึ่งในปีนี้ที่ผ่านมาเราวางแฟลตฟอร์มเรื่องนี้ ทำให้ในปีนี้เราจะมาโฟกัสธุรกิจและบริษัทมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้าของธนาคาร โดยเรามุ่งไปยังเซ็กเตอร์ที่เกาะตามการลงทุนภาครัฐ"

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) หรือทีเอ็มบี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าแนวโน้มกำไรของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในของปีนี้มีแรงกดดันให้ปรับตัวลดลงเนื่องจากการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะความต้องการในระบบยังคงน้อย และธุรกิจรายใหญ่ส่วนหนึ่งหันไประดมทุนผ่านตลาด ซึ่งคาดว่าทั้งปีสินเชื่อในระบบจะขยายตัวได้เพียง 3.3-3.5% จากอดีตที่เคยขยายตัวได้ 6-7% ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังคงต้องระมัดระวังจากเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ธนาคารต้องเพิ่มการกันสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น จึงทำให้กระทบรายได้หรือกำไรของธนาคารปรับลดลง โดยมองทั้งปีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะขยับขึ้นใกล้ระดับ3% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) จะอยู่ที่ 2.8-3% อย่างไรก็ดี จะเห็นธนาคารพาณิชย์พยายามรักษาระดับ NIM ให้มีเสถียรภาพ โดยบริหารค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ส่วนอื่นให้มากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559