เมื่อความท้าทายเปลี่ยนไป

19 มิ.ย. 2559 | 01:00 น.
ในเกือบทุกประเทศทั่วโลกธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจเลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวเองต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ไม่เฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องของความเป็นเจ้าของและความสัมพันธ์ของครอบครัวอีกด้วย ดังจะเห็นได้ว่าธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่มักอยู่รอดได้ไม่เกินหนึ่งรุ่น โดยทั่วโลกมีธุรกิจครอบครัวเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการถ่ายโอนกิจการจากรุ่นสู่รุ่น

[caption id="attachment_62830" align="aligncenter" width="700"] Conflicting objectives in family business Conflicting objectives in family business[/caption]

ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวจะเปราะบางที่สุดในช่วงเวลาของการถ่ายโอนกิจการเพราะมักจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นหลายเรื่อง เช่น ความต้องการรักษาและให้ความเคารพสิ่งที่ทำมาแต่ดั้งเดิม ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามที่จะปรับเปลี่ยนและสร้างความก้าวหน้าให้เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจด้วย

โดยจากการศึกษาของ Deloitte EMEA Family Business Centre ที่ได้ทำการสัมภาษณ์ทายาทรุ่นใหม่ของธุรกิจครอบครัว 92 ราย จาก 19 ประเทศในยุโรป เอเชียกลางและแอฟริกา พบว่า ทายาทหนุ่มสาวรุ่นใหม่ล้วนมีความมุ่งมั่นและพร้อมจะเข้ารับตำแหน่งผู้นำของธุรกิจครอบครัว อีกทั้งยังมีมุมมองระยะยาวต่อบริษัทของตนเอง และเห็นว่าความท้าทายต่างๆ ที่พวกเขาต้องเจอเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นที่ทราบกันดีว่าธุรกิจครอบครัวนั้นจำเป็นต้องรักษาสมดุลระหว่างเป้าหมายธุรกิจ (เช่น การเติบโต นวัตกรรมและการสรรหาคัดเลือกคนเก่งเข้ามาในองค์กร) และเป้าหมายของครอบครัว เช่น การรักษาค่านิยมของครอบครัวและการปกป้องทรัพย์สินของครอบครัว และยังจำเป็นต้องจัดการให้การถ่ายโอนความเป็นผู้นำจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งเป็นไปอย่างราบรื่นอีกด้วย

ซึ่งเป้าหมายเหล่านี้บางครั้งก็อาจเกิดความขัดแย้งกันและอาจยากที่จะประนีประนอมในแต่ละเรื่องได้ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าความท้าทายหลักที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไปต้องเผชิญ ได้แก่ การรักษาค่านิยมของครอบครัว การวางแผนการสืบทอดกิจการ และการสร้างความเป็นมืออาชีพให้กับธุรกิจครอบครัว (ภาพที่ 1)

นอกจากนี้ผู้นำรุ่นต่อไป ของธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบความเป็นผู้นำของตัวเองและได้รับการยอมรับ มักมองว่าการเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้นำคนใหม่ถือเป็นความท้าทายหลัก ขณะที่ในอดีตนั้นธุรกิจครอบครัวจะให้ความสำคัญกับการหาแนวทางที่จะสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจ แต่สำหรับผู้นำรุ่นใหม่จะมองในเรื่องของการขยายบริษัทเป็นความท้าทายลำดับถัดมาเพื่อสร้างความสำเร็จเพิ่มเติมให้กับบรรพบุรุษของพวกเขา ซึ่งมุมมองเหล่านี้สามารถพบได้ทั่วไปในบริษัทที่ผู้นำรุ่นใหม่อยู่ในรุ่นที่ 2 หรือรุ่นที่ 3 นั่นเอง

ที่มา: Deloitte. 2016. Next-generation family businesses Evolution, keeping family values alive. Available: https://www2.deloitte.com/global/en/pages/strategy/articles/emea-family-business-initiative.html.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559