ไทยสมายล์เล็งแผนลงทุน10ปี ชูกลยุทธ์รูตโฟกัสจีน-อินเดีย-อาเซียน/จัดหาฝูงบินใหม่15ลำ

16 มิ.ย. 2559 | 10:00 น.
บินไทยวางกรอบ ไทยสมายล์ จัดทำแผนลงทุนระยะยาว 5-10 ปีรับยุทธศาสตร์รูตโฟกัสจีน อินเดีย อาเซียน ให้สอดคล้องกับแผนจัดหาฝูงบินใหม่ หลังรับมอบเครื่องบินครบ 20 ลำภายในสิ้นปี 59 ที่จะเพียงพอใช้ดำเนินธุรกิจถึงสิ้นปี 60 คาดชงบอร์ดพิจารณาไตรมาส 3 ปีนี้ ชี้แนวโน้มต้องการเครื่องใหม่อีก 15 ลำสำหรับขยายเน็ตเวิร์กใหม่ และทดแทนแอร์บัสเอ320 ที่จะหมดสัญญาในปี 2565

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในขณะนี้สายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการบินไทย กำลังอยู่ระหว่างจัดทำแผนลงทุนระยะยาวของบริษัทในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านี้ เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจหลังจากปี 2560 เป็นต้นไป เนื่องจากการรับมอบเครื่องบินแอร์บัสเอ 320-200 จำนวน 20 ลำที่สายการบินไทยสมายล์ เช่าดำเนินการ จากการบินไทย จะส่งมอบครบทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ ( ปัจจุบันรับมอบมาแล้ว 16 ลำ) ซึ่งจะเพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจไปจนถึงสิ้นปี2560 ภายใต้กลยุทธ์การโฟกัสเส้นทางบินใน 3 จุดหลักได้แก่ จีน อินเดีย ในปีนี้ และอาเซียนในปีหน้า

ดังนั้นในขณะนี้สายการบินกำลังอยู่ระหว่างวางทิศทางการดำเนินธุรกิจในอีก 5-10 ปีข้างหน้านี้ (ช่วงปี 2560-2570) เพื่อจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติม ให้เหมาะสมกับการขยายธุรกิจที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเบื้องต้นไทยสมายล์ วางเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจอยู่ที่ 5-7% ต่อปี โดยแผน จะมี 2 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์ รูตโฟกัส ซึ่งสายการบินวางป้าหมายการขยายเส้นทางบินต่อเนื่องใน 3 โซนหลัก ได้แก่ จีน อินเดีย และอาเซียน และ 2.ยุทธศาสตร์เรื่องของเครื่องบิน ที่ต้องพิจารณาใน 2 เรื่อง คือ การปลดระวางเครื่องบินเดิมและการจัดหาเครื่องบินใหม่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับการเติบโตในการขยายเน็ตเวิร์กของสายการบินที่จะเกิดว่า สมควรจะใช้เครื่องบินลำตัวแคบ หรือจำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีเครื่องบินขนาดเล็ก อย่างเครื่องบินแบบเอทีอาร์ หรือเครื่องบินขนาด 100 ที่นั่ง สำหรับจุดบินที่จะพัฒนาให้เป็นฮับรอง

ทิศทางการขยายจุดบินของไทยสมายล์ ชัดเจนว่ามุ่งขยายเครือข่ายไปยังต่างประเทศ ระยะเวลาทำการบินราว 4-5 ชั่วโมง ด้วยการวางตำแหน่งทางการตลาดว่าเป็น "ริจัลนัล แอร์ไลน์ส" มีบริการแบบฟูลเซอร์วิส เน้นการเติบโตภายในภูมิภาคนี้ การขยายเครือข่ายเส้นทางบินภายใต้กลยุทธ์ไชน่า โฟกัส การเชื่อมโยงจุดบินสู่อินเดีย ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างพิจารณาการพัฒนาฮับรอง อย่าง ภูเก็ตและเชียงใหม่ เพื่อเชื่อมโยงเมืองรองของไทยสู่ต่างประเทศ อาทิ เส้นทางหางโจว-ภูเก็ต,เส้นทางฉงชิ่ง-เชียงใหม่,เส้นทางเชียงใหม่-มัณฑะเลย์ ,เส้นทางเชียงใหม่-หลวงพระบาง เป็นต้น โดยแผนต่างๆ ต้องดูให้เหมาะสมทั้งในเรื่องการของหารายได้ของไทยสมายล์ และการบินเสริมที่จะเอื้อธุรกิจให้แก่บริษัทแม่ อย่างการบินไทย

" ในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ ดูจากแนวโน้มการขยายธุรกิจที่เกิดขึ้น คาดว่าไทยสมายล์ มีความต้องการเครื่องบินเพิ่มอีก 5 ลำเพื่อรองรับการเติบโตของสายการบิน ขณะเดียวกันก็ยังต้องมองเรื่องของการนำเครื่องบินอีกราว 10 ลำ เข้าทดแทนเครื่องบินแอร์บัสเอ 320-200 ที่มีการใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีสัญญาเช่าเครื่องบินอยู่ที่ 12 ปี ที่จนถึงปัจจุบันมีการใช้งานไปแล้วร่วม 4 ปี เหลือสัญญาเช่าอีก 8 ปี ซึ่งในภาพรวมจะหมดสัญญาเช่าในปี 2565 ดังนั้นการวางแผนจัดหาฝูงบินในช่วง 10 ปีนี้ (ปี2560-2570) ไทยสมายล์ คาดว่าต้องจัดหาเครื่องบินทั้งหมดราว 15 ลำ โดยเป็นลักษณะการทยอยรับมอบ 2 ช่วง ช่วงแรก 6 ลำและช่วงที่ 2 อีก 9 ลำ"

สำหรับรูปแบบของจัดหาจะเป็นในลักษณะการเช่าดำเนินงานเหมือนที่ผ่านมา (การบินไทยเช่าดำเนินการ และไทยสมายล์มาเช่าต่อเพื่อดำเนินธุรกิจ)หรือเช่าซื้อ ต้องดูเรื่องของสถานะทางการด้านการเงินของการบินไทยด้วยเช่นกัน เพราะมูลค่าของเครื่องบินจะอยู่ที่ 40-50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อลำ ทั้งนี้การจัดทำแผนดังกล่าว คาดว่าทางไทยสมายล์จะเสนอแผนระยะยาวให้การบินไทย พิจารณาได้ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ หากผ่านบอร์ดแล้ว คาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ เพื่อทยอยจัดหาเครื่องบินเข้ามาดำเนินการต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวยังกล่าวต่อว่า นอกจากการจัดทำแผนระยะยาวของไทยสมายล์ที่ต้องนำเสนอเข้าบอร์ดการบินไทยพิจารณา ยังมีเรื่องของระบบสำรองที่นั่ง ที่ยังเป็นอุปสรรค์ในการเชื่อมโยงการขายในเส้นทางจากยุโรปที่จะมาต่อเครื่องบินในเส้นทางบินของไทยสมายล์ ที่ยังไม่สะดวก (ไม่สามารถขายต่อเนื่องเป็นโค้ดTGของการบินไทยได้) จากปัญหาเรื่องการใช้ระบบสำรองที่นั่งคนละระบบ ซึ่งการบินไทยใช้ระบบสำรองที่นั่งเบ็ดเสร็จ (Globle Distribution System-GDS)ของอมาดิอุส แต่ไทยสมายล์ ใช้ระบบนาวิแทร์ (NAVITAIRE) ซึ่งเป็นระบบเดียวกับการสำรองที่นั่งที่สายการบินต้นทุนต่ำใช้บริการอยู่ ซึ่งไทยสมายล์ได้ซื้อระบบมาเป็นเวลา 5 ปี วงเงินราว 700 ล้าน -1 พันล้านบาท

ทำให้ไทยสมายล์ต้องนำเรื่องนี้มาหารือในบอร์ดถึงแผนการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันไทยสมายล์มีการขายในแบบพอยต์ทูพอยต์ กว่า 70% และมีการขายในลักษณะต่อเครื่องมาจากการบินอยู่ราว 30% การใช้ระบบนาวิแทร์ จะตอบโจทย์ได้มากกว่า แต่ขณะเดียวกันไทยสมายล์ มองว่าการขายในแบบบล็อกจำนวนที่นั่งราว 30% จากระบบอมาดิอุส จะช่วยแก้ปัญหาให้ผู้โดยสารต่อเครื่องของการบินไทยได้รับบริการได้อย่างสะดวก แต่หากจะให้ไทยสมายล์ มาใช้ระบบเดียวกับการบินไทย จะทำให้ไทยสมายล์ได้รับผลกระทบ เพราะในทุกๆบุ๊กกิ้งที่ผ่านระบบอมาดิอุสต้องเสียค่าใช้จ่ายให้ระบบ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับไทยสมายล์จ่ายเงินซื้อระบบนี้มาแล้ว หากจะให้ยกเลิกก็เป็นการสูญเงินเปล่า จึงต้องมีการหารือเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559