ไฟฟ้าแจกฟรีจากชิลี

19 มิ.ย. 2559 | 10:00 น.
ของอะไรก็ตามที่ผลิตได้มากจนมีปริมาณล้นเกินความต้องการ แบบที่เรียกว่า "เหลือกินเหลือใช้" ถ้าแจกจ่ายออกไปฟรีๆให้แก่ผู้ที่มีความต้องการใช้สิ่งนั้นๆ ก็นับเป็นการใช้สอยผลิตผลให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มีการทิ้งให้เสียของ อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างของสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีทั้งผู้ให้และผู้รับตามความเหมาะสม

ในประเทศชิลี ระยะหลังๆ นี้ก็เช่นกัน รัฐบาลได้ทุ่มทุนพัฒนาพลังงานทางเลือกใหม่ ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะพลังงานจากแสงแดด จนกระทั่งสามารถผลิตได้กระแสไฟฟ้าจากแสงแดดได้มากกว่าแหล่งพลังงานอื่นๆ แล้ว ก่อนหน้านี้มีรายงานระบุว่า ด้วยสมรรถนะการผลิตได้ปริมาณมาก ราคาจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากแสงแดดในชิลีเคยปรับลดลงมาสู่อัตราศูนย์เป็นเวลาถึง 113 วัน (สิ้นสุด ณ สิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา)

[caption id="attachment_62842" align="aligncenter" width="500"] พลังงานทางเลือก พลังงานทางเลือก[/caption]

การได้ใช้กระแสไฟฟ้าฟรีๆ เป็นผลดีกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อตลาดด้วยเช่นกัน แน่นอนว่า บริษัทผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าอาจมีรายได้ลดลงเมื่อเจอกับสถานการณ์เช่นนี้ แนวโน้มในชิลีก็เป็นเช่นนั้น เพราะนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา กระแสไฟฟ้าที่ใช้กันในชิลีมาจากโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นถึง 4 เท่า ปัจจุบัน เครือข่ายกระแสไฟฟ้าส่วนกลางของชิลีนั้น ได้รับไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มจำนวน 29 แห่ง นอกจากนี้ ในอนาคต ชิลียังมีแผนสร้างโซลาร์ฟาร์มเพิ่มเติมอีกจำนวนถึง 15 แห่ง อย่างไรก็ตาม ชิลีมีเครือข่ายจ่ายกระแสไฟฟ้า 2 เครือข่ายหลัก คือเครือข่ายส่วนกลาง และเครือข่ายภาคเหนือ ซึ่งทั้ง 2 เครือข่ายไม่ได้เชื่อมโยงกัน โครงสร้างพื้นฐานในบางจุดของเครือข่ายก็อยู่ในสภาพทรุดโทรม ดังนั้น จึงมีบางพื้นที่ที่แรงส่งไฟฟ้าไปไม่ถึง แต่บางพื้นที่ก็มีไฟเหลือใช้ เช่นในเครือข่ายภาคเหนือ ปริมาณผลิตเหลือใช้ทำให้ราคาไฟฟ้าในพื้นที่ถูกลงอย่างมากกระทั่งเหลือศูนย์เป็นเวลาถึง 192 วัน

นักวิเคราะห์ กล่าวว่าในระยะยาว สถานการณ์เช่นนี้อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าในชิลี ซึ่งหลายพื้นที่ยังต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในเครือข่ายเพื่อรองรับกำลังผลิตจากโซลาร์ฟาร์มที่มีเพิ่มมากขึ้น การกระจายไฟฟ้าอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่และสร้างสมดุลของค่าไฟในแต่ละพื้นที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข ปัจจุบัน รัฐบาลชิลี กำลังลงทุนสร้างเครือข่ายกระจายกระแสไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 3 พันกิโลเมตรเพื่อที่จะเชื่อมโยงสองเครือข่ายหลักเข้าด้วยกันภายในปี 2560

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559