‘บิ๊กตู่’ ตรวจการบ้านข้าราชการจี้พัฒนางานบริการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

16 มิ.ย. 2559 | 03:00 น.
จากรายงานผลการศึกษาเพื่อจัดอันดับความยาก-ง่ายในการเข้าไปประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆทั่วโลก (Ease of Doing Business 2016) จัดทำโดยธนาคารโลกเป็นประจำทุกปี สำหรับปีนี้ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 49 จาก 189 ประเทศทั่วโลก โดยสำรวจตัวชี้วัด 10 ด้าน ตามวงจรธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันปิดกิจการ เสมือนกระจกสะท้อนให้เห็นถึง ประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในการอำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆตลอดขวบปีที่ผ่านมา

[caption id="attachment_62310" align="aligncenter" width="700"] ผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยปี 2016 ผลการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของไทยปี 2016[/caption]

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้จัดประชุมเรื่อง "การปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการภาครัฐ กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย" โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อรับฟังหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องนำเสนอผลการดำเนินงาน การปรับปรุงบริการโดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเสนอ

หนึ่งในไฮไลต์ที่น่าสนใจ ดังเช่น การรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการลดขั้นตอนของการจัดตั้งธุรกิจ โดยตั้งแต่วันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอจัดตั้งบริษัทได้ใน 2 ขั้นตอน โดยเมื่อจองชื่อนิติบุคคลออนไลน์และยื่นขอจดทะเบียนธุรกิจที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว จะได้รับรหัสผ่านเข้าสู่ระบบกลาง (Biz Portal) เพื่อยื่นขอขึ้นทะเบียนนายจ้าง หรือยื่นข้อบังคับการทำงานได้ โดยกรอกแค่แบบฟอร์ม พร้อมแนบเอกสารหลักฐานทางออนไลน์ ไม่ต้องยื่นเอกสารที่ออกโดยภาครัฐซ้ำ โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพัฒนาระบบให้สามารถบูรณาการระหว่างหน่วยงานได้แบบเบ็ดเสร็จเหลือเพียง 1 ขั้นตอน พร้อมขยายผลเชื่อมโยงระบบด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขออนุญาตก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ขณะที่ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สินนั้น ปัจจุบันกรมที่ดินได้นำการจดทะเบียนด้วยคอมพิวเตอร์มาใช้ ทั้งการสืบค้นรูปแปลงที่ดิน การตรวจสอบภาระผูกพัน และการเชื่อมโยงกับเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักของเจ้าของที่ดิน โดยอนุญาตให้บุคคลที่มิใช่เจ้าของ อาทิ ส่วนราชการสามารถขอดูข้อมูลได้ พร้อมลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง เหลือ 0.01% แบบไม่จำกัดวงเงินราคาบ้าน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 - 28 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา

ส่วนด้านการได้รับสินเชื่อนั้น คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้พิจารณาเห็นชอบให้ เครดิตบูโร ให้บริการคะแนนเครดิต ซึ่งเครดิตบูโรได้เริ่มให้บริการคะแนนเครดิตแก่สถาบันการเงินสมาชิกแล้วนับตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นมา น่าสนใจว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการจัดเก็บข้อมูลผู้ให้บริการสาธารณูปโภคมิติต่างๆทั้งด้านความเป็นไปได้ ประโยชน์ที่จะได้รับ รวมถึงผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูล และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเข้าถึงแหล่งทุนได้ยากเพราะไม่มีหลักทรัพย์ที่จะนำมาเป็นหลักประกันให้กับสถาบันการเงิน ล่าสุดได้มีกฎหมายหลักประกันฯเพื่อให้เอสเอ็มอีนำทรัพย์สินมาใช้เป็นหลักประกันในการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ ทั้งกิจการ สิทธิเรียกร้องสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในประกอบธุรกิจ อาทิ เครื่องจักร สินค้าคงคลัง และวัตถุดิบที่ผลิตสินค้าทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น

ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อยนั้น กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอแก้ไขพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางกฎหมายในการคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย เช่น การลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิขอแต่งตั้งผู้ตรวจสอบเพื่อตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวกับธุรกรรมการซื้อขายของบริษัทจากร้อยละ 20 ให้เหลือร้อยละ 10 หรือการลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่จะเรียกประชุมวิสามัญให้เหลือร้อยละ 10 เป็นต้น

น่าสนใจอย่างยิ่งที่ขณะนี้สำนักงาน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมประกาศที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูล การดำรงตำแหน่งในกิจการหรือองค์กรอื่นของกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปและผู้ที่เกี่ยวข้อง

ด้านการชำระภาษี สำนักงานปลัดกระทรวงการคลังได้พัฒนา Tax One Stop Service เพื่อชำระภาษี ณ จุดเดียว สำหรับ 3 กรมภาษี ผ่านธนาคารที่ร่วมรายการ โดยกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต จะเริ่มใช้งานได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 นี้ ขณะที่ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม ได้รณรงค์ให้สถานประกอบการไปชำระเงินสมทบกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ผ่านระบบธนาคารหรือหน่วยบริการ ได้ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2559 รวมทั้งพัฒนาระบบการออกใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ตั้งเป้าภายในปี 2560 จะสามารถบูรณาการระบบชำระภาษี ณ จุดเดียว 3 กรมภาษีได้ ขณะที่กรมสรรพากรพัฒนาระบบเชื่อมโยงงบการเงินออนไลน์ โดยไม่ต้องแนบเอกสารประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ สำนักงาน ก.พ.ร.จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกในการขออนุญาตของทางราชการ ระหว่างจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมการจัดหางาน และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อขยายการนำร่องเปิดบริการออนไลน์ไปในส่วนภูมิภาคในจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญ และขยายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อลดขั้นตอนการขอเอกสารอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และนักลงทุนที่ติดต่อกับหน่วยงานราชการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,166 วันที่ 16 - 18 มิถุนายน พ.ศ. 2559