โพลล์ระบุการเลี้ยงดูของพ่อแม่/เพื่อนฝูง/สื่อออนไลน์ปัจจัยสำคัญก่อความรุนแรงของวัยรุ่น

14 มิ.ย. 2559 | 04:40 น.
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส ,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (ระดับอุดมศึกษา) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อปัญหาการก่อความรุนแรงในสังคมของกลุ่มวัยรุ่นไทยจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ซึ่งได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 ถึง 13 มิถุนายน พ.ศ. 2559 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,179 คน

ศ.ดร.ศรีศักดิ์ กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.64 และเพศชายร้อยละ 49.36 ขณะที่ร้อยละ 30.96 มีอายุเฉลี่ย 25 ถึง 34 ปี สามารถสรุปผลได้ดังนี้  สำหรับปัจจัยสำคัญสูงสุด 5 อันดับที่มีอิทธิพลนำไปสู่การก่อความรุนแรงในสังคมของกลุ่มวัยรุ่นคือ วิธีการดูแลเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครองคิดเป็นร้อยละ 81.59 พฤติกรรมการแสดงออกของเพื่อนฝูงคิดเป็นร้อยละ 78.63 การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่นำเสนอผ่านสื่อออนไลน์คิดเป็นร้อยละ 76.17 ความรู้สึกนึกคิด/ลักษณะนิสัยส่วนตัวคิดเป็นร้อยละ 74.05 และความชอบส่วนตัว เช่น เกม ภาพยนตร์ หนังสือคิดเป็นร้อยละ 71.33  และเมื่อเปรียบเทียบความรุนแรงของปัญหาการก่อความรุนแรงในสังคมของกลุ่มวัยรุ่นระหว่างปัจจุบันกับอดีตนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.11 ระบุว่าในปัจจุบันมีความรุนแรงกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.03 ระบุว่ามีความรุนแรงพอๆกัน มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 15.86 ระบุว่าในอดีตมีความรุนแรงกว่า

ในด้านความรู้สึกเมื่อทราบข่าวเกี่ยวกับการก่อความรุนแรงในสังคมของกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 24.43 รู้สึกเศร้าใจ/สลดใจเป็นอันดับแรกเมื่อได้ทราบข่าวการก่อความรุนแรงในสังคมของกลุ่มวัยรุ่น รองลงมารู้สึกกลัวคิดเป็นร้อยละ 21.97 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.5 ร้อยละ 10.77 และร้อยละ 8.99 รู้สึกเบื่อหน่าย รู้สึกสงสัยในข้อเท็จจริงและรู้สึกโกรธ/โมโหตามลำดับ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 3.82 ที่รู้สึกแปลกใจ ขณะเดียวกันมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 15.52 ที่รู้สึกเฉยๆ

ในด้านความคิดเห็นต่อการกำหนดบทลงโทษกับกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อความรุนแรงในสังคมจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น กลุ่มตัวอย่างถึงสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.06 มีความคิดเห็นว่าการกำหนดบทลงโทษให้กลุ่มวัยรุ่นที่ก่อความรุนแรงในสังคมจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายไปบำเพ็ญประโยชน์กับสังคมโดยไม่ต้องรับโทษอาญาอื่นไม่เพียงพอที่จะทำให้กลุ่มวัยรุ่นสำนึกผิดกับการกระทำ  ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.96 มีความคิดเห็นว่าการลงโทษทางอาญาสถานเบาเพื่อให้โอกาสสำนึกผิดและปรับปรุงตัวจะไม่มีส่วนทำให้กลุ่มวัยรุ่นที่ก่อความรุนแรงในสังคมจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเกิดความหลาบจำและไม่กระทำผิดอีกได้จริง  ในทางกลับกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.14 มีความคิดเห็นว่าการใช้บทลงโทษที่เด็ดขาดกับกลุ่มวัยรุ่นที่ก่อความรุนแรงในสังคมจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการก่อความรุนแรงในสังคมของกลุ่มวัยรุ่นไทยได้

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 54.28 มีความคิดเห็นว่าควรกำหนดบทลงโทษกับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลยให้บุตรหลานของตนไปก่อความรุนแรงในสังคมจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายด้วย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.35 ยอมรับว่าตนเองไม่มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีอย่างเป็นธรรมในกรณีที่กลุ่มวัยรุ่นซึ่งก่อความรุนแรงจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นบุตรหลานของผู้มีฐานะ/ชื่อเสียงทางสังคมหรือเป็นบุตรหลานของเจ้าหน้าที่/ข้าราชการเช่นเดียวกัน และกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 73.54 มีความคิดเห็นว่าการพิจารณากำหนดให้กลุ่มวัยรุ่นที่ก่อความรุนแรงในสังคมต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ไม่ถือเป็นการละเมิดการคุ้มครองต่อเด็ก-เยาวชน อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.61 มีความคิดเห็นว่าการจัดให้กลุ่มวัยรุ่นที่ก่อความรุนแรงในสังคมได้เรียนหนังสือ/ฝึกอาชีพระหว่างการรับโทษจะมีส่วนช่วยลดโอกาสการกลับไปก่อความรุนแรงอีกได้